ปวดท้องข้างซ้าย น่าจะเป็นหนึ่งในอาการเคยเกิดขึ้นกับหลาย ๆ คน โดยแม้จะฟังดูเป็นอาการปวดท้องปกติทั่วไป แต่ผู้ที่มีอาการนี้ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้ รวมถึงควรหมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้นร่วมด้วยเสมอ เนื่องจากในบางครั้ง อาการปวดท้องข้างซ้ายก็อาจเป็นสัญญาณผิดปกติของโรคร้ายแรงบางชนิดได้
ท้องข้างซ้ายเป็นบริเวณที่รวมอวัยวะสำคัญไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นม้าม ไต ตับอ่อน กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ สาเหตุของอาการปวดท้องข้างซ้ายจึงอาจเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น กรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน ตับอ่อนอักเสบ ม้ามโต และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยบางสาเหตุอาจเป็นสาเหตุที่ไม่รุนแรง แต่บางสาเหตุก็ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ทันที
สาเหตุของอาการปวดท้องข้างซ้าย
อาการปวดท้องข้างซ้ายสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณท้องส่วนบนและท้องส่วนล่าง โดยอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละคน เช่น
ปวดท้องข้างซ้ายส่วนบน
สาเหตุของปวดท้องข้างซ้ายส่วนบน มีตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. หัวใจขาดเลือด
หัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการแน่น เจ็บหน้าอกหรือแขนคล้ายถูกบีบ และอาการนั้นอาจลามไปยังกราม แผ่นหลังหรือคอได้ด้วย
นอกจากนี้ ภาวะนี้ยังส่งผลให้รู้สึกเมื่อยล้า เวียนศีรษะฉับพลัน คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง หายใจไม่อิ่ม และเหงื่อออกขณะที่ร่างกายเย็น หากสงสัยว่าตนเองป่วยเป็นหัวใจขาดเลือดควรโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที
2. โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
โรคเยื่อบุหุ้มหัวใจอักเสบเกิดจากการอักเสบและบวมของเยื่อหุ้มที่ล้อมรอบหัวใจ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บแปลบที่หน้าอกช่วงกลางหรือข้างซ้าย โดยเฉพาะเมื่อหายใจเข้า รู้สึกเหนื่อย อ่อนแรง ไอ ท้องหรือขาบวมผิดปกติ หายใจไม่อิ่มขณะนอนหรือเอนกาย ใจสั่น และมีไข้ต่ำ ๆ
3. กรดไหลย้อน
เมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารอาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณดังกล่าว ผู้ป่วยอาจรู้สึกแสบร้อนกลางอก สำรอกกรดออกมา เสียงแหบ เจ็บหน้าอก จุกแน่นในลำคอ ไอ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น อีกทั้งยังประสบปัญหาในการกลืนอาหารด้วย
4. โรคลำไส้แปรปรวน
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นภาวะที่ลำไส้ทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้องหรือปวดเกร็งหน้าท้องโดยอาการจะดีขึ้นหลังถ่ายอุจจาระ อาจมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก อุจจาระมีเมือกใสหรือสีขาวปนออกมาแต่ไม่มีเลือดปน เรอ มีแก๊สในท้อง หรืออุจจาระไม่สุด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการและระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป
5. อาหารไม่ย่อย
กระเพาะอาหารจะผลิตกรดออกมาเมื่อรับประทานอาหาร ซึ่งกรดนั้นอาจทำให้หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เกิดการระคายเคือง ส่งผลให้อาหารไม่ย่อยหรือมีอาการปวดท้องส่วนบน แสบร้อนกลางอก รู้สึกอิ่ม ท้องอืด เรอ ผายลม หรือคลื่นไส้หลังรับประทานอาหาร
6. ตับอ่อนอักเสบ
ตับอ่อนอักเสบเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง หากเป็นอาการเฉียบพลันอาจทำให้มีอาการปวดท้องลามไปยังหลัง อาการปวดท้องแย่ลงหลังรับประทานอาหาร มีอาการกดแล้วเจ็บเมื่อสัมผัสหน้าท้อง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือชีพจรเต้นเร็ว
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการแบบเรื้อรังอาจจะปวดท้องส่วนบน น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ อุจจาระมีกลิ่นเหม็นหรือมีไขมันมาก
7. ม้ามโต
ส่วนใหญ่ม้ามโตมักเกิดจากการติดเชื้อ และอาจเกิดจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับตับอย่างตับแข็งหรือโรคซิสติก ไฟโบรซิส ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มแม้รับประทานอาหารเพียงเล็กน้อย ปวดหลังข้างซ้าย มีอาการปวดหลังที่ลามไปยังหัวไหล่ ติดเชื้อได้มากขึ้น หายใจไม่อิ่ม หรือเหนื่อยล้า
8. สาเหตุอื่น ๆ
ปวดท้องข้างซ้ายยังอาจเกิดได้จากปัญหาเกี่ยวกับปอดอย่างปอดบวม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ และโรคปอดแฟบหรือมีลมรั่วออกจากปอด ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกอย่างกระดูกอ่อนบริเวณหน้าอกอักเสบ หรือซี่โครงหัก รวมถึงภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบและไส้ติ่งอักเสบแต่มักพบได้น้อยมาก
ปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่าง
สาเหตุของปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่าง มีตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)
เมื่อแรงดันภายในลำไส้ใหญ่ก่อให้เกิดกระเปาะขนาดเล็กขึ้นที่ผนังลำไส้ หากกระเปาะเกิดการฉีกขาด บวม หรือติดเชื้อก็อาจส่งผลให้ถุงผนังลำไส้อักเสบได้ โรคนี้พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งอาจทำให้มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการกดแล้วเจ็บเมื่อสัมผัสหน้าท้อง ท้องผูก และท้องเสีย
2. แก๊ส
แก๊สมักพบได้ในกระเพาะอาหารไปจนถึงทวารหนัก ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการกลืนอาหารและย่อยอาหาร โดยจะถูกขับออกมาผ่านการเรอและผายลม แต่แก๊สอาจยังคงอยู่และส่งผลให้มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ เช่น อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ แสบร้อนกลางอก อุจจาระปนเลือด
3. โรคไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนเป็นภาวะที่ชั้นไขมันหรือบางส่วนของลำไส้เล็กเคลื่อนออกมาจากตำแหน่งเดิมจนมีลักษณะเป็นก้อนตุงอยู่บริเวณช่องท้องหรือขาหนีบ ผู้ป่วยอาจมีก้อนตุงที่ขยายใหญ่ขึ้น ปวดบริเวณที่ไส้เลื่อนมากขึ้น มีอาการปวดเมื่อยกสิ่งของ ปวดตื้อหรือรู้สึกแน่นท้องได้ 4
4. ลำไส้อักเสบ
ลำไส้อักเสบเป็นภาวะที่ยังสาเหตุที่แน่ชัดไม่พบ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผิดปกติไป โดยอาการที่อาจพบได้ของภาวะนี้ก็เช่น ท้องเสีย อุจจาระปนเมือกหรือเลือด ปวดท้อง น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลีย มีไข้ ปวดอุจจาระบ่อย
5. มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการที่เซลล์ในลำไส้ใหญ่เกิดการเจริญเติบโตมากผิดปกติจนเกิดเป็นก้อนเนื้อ
โดยโรคนี้มักเกิดในผู้ที่มีอายุเยอะ ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ ผู้ที่ไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร
6. สาเหตุที่ส่งผลต่อผู้หญิงโดยเฉพาะ
การปวดท้องข้างซ้ายส่วนล่างของผู้หญิงมักเป็นปัญหาเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก เช่น การปวดประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ถุงน้ำในรังไข่ ภาวะรังไข่บิดขั้ว การตั้งครรภ์นอกมดลูก และการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
7. สาเหตุที่ส่งผลต่อผู้ชายโดยเฉพาะ
โรคไส้เลื่อนขาหนีบและภาวะอัณฑะบิดขั้วอาจส่งผลให้ผู้ชายเกิดการปวดท้องซ้ายส่วนล่างเช่นกัน ทั้งนี้ ภาวะอัฑณะบิดขั้วเป็นสาเหตุที่รุนแรง ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
ทั้งนี้ นอกจากสาเหตุทั้งหมดที่ได้กล่าวไป ยังมีบางสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องข้างซ้าย ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ได้เช่นกัน เช่น ท้องผูก และนิ่วในไต
วิธีป้องกันปวดท้องข้างซ้าย
แม้จะไม่สามารถป้องกันอาการปวดท้องได้ในทุก ๆ รูปแบบ แต่การทำตามวิธีดังต่อไปนี้อาจลดความเสี่ยงการเกิดปวดท้องข้างซ้ายได้ เช่น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- รับประทานโดยแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ
- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของอาการปวดท้องข้างซ้ายทั้งหลายมีการป้องกันที่แตกต่างกันไป ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการป้องกันที่เหมาะสมกับสาเหตุแต่ละอย่างด้วย
สัญญาณที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีอาการปวดท้องข้างซ้ายร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง อาเจียน ปัสสาวะหรือถ่ายเป็นเลือด อาเจียนหรือท้องเสียอย่างรุนแรงหรือบ่อยครั้ง ดีซ่าน ท้องหรือขาบวม กลืนลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ ผู้ที่กังวลเกี่ยวกับการปวดท้องข้างซ้ายของตนหรือมีอาการปวดท้องนานกว่า 3 วัน ควรไปปรึกษาแพทย์และรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนเช่นเดียวกัน