ปวดคอบ่าไหล่เป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหลายรูปแบบ เช่น ปวดแปลบ ปวดตึงและแข็งเกร็ง ปวดเหมือนถูกเข็มทิ่ม โดยอาจทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรังขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยทั่วไป อาการปวดคอบ่าไหล่มักเกิดจากการเกร็งบริเวณดังกล่าวจากทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่บางกรณีอาจเกิดจากการบาดเจ็บและโรคที่ควรได้รับการรักษา
บริเวณคอ บ่า และหัวไหล่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก และเส้นประสาทมากมายที่เชื่อมต่อกัน หากได้รับการกระทบกระเทือนจะทำให้เกิดอาการปวดคอลามไปยังบ่าและไหล่ได้ง่าย โดยอาจทำให้เกิดอาการปวดเล็กน้อยไปจนถึงปวดรุนแรง กรณีที่มีอาการปวดไม่มาก อาการมักดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเอง แต่กรณีที่อาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม
สาเหตุของอาการปวดคอบ่าไหล่
อาการปวดคอบ่าไหล่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
การใช้งานกล้ามเนื้อคอบ่าไหล่มากเกินไป
การนั่ง การนอน และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดคอบ่าไหล่ได้ เช่น
- นั่งในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ห่อไหล่ การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือเกร็งคอค้างอยู่ท่าเดิมขณะนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือคุยโทรศัพท์เป็นเวลานาน
- การนอนหมอนสูงเกินไป หรือนอนแล้วหันคอผิดท่า
- การนอนกัดฟัน
- การยกของหนัก
การบาดเจ็บต้นคอเฉียบพลัน (Whiplash)
อาการบาดเจ็บบริเวณต้นคออย่างฉับพลันมักเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชนท้ายหรือได้รับแรงกระแทกที่ศีรษะอย่างแรง ทำให้ต้นคอและศีรษะสะบัดไปด้านหน้าและหลังอย่างรวดเร็ว จึงเกิดอาการปวดตึงที่คอ บ่า และไหล่ ปวดศีรษะ มึนงง ปวดหลังส่วนล่าง และอาจรู้สึกชาบริเวณมือและแขน
เอ็นไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear)
กลุ่มเส้นเอ็นบริเวณข้อไหล่ประกอบด้วยเอ็น 4 เส้นที่พยุงและควบคุมการเคลื่อนไหวของหัวไหล่ให้มั่นคง หากเอ็นบริเวณนี้เสื่อมสภาพจากการใช้งานหนัก หรือฉีกขาดหลังได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและการเล่นกีฬา จะทำให้เกิดอาการปวดบริเวณหัวไหล่และต้นแขน โดยเฉพาะเวลานอนตะแคงทับด้านที่มีอาการ และเกิดอาการอ่อนแรง ไม่สามารถหมุนหัวไหล่หรือยกแขนขึ้นได้
กระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis)
กระดูกคอเสื่อมมักพบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลังส่วนคอตามวัย หลายคนอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่กรณีที่เกิดอาการ อาจรู้สึกปวดคอบ่าไหล่ คอแข็งเกร็ง ทำให้ขยับคอได้ยาก เกิดอาการชาและอ่อนแรงที่ไหล่ แขน และมือ และอาจเสียการทรงตัว
โรครากประสาทคอ (Cervical Radiculopathy)
โรครากประสาทคอเป็นภาวะที่รากเส้นประสาทบริเวณต้นคอเกิดการกดทับ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อมและสูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงเมื่ออายุมากขึ้น หรือเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ ทำให้เกิดอาการปวดต้นคอ นิ้วมือและมือชาหรือรู้สึกเหมือนถูกเข็มทิ่ม และกล้ามเนื้อไหล่ แขน และมือมีอาการอ่อนแรง
การอักเสบบริเวณไหล่
การอักเสบของบริเวณไหล่อาการทำให้เกิดอาการปวดคอบ่าไหล่ได้ เช่น
- เอ็นอักเสบ (Tendinitis) อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับบาดเจ็บบริเวณเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูกอย่างฉับพลัน หรือเกิดจากการเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อไหล่ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน พบบ่อยในนักกีฬา ทำให้ปวดตื้อบริเวณไหล่ เคลื่อนไหวไหล่และแขนลำบาก มีอาการบวมช้ำ
- ถุงของเหลวหล่อลื่นบริเวณข้อต่อไหล่อักเสบ (Shoulder Bursitis) อาจเกิดจากการบาดเจ็บที่ไหล่ การใช้งานไหล่ในท่าทางซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน หรือโรคบางอย่าง ทำให้ถุงของเหลวที่ช่วยรองรับและหล่อลื่นเอ็น กระดูกและกล้ามเนื้อไหล่เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดตึงและบวมที่ไหล่ และอาจมีอาการลามไปที่คอด้วย
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc)
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น หรือได้รับบาดเจ็บจากการใช้งานหนักหรือประสบอุบัติเหตุ ทำให้ส่วนนอกของหมอนรองกระดูกแตกออก กระดูกอ่อนที่อยู่ด้านในจึงโผล่ออกมาและกดทับเส้นประสาท หากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณคอ จะทำให้ปวดคอบ่าไหล่ในลักษณะปวดร้าว ชา เจ็บคล้ายเข็มทิ่ม และรู้สึกแสบร้อน
