ปวดสะบักหลัง รู้จักสาเหตุและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

ปวดสะบักหลัง เป็นอาการหนึ่งที่น่าจะส่งผลให้ผู้ที่มีอาการเกิดความรู้สึกอึดอัดและใช้ชีวิตประจำวันได้ยากขึ้นไม่น้อย เนื่องจากสะบักเป็นอวัยวะที่มักจะถูกใช้งานในขณะที่มีการขยับแขน นอกจากนี้ เวลาที่เกิดอาการนี้ ผู้ที่มีอาการยังมักพบอาการในลักษณะเหล่านี้ร่วมด้วย ได้แก่ แขนอ่อนแรง และระยะการเคลื่อนไหวของแขนลดน้อยลง

สะบักหลัง หรือสะบัก เป็นกระดูกรูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยมที่อยู่บริเวณหลังช่วงบน โดยแบ่งเป็น 2 ชิ้น ด้านซ้ายและด้านขวา โดยสาเหตุที่อาจส่งผลให้อวัยวะส่วนนี้เกิดอาการปวดอาจเป็นได้หลายอย่าง ตั้งแต่อาการที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ไปจนถึงอวัยวะอื่น ๆ อย่างกระดูก ปอด และหัวใจ

ปวดสะบักหลัง

สาเหตุของอาการปวดสะบักหลัง

ปวดสะบักหลังเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. กระดูกสะบักหลังหัก

กระดูกสะบักหลังหักเป็นภาวะที่อาจจะพบได้ไม่บ่อย เนื่องจากสะบักเป็นกระดูกที่ถูกป้องกันด้วยอวัยวะหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อส่วนหน้าอกหรือกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากกระดูกสะบักหลังได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง เช่น อาจจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนน การถูกรถชน หรือการตกจากที่สูง

โดยผู้ที่มีภาวะกระดูกสะบักหลังหักมักจะพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ ได้แก่ อาการปวดอย่างรุนแรงขณะเคลื่อนไหวแขน และบริเวณหัวไหล่ด้านหลังเกิดอาการบวม

2. กระดูกสะบักหลังเคลื่อน

ภาวะกระดูกสะบักหลังเคลื่อนเป็นภาวะที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นประสาทได้รับความเสียหาย กระดูกบริเวณใกล้เคียงสะบักได้รับความเสียหาย ข้อต่อบริเวณหัวไหล่เกิดความเสียหาย หรือกล้ามเนื้อบริเวณที่ห่อหุ้มกระดูกสะบักหลังมีภาวะตึงเกินไป อ่อนแรง หรือฉีกขาด 

ส่วนอาการของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็ได้แก่ ปวดสะบักหลัง โดยเฉพาะขณะชูแขนเหนือศีรษะหรือยกของหนัก แขนข้างที่เกิดอาการอ่อนแรง ระยะการเคลื่อนไหวแขนลดลง รู้สึกเหมือนได้ยินเสียงดังออกมาจากบริเวณหัวไหล่ กระดูกสะบักหลังยื่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด

3. กล้ามเนื้อเกิดความเสียหายหรือฉีกขาด

ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่กล้ามเนื้อเกิดการยืดตัวออกมากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดได้จากการเกิดอุบัติเหตุ การใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณสะบักหนักเกินไป การอยู่ในท่าทางที่ผิดเป็นระยะเวลานาน การยกของหนัก การออกกำลังกาย หรือในบางครั้งก็อาจเป็นผลมาจากการฉีกขาดของเส้นเอ็นข้อไหล่ (Rotator Cuff) ได้เช่นกัน

4. ข้อเสื่อม

ข้อเสื่อมเป็นภาวะที่กระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อกระดูกเกิดการเสื่อมสภาพหรือได้รับความเสียหาย จนส่งผลให้กระดูกเกิดการเสียดสีกันขณะเคลื่อนไหวร่างกาย โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะนี้ก็เช่น ผู้สูงวัย ผู้ที่มีภาวะอ้วน และผู้ที่มีประวัติเกิดอุบัติเหตุที่ข้อต่อ

โดยอาการของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็เช่น ปวดตามข้อ โดยเฉพาะขณะเคลื่อนไหวร่างกาย ข้อต่อต่าง ๆ บวม ระยะการเคลื่อนไหวลดลง รวมถึงอาจพบว่าข้อต่อผิดรูปร่วมด้วย

5. หัวใจขาดเลือด

ภาวะหัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่เกิดจากการที่หัวใจได้รับเลือดน้อยลงอย่างฉับพลันจากการที่ภายในหลอดเลือดที่คอยลำเลียงเลือดสู่หัวใจมีไขมันไปเกาะสะสมอยู่ในปริมาณมาก ซึ่งผู้ที่เกิดภาวะนี้จะมีโอกาสเกิดอาการปวดสะบักหลังเป็นสัญญาณแรกเริ่มได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากอาการปวดสะบักหลังแล้ว ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังอาจพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดไหล่ ปวดแขน ปวดหลัง ปวดคอ ปวดขากรรไกร เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ทั้งนี้ ภาวะนี้เป็นภาวะรุนแรงที่อาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเสี่ยงเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

6. โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด

โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะพบว่า หลอดเลือดปอดของผู้ป่วยเกิดการอุดตันจากการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดสะบักหลังอย่างรุนแรงและฉับพลัน ร่วมกับอาการหายใจไม่ออก โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคนี้ก็เช่น ผู้ที่มีประวัติเกิดลิ่มเลือด ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ส่วนอาการอื่นที่อาจพบได้ก็เช่น อาการเจ็บหน้าอก คล้ายจะเป็นลม ผิวเย็น ผิวมีสีเปลี่ยนไป มีไข้ เหงื่อออกมากผิดปกติ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ทั้งนี้ ภาวะนี้เป็นภาวะรุนแรงที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการในลักษณะเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

7. ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (Aortic Dissection)

ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดเป็นภาวะรุนแรงที่เกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่เกิดความเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดรั่วไหลออกไปได้ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคนี้ก็เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้ ผู้ป่วยหลอดเลือดแดงแข็ง และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจพิการแต่กําเนิด (Aortic Coarctation) 

โดยผู้ที่ป่วยในกลุ่มนี้มักพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ ปวดกลางหลังค่อนบนอย่างรุนแรง เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงและฉับพลัน ปวดท้องอย่างรุนแรงและฉับพลัน หมดสติ หายใจไม่ออก มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น พูดลำบาก ชาครึ่งซีก ทั้งนี้ ภาวะนี้เป็นภาวะรุนแรงที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงเสียงชีวิตได้ ดังนั้น หากเกิดอาการในลักษณะเหล่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

วิธีรับมือกับอาการปวดสะบักหลัง

วิธีการรับมือการอาการปวดสะบักหลังจะขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก เช่น หากอาการปวดสะบักหลังเกิดจากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ การพักการใช้งานกล้ามเนื้อ การประคบเย็น การประคบร้อน การกายภาพบำบัด การยืดกล้ามเนื้อ และการรับประทานบรรเทาอาการอักเสบ อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ก็อาจจะช่วยบรรเทาอาการปวดสะบักหลังได้

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ อาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ถูกต้องจากแพทย์ก่อน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนเป็นกรณีไป ดังนั้น ผู้ที่มีอาการปวดสะบักหลังควรจะไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม หากพบว่าอาการปวดเริ่มรุนแรงหรือไม่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการปวดสะบักหลังควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบการเกิดอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เนื่องจากอาการอาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติที่รุนแรงได้ ได้แก่ หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก ปวดขา ขาบวมแดง ไอปนเลือด มีไข้ ใจสั่น พูดลำบากอย่างฉับพลัน มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ชาครึ่งซึก และหมดสติ