ปวดขมับทั้งสองข้าง สาเหตุและวิธีรักษา

ปวดขมับทั้งสองข้างมักทำให้รู้สึกปวดตื้อ หรือปวดตุบ ๆ คล้ายเส้นเลือดบีบตัวบริเวณขมับ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียดในชีวิตประจำวัน การพักผ่อนไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ไปจนถึงโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้รู้สึกปวดขมับทั้งสองข้าง 

โดยทั่วไป อาการปวดขมับทั้งสองข้างมักดีขึ้นหลังจากพักผ่อน หลีกเลี่ยงความเครียดและปัจจัยกระตุ้นอาการปวดหัว และการใช้ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง อย่างไรก็ตาม อาการปวดขมับทั้งสองข้างที่เกิดจากโรคบางอย่างอาจรุนแรง ซึ่งไม่สามารถบรรเทาอาการได้เองและต้องได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์

ปวดขมับทั้งสองข้าง

สาเหตุของอาการปวดขมับทั้งสองข้าง

อาการปวดขมับทั้งสองข้างอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

ปวดหัวจากความเครียด (Tension Headache)

ปวดหัวจากความเครียดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดขมับทั้งสองข้างบ่อยที่สุด ซึ่งจะทำให้รู้สึกปวดตื้อคล้ายโดนบีบรัดบริเวณศีรษะและอาจปวดลามไปยังต้นคอ อาการปวดอาจเกิดขึ้นนาน 30 นาทีไปจนถึงหลายวันแล้วหายไป หรือบางคนอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งเรียกว่าอาการปวดหัวเรื้อรัง

อาการปวดหัวจากความเครียดเกิดจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณท้ายทอยหรือบริเวณศีรษะเกิดการเกร็งตัว โดยมีปัจจัยกระตุ้นอาการปวด เช่น ความเครียด วิตกกังวล ความเหนื่อยล้าจากการเรียนหรือทำงานหนัก การพักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนกัดฟัน และการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา

ไมเกรน (Migraine)

ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวที่มักทำให้รู้สึกปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะ ส่วนมากจะมีอาการปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งแต่ก็อาจปวดขมับทั้งสองข้างได้เช่นกัน และอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสงจ้า  เสียงดัง หรือกลิ่นฉุน เห็นแสงวูบวาบ ซึ่งอาจมีอาการปวดไมเกรนเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรืออาจปวดต่อเนื่องถึง 72 ชั่วโมง

สาเหตุของอาการปวดไมเกรนอาจเกิดจาก

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนไม่พอ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
  • สภาพแวดล้อม เช่น สภาพอากาศ การอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง หรือมีอากาศไม่ถ่ายเท
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาคุมกำเนิด ยาฮอร์โมนทดแทน

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) 

ไซนัสอักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัสแบคทีเรีย ทำให้เยื่อบุบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกเกิดการอักเสบบวม ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดขมับทั้งสองข้าง ปวดกระบอกตา ปวดแก้ม และปวดบริเวณฟันบน โดยอาจปวดมากขึ้นเมื่อโน้มตัวไปข้างหน้า และอาจมีอาการอื่น เช่น คัดจมูก ไอ มีไข้ อ่อนเพลีย และน้ำมูกไหล

โรคหูชั้นกลางอักเสบ

โรคหูชั้นกลางอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อ และทำให้เกิดของเหลวสะสมภายในหู เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหู มีของเหลวไหลออกมาจากหู ปวดขมับทั้งสองข้างหรือเฉพาะข้างใดข้างหนึ่ง มีไข้ นอนหลับยาก และเด็กจะมีอาการร้องไห้งอแง

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

เยื่อหุ้มสมองอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบริเวณเยื่อหุ้มรอบสมองและไขสันหลัง หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ มะเร็ง และการใช้ยาบางชนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดขมับทั้งสองข้าง คอแข็งเกร็ง มีไข้ คลื่นไส้ ตาไม่สู้แสง และสับสน

โรคหลอดเลือดขมับอักเสบ (Temporal Arteritis)

โรคหลอดเลือดขมับอักเสบเกิดจากการบวมของหลอดเลือดแดงที่ขมับ ซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงดวงตาและสมองได้ลดลง ทำให้มีอาการปวดตุบ ๆ ที่ขมับข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ปวดกรามโดยเฉพาะขณะรับประทานอาหาร เจ็บหนังศีรษะ มีไข้ น้ำหนักตัวลดลง และหากอาการรุนแรงมาก อาจทำให้หลอดเลือดอุดตัน และทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