กระดูกหัก
อาการปวดคอบ่าไหล่อาจเกิดจากกระดูกไหปลาร้า และกระดูกสะบักหัก มักเกิดจากการประสบอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดแรงกระแทกอย่างแรงบริเวณไหปลาร้าหรือสะบัก ทำให้เกิดอาการปวดและบวมที่หัวไหล่และบริเวณใกล้เคียงอย่างรุนแรงจนไม่สามารถขยับแขนได้ และอาจทำให้กระดูกบริเวณดังกล่าวผิดรูป
โรคอื่น ๆ
นอกจากสาเหตุเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูกที่กล่าวไปข้างต้น อาการปวดคอบ่าไหล่อาจเป็นสัญญาณบอกโรคบางอย่างได้ เช่น
- โรคหัวใจ เช่น ภาวะเจ็บหน้าอกคงที่ (Stable Angina) เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) และหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกและลามไปยังบริเวณใหล้เคียง เช่น คอ บ่า ไหล่ และหลัง หรืออาจเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย มีไข้ หายใจลำบาก
- เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritis) ทำให้เกิดอาการเจ็บแปลบที่หน้าอกและอาจลามไปยังคอและไหล่ โดยเฉพาะเวลาไอหรือหายใจเข้าลึก ๆ
- นิ่วในถุงน้ำดี หากก้อนนิ่วติดค้างอยู่ที่ปากทางออกของถุงน้ำดีอาจทำให้รู้สึกปวดหลังบริเวณระหว่างไหล่และสะบัก
- มะเร็ง เช่น มะเร็งที่ศีรษะ คอ และปอด อาจทำให้เกิดอาการปวดคอบ่าไหล่ได้เช่นกัน
บรรเทาอาการปวดคอบ่าไหล่ด้วยตัวเอง
วิธีการรักษาอาการปวดคอบ่าไหล่จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ แต่โดยส่วนมากมักเกิดอาการปวดเมื่อยจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือการได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ซึ่งในเบื้องต้นสามารถดูแลอาการด้วยตัวเอง ดังนี้
- พักการใช้งานคอบ่าไหล่ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจกระตุ้นให้อาการปวดรุนแรงขึ้น เช่น ยกของหนัก หรือเล่นกีฬาปวดจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- ประคบเย็นและร้อน ในช่วง 2–3 วันหลังเกิดอาการปวดให้ประคบเย็นด้วยเจลเย็นสำหร็จรูปหรือผ้าห่อน้ำแข็ง ครั้งละ 20 นาที วันละ 2–3 ครั้ง ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด บวม ฟกช้ำ หลังจากนั้นให้ประคบร้อนหรือแช่บริเวณที่ปวดในน้ำอุ่น ซึ่งจะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ตึง และช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
- รับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน โดยใช้ตามคำแนะนำของเภสัชกรและตามปริมาณที่ระบุบนฉลากยา
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณคอบ่าไหล่ เช่น ก้มหน้าลงหรือเอียงคอไปด้านซ้ายและขวาจนรู้สึกตึง ค้างไว้สักครู่ และค่อย ๆ ยกศีรษะกลับมาตำแหน่งเดิม หรือยืดแขนข้างซ้ายไปทางฝั่งขวาให้ตึง และใช้แขนขวาพับขึ้นมาเพื่อล็อกแขนข้างซ้ายไว้คล้ายเครื่องหมายบวก ค้างไว้สักครู่และสลับทำอีกข้างตามขั้นตอนเดิม
- ปรับท่าทางการนั่ง นั่งหลังตรง ไม่ห่อไหล่ จัดเก้าอี้และโต๊ะทำงานให้เหมาะสม วางคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับระดับสายตา เพื่อที่จะไม่ต้องก้มหรือเงยคอขณะทำงาน และเลือกหมอนและที่นอนที่เหมาะสมกับสรีระ ป้องกันการปวดคอบ่าไหล่ขณะนอนหลับ
อาการปวดคอบ่าไหล่ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ
แม้อาการปวดคอบ่าไหล่อาจดีขึ้นหลังจากการดูแลตัวเอง แต่ควรสังเกตอาการของตัวเอง หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ที่แฝงอยู่
- เกิดอาการปวดเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาการปวดไม่ดีขึ้นหลังดูแลตัวเอง
- ปวดรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถขยับคอ ไหล่ แขน เพื่อทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือปวดจนไม่สามารถนอนหลับได้
- เกิดความผิดปกติอื่นบริเวณคอบ่าไหล่ เช่น ชา คอและแขนอ่อนแรงหรือผิดรูป สีผิวเปลี่ยนแปลงไป
- เกิดอาการอื่นร่วมกับอาการปวดคอบ่าไหล่ เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะรุนแรง มีไข้ เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ และหายใจลำบาก
อาการปวดคอบ่าไหล่เป็นอาการที่พบได้บ่อย มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวในท่าเดิมเป็นเวลานาน หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การได้รับบาดเจ็บ และโรคบางอย่าง ซึ่งโดยทั่วไป อาการปวดคอบ่าไหล่ที่อาการไม่รุนแรงมักดีขึ้นได้เอง แต่กรณีที่อาการเรื้อรังหรือรุนแรง เช่น กระดูกหัก อาจต้องเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมโดยแพทย์ เช่น กายภาพบำบัดและการผ่าตัด