ปลาหมึก เป็นอาหารทะเลยอดนิยมที่อุดมไปด้วยไขมันคอเลสเตอรอล โอเมก้า 3 วิตามินอี โปรตีน และแร่ธาตุต่าง ๆ จึงเชื่อว่าการบริโภคปลาหมึกอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น เพิ่มไขมันดี ลดความดัน สมานแผล แต่ปลาหมึกมีไขมันหลากชนิด หลายคนจึงตั้งข้อสงสัยว่า ปลาหมึกดีต่อสุขภาพจริงหรือ และการรับประทานปลาหมึกปริมาณมากอาจทำให้เสี่ยงมีไขมันในเลือดสูงไปด้วยหรือไม่
ปลาหมึกมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมนำมาบริโภค ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปลาหมึกกระดอง และปลาหมึกสาย โดยตัวอย่างสารอาหารที่ได้จากปลาหมึกกล้วยสดที่หนัก 85 กรัม ได้แก่ โปรตีน 13.2 กรัม ไขมันคอเลสเตอรอล 198 มิลลิกรัม ไขมันอิ่มตัว 0.3 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 0.09 กรัม และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 0.4 กรัม
แม้จะอุดมไปด้วยไขมัน แต่ปลาหมึกก็มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกาย ช่วยในการทำงานของกระดูก กล้ามเนื้อ และผิวหนัง และไขมันบางชนิดที่พบในปลาหมึกก็เป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีการค้นคว้าเกี่ยวกับปลาหมึกในแง่ของประโยชน์และผลกระทบต่อสุขภาพไว้ ดังนี้
ปลาหมึก เพิ่มไขมันดี ลดไขมันเลว
ภาวะไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงอาจเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด และนำไปสู่การเกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมาได้ ปลาหมึกเป็นอาหารที่มีไขมันหลายชนิดโดยเฉพาะไขมันคอเลสเตอรอล หลายคนจึงเกรงว่าการบริโภคปลาหมึกอาจเสี่ยงทำให้มีภาวะไขมันในเลือดสูงได้
แต่จากการวิจัยในอดีตที่ให้ผู้ชายซึ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ 18 คน บริโภคอาหารทะเลที่แตกต่างกัน 6 ชนิด คือ ปลาหมึกกล้วย ปู กุ้ง หอยนางรม หอยแมลงภู่ และหอยกาบ พบว่าปลาหมึกกล้วยและกุ้งมีไขมันคอเลสเตอรอลสูงกว่าอาหารชนิดอื่น ในขณะที่มีไขมันโอเมก้า 3 ต่ำกว่า และไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดของผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ปลาหมึกกล้วย หอยแมลงภู่ และหอยนางรมช่วยเพิ่มไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL) ให้แก่ร่างกาย ซึ่งไขมันชนิดนี้จะช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลส่วนเกินออกไปด้วย
ส่วนอีกงานวิจัยที่ศึกษาโดยให้หนูทดลองบริโภคสารสกัดจากปลาหมึกกล้วยเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า สารจากปลาหมึกกล้วยมีประสิทธิภาพในการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และลดไขมันคอเลสเตอรอลลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มหนูทดลองที่บริโภคสารดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคสารนี้ โดยสารสกัดจากปลาหมึกช่วยลดการดูดซึมกรดน้ำดีในลำไส้เล็กและยับยั้งการสร้างไขมันในตับด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ปลาหมึกอาจมีไขมันชนิดที่ดีที่ช่วยลดระดับไขมันไม่ดีในร่างกายได้ แต่ยังคงต้องศึกษากลไกในการลดระดับไขมันร่างกายจากการบริโภคปลาหมึกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำผลลัพธ์ไปประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้จริงในอนาคต ดังนั้น ขณะนี้ผู้บริโภคควรรับประทานปลาหมึกในปริมาณพอเหมาะ เพราะหากบริโภคปริมาณมากอาจเสี่ยงมีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป เพราะในปลาหมึกมีไขมันอิ่มตัวและไขมันชนิดอื่น ๆ อยู่ด้วยเช่นกัน
ปลาหมึก ลดความดันโลหิต
ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติตลอดเวลา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมา เช่น โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งภาวะนี้มักเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังและไม่สามารถรักษาให้หายขาดไปได้ ดังนั้น จึงมีงานค้นคว้ามากมายที่พยายามหาแนวทางรักษาภาวะความดันโลหิตสูง
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เชื่อว่าอาจช่วยรักษาความดันโลหิตสูงได้ จึงมีการทดลองที่ใช้อาหารชนิดต่าง ๆ เพื่อหาประสิทธิผลในการลดระดับความดันโลหิต ปลาหมึกก็เป็น 1 ในอาหารที่ถูกนำมาทดลองด้วยเช่นกัน โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่ให้หนูทดลองรับประทานโปรตีนที่มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ ACE ซึ่งสกัดได้จากส่วนกล้ามเนื้อของปลาหมึกกระดอง พบว่าสารดังกล่าวช่วยลดระดับความดันซิสโตลิกหรือความดันขณะหัวใจบีบตัวลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยผลลัพธ์นี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการรักษาภาวะความดันโลหิตสูง และป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากความดันโลหิตสูงได้ในอนาคต
แม้จะปรากฏประสิทธิผลของการบริโภคปลาหมึกต่อการลดระดับความดันโลหิต แต่มีเพียงระดับความดันซิสโตลิกที่ลดลง อีกทั้งยังเป็นงานวิจัยขนาดเล็กที่ทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงควรค้นคว้าทดลองในมนุษย์และขยายกลุ่มทดลองให้มีขนาดใหญ่ เพื่อยืนยันประสิทธิผลจากการบริโภคปลาหมึกให้ชัดเจนต่อไป
ปลาหมึก ช่วยสมานแผล
ร่างกายมีกระบวนการฟื้นฟูตนเองและสมานแผลให้หายดีหลังมีแผลบาดเจ็บ โดยเส้นใยคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งมีส่วนในการสมานแผลให้ขึ้นมาทดแทนบริเวณเดิม เนื่องจากปลาหมึกเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง จึงมีการศึกษาประสิทธิภาพของโปรตีนคอลลาเจนที่ได้จากผิวหนังชั้นนอกของปลาหมึกกล้วยไดมอนด์ พบว่าคอลลาเจนที่ได้จากปลาหมึกชนิดนี้เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสภาพผิวหนังและกระดูกของวัว
เช่นเดียวกับอีกหนึ่งงานวิจัยที่ค้นคว้าคุณสมบัติของเจลคอลลาเจนที่ได้จากผิวหนังชั้นนอกของปลาหมึกกระดองในห้องปฏิบัติการ พบว่าหลังจากทาสารชนิดนี้ แผลติดกันเร็วขึ้น ซึ่งอาจพัฒนาสารดังกล่าวไปเป็นยาสมานแผลได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าข้างต้นเป็นเพียงการทดลองในสัตว์หรือศึกษาผ่านการส่องกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น จึงไม่อาจสรุปประสิทธิผลของสารสกัดจากปลาหมึกต่อการสมานแผลได้อย่างแน่ชัดในขณะนี้ และควรศึกษาทดลองให้ชัดเจนในมนุษย์ต่อไป ทั้งในด้านประสิทธิผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยจากการใช้หรือการบริโภคปลาหมึกและผลิตภัณฑ์จากปลาหมึก ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีแผลบาดเจ็บควรรักษาแผลด้วยวิธีที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสมานแผลชนิดใด ๆ โดยปราศจากคำแนะนำของแพทย์
ความปลอดภัยในการบริโภคปลาหมึก
แม้ปลาหมึกมีสารโภชนาการที่เป็นประโยชน์และอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในบางด้าน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดปริมาณที่แนะนำในการรับประทานปลาหมึกที่ชัดเจน ผู้บริโภคจึงควรรับประทานปลาหมึกที่สด สะอาด และปรุงสุกในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ แม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ก็เคยมีรายงานว่ามีผู้แสดงอาการแพ้หลังสัมผัสปลาหมึกกล้วย เช่น หอบหืด เยื่อจมูกอักเสบ เยื่อตาอักเสบ ลมพิษ และผื่นแพ้สัมผัส ดังนั้น ผู้ป่วยภูมิแพ้หรือผู้ที่ไวต่อการแพ้ควรระมัดระวังเป็นพิเศษก่อนสัมผัสหรือบริโภคปลาหมึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่แพ้อาหารทะเลก็มีแนวโน้มจะแพ้ปลาหมึกด้วยเช่นกัน จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าแพ้ปลาหมึกหรือไม่ก่อนจะรับประทานปลาหมึก ส่วนผู้ที่กำลังมีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคปลาหมึกเสมอ เพราะอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงหรือมีอาการรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม หากรับประทานปลาหมึกแล้วปรากฏอาการแพ้ดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที
- เกิดลมพิษ รู้สึกคัน หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
- คัดจมูก หายใจเสียงดังวี้ด หรือหายใจลำบาก
- มีอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ ริมฝีปาก ลิ้น หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น หู ฝ่ามือ นิ้วมือ
- ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกมึนงง วิงเวียน บ้านหมุน หรือคล้ายจะเป็นลม
- คอบวมหรือมีก้อนในลำคอ ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลงและหายใจลำบาก
- ชีพจรเต้นเร็ว
- วิงเวียนศีรษะอย่างมาก หรือหมดสติ