การล้มหัวฟาดพื้น ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือถูกของแข็งกระแทกที่หัวอย่างรุนแรงเป็นสาเหตุให้สมองได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดตื้อหรือปวดบีบที่ขมับทั้งสองข้าง ปวดรอบศีรษะและท้ายทอย และอาจมีอาการมึนงง สับสน ง่วงซึม และมีเลือดออกบริเวณศีรษะ

เนื้องอก

แม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่อาการปวดขมับทั้งสองข้างอาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง ซึ่งเกิดจากการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติในสมองกลายเป็นก้อนเนื้อ โดยอาจเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือมะเร็งก็ได้ ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อเนื้องอกโตขึ้นและกดทับเส้นประสาทและหลอดเลือด อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น

  • ปวดหัวบ่อยและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีปัญหาการทรงตัว และการพูด
  • การมองเห็นแย่ลง เห็นภาพเบลอหรือภาพซ้อน
  • อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป
  • มีอาการชัก โดยที่ไม่เคยมีประวัติมาก่อน

แนวทางการรักษาเมื่อปวดขมับทั้งสองข้าง

เนื่องจากอาการปวดขมับทั้งสองข้างเกิดได้จากหลายสาเหตุ วิธีรักษาจึงแตกต่างกันไปตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ดังนี้

การดูแลตัวเอง

หากอาการปวดขมับทั้งสองข้างไม่รุนแรงมาก สามารถดูแลอาการในเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง เช่น

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเครียด และทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น จัดตารางเวลาในการทำงานให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการทำงานนอกเวลางาน ฟังเพลงสบาย ๆ ชมภาพยนตร์ที่ชอบ เล่นโยคะ และนั่งสมาธิ
  • นวดเบา ๆ บริเวณหน้าผาก ขมับทั้งสองข้าง และต้นคอ จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ดื่มชาสมุนไพร เช่น ชาขิง ชาคาโมมายล์https://www.pobpad.com/คาโมมายล์-สมุนไพรที่ช่ว และชาเปปเปอร์มิ้นท์ ซึ่งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวดไมเกรน และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • อาบน้ำอุ่นหรือประคบร้อนบริเวณที่ปวดด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น จะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ตึงตัว และช่วยบรรเทาอาการปวดหัวจากความเครียดได้
  • ประคบเย็นด้วยผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง หรือเจลเย็นสำเร็จรูป จะช่วยลดอาการปวดไมเกรนได้

การใช้ยา

อาการปวดขมับทั้งสองข้างสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) อย่างไอบูโพรเฟน โดยรับประทานตามปริมาณและระยะเวลาที่ระบุบนฉลากยาหรือตามที่เภสัชกรแนะนำ ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดบ่อยหรือรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เพราะการใช้ยามากเกินอาจทำให้ปวดหัวรุนแรงขึ้น

กรณีที่ปวดไมเกรน สามารถรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง หากมีอาการรุนแรง อาจต้องใช้ยาที่ช่วยรักษาอาการปวดไมเกรนโดยเฉพาะ เช่น เออร์โกทามีน (Ergotamine) และยากลุ่มทริปแทน (Triptans) หรือยากลุ่มอื่น ๆ เช่น ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) ซึ่งควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่น ๆ ตามสาเหตุของโรค เช่น ยาพ่นจมูกและยาหยอดหูสำหรับผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบและหูอักเสบ และยาสเตียรอยด์สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดขมับอักเสบ 

การรักษาโดยแพทย์

อาการปวดขมับทั้งสองข้างที่เกิดจากโรครุนแรงหรือภาวะฉุกเฉิน เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกและมะเร็งสมอง รวมทั้งการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ควรได้รับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหากปล่อยไว้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตได้ ซึ่งการรักษาอาจได้แก่ การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เคมีบำบัด การฉายแสง และการผ่าตัด

หากมีอาการปวดขมับทั้งสองข้างอย่างรุนแรง ปวดถี่ ศีรษะได้รับแรงกระทบกระเทือน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ คอแข็งเกร็ง แขนขาอ่อนแรง เสียการทรงตัว การพูดและเคี้ยวอาหารผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา