ปวดคอเป็นอาการที่ใครหลายคนอาจเคยประสบพบเจอกันมาบ้างแล้ว โดยอาการนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แม้ในบางครั้งผู้ที่ปวดคออาจต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ แต่หากอาการปวดไม่รุนแรงมากนัก อาจรักษาหรือบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองโดยทำตามวิธีที่ไม่ยาก วิธีที่ว่านั้นเป็นอย่างไร ศึกษาได้จากบทความนี้
อาการปวดคอเป็นอย่างไร ?
ผู้ที่มีอาการปวดคออาจรู้สึกปวดหรือไม่สบายบริเวณคอ กล้ามเนื้อคอหดเกร็งหรือแข็งตึงเมื่อสัมผัสโดน อาจรู้สึกปวดคอมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่าเดิมนาน ๆ และอาจเคลื่อนไหวส่วนหัวได้น้อยลง รวมทั้งอาจปวดหัวข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
ปวดคอเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดคอเกิดจากการทำกิจวัตรประจำวันของคนเรา เช่น นั่ง นอน อยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม อ่านหนังสือบนเตียง นั่งทำงานที่โต๊ะเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนท่า ใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน สะบัดคออย่างรุนแรงเกินไป หรือนอนกัดฟันจนอาจทำให้กล้ามเนื้อคอแข็งหรือตึง เป็นต้น
นอกจากนี้ อาการปวดคอยังอาจเกิดจากโรคหรือภาวะสุขภาพอย่างโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกสันหลังคด โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคไฟโบรมัยอัลเจีย กระดูกสันหลังบริเวณคอเสื่อม หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุที่มีอาการบาดเจ็บที่คอจากการสะบัดคอ อย่างอุบัติเหตุทางรถยนต์ การหกล้ม หรือการเล่นกีฬาที่ทำให้กระดูกคอหรือเส้นเอ็นคอเคลื่อนออกไปจากตำแหน่งปกติ รวมถึงอาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อยด้วย เช่น ภาวะพิการแต่กำเนิด การติดเชื้อ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การเกิดฝีหรือเนื้องอก และโรคมะเร็งไขสันหลัง เป็นต้น
วิธีบรรเทาอาการปวดคอง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง
หากอาการปวดคอไม่ได้เกิดจากการเจ็บป่วยหรือภาวะสุขภาพที่ร้ายแรง และมีอาการปวดที่ไม่รุนแรงนัก อาจรักษาบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ประคบเย็นหรือประคบร้อนเพื่อลดการอักเสบ โดยอาจใช้น้ำแข็งห่อด้วยผ้าขนหนูและประคบเย็นบริเวณที่ปวดในช่วง 2-3 วันแรก จากนั้นอาจเปลี่ยนมาประคบด้วยถุงประคบร้อนหรืออาบน้ำอุ่นแทน ทั้งนี้ ไม่ควรนอนหลับในขณะที่มีถุงประคบเย็นหรือถุงประคบร้อนวางอยู่บนตัว เพราะอาจทำให้ผิวหนังได้รับความเสียหายได้
- นั่ง นอน หรือวางตัวในท่าทางที่เหมาะสม เปลี่ยนท่าบ่อย ๆ โดยไม่ควรยืนหรือนั่งในท่าเดิมนาน ๆ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการหนีบโทรศัพท์มือถือไว้ด้วยคอและไหล่ขณะใช้สาย
- นอนหนุนหมอนบนฟูกที่แข็งแรง และอาจใช้หมอนรองคอขณะที่นอนด้วยก็ได้
- นวดบริเวณที่มีอาการปวดเบา ๆ
- แม้กำลังมีอาการปวดคอ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนอนอยู่เฉย ๆ โดยควรหยุดพักจากการยกของ การออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหนักแทน เพราะอาจทำให้อาการปวดแย่ลง และเมื่ออาการปวดเริ่มดีขึ้นจึงค่อย ๆ กลับมาทำกิจกรรมเหล่านั้นตามเดิม
- รับประทานยาแก้ปวด อย่างยาพาราเซตามอล หรือยาในกลุ่มเอ็นเสดอย่างยาไอบูโพรเฟนหรือยานาพรอกเซน
- เมื่ออาการปวดที่รุนแรงหายไป ให้ออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อ โดยหมุนคอและไหล่เบา ๆ และค่อย ๆ เอียงหรือหมุนคออย่างช้า ๆ ทั้งนี้ ควรประคบร้อนหรืออาบน้ำร้อนเพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่คอก่อนออกกำลังกายด้วย และอาจขอคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเกี่ยวกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดคออาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยเฝือกอ่อนพยุงคอ โดยอาจช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบายบริเวณคอ อย่างไรก็ตาม หากใส่ไว้เป็นเวลานานเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคออ่อนแอ ดังนั้น ในระหว่างที่ใส่อุปกรณ์ชนิดนี้ควรถอดออกเป็นช่วง ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อคอได้เกร็งตัวเพิ่มความแข็งแรง แต่ห้ามใช้เฝือกอ่อนพยุงคอด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
อาการปวดคอแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์ ?
อาการปวดคอส่วนใหญ่อาจรักษาให้หายได้ด้วยการดูแลตนเอง แต่หากมีอาการต่อไปนี้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม
- ปวดคออย่างรุนแรง หรือปวดคอโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อาการปวดไม่ทุเลาลงแม้จะผ่านไปหลายวัน
- อาการปวดลามไปยังบริเวณแขนหรือขา หรือเคลื่อนไหวมือและแขนไม่ได้
- ก้มคอเอาคางแตะหน้าอกไม่ได้
- กลืนหรือหายใจลำบาก
- มีก้อนเนื้ออยู่ที่ลำคอ หรือต่อมน้ำเหลืองโต
- มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย รู้สึกชา หรือเสียวแปลบในบริเวณที่มีอาการปวด เป็นต้น
นอกจากนี้ หากเป็นอาการปวดคอที่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ การดำน้ำ หรือการหกล้ม ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน และแม้อาการนี้จะเกิดขึ้นได้ทั่วไปและอาจไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรเพิกเฉยหรือวางใจเมื่ออาการปวดคอเกิดขึ้นอย่างรุนแรงหรือเรื้อรัง เพราะบางครั้งอาการนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคอันตรายได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปวดคอจึงควรสังเกตอาการหรือความรุนแรงที่เผชิญอยู่ และเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์หากพบสัญญาณที่สำคัญดังข้างต้น