ปวดหัวขณะตั้งครรภ์ สัญญาณอันตรายที่คุณแม่มือใหม่ควรระวัง

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจเผชิญภาวะปวดหัวได้ทุกช่วงเวลา โดยบางคนอาจมองว่าอาการปวดหัวเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ แต่ในบางครั้งอาการปวดหัวในระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงอย่างครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งการศึกษาข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจอาการปวดหัวได้ดียิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับอาการดังกล่าวได้ หรือสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายแล้วไปพบแพทย์ได้ทันเวลา

ปวดหัวขณะตั้งครรภ์

ปวดหัวขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

หญิงตั้งครรภ์บางคนอาจปวดหัวในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แต่สาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนหรือปริมาณเลือดในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้นขณะตั้งครรภ์ก็เป็นได้ โดยอาการปวดหัวระหว่างตั้งครรภ์มักทุเลาลงในช่วงไตรมาสที่ 2 เมื่อระดับฮอร์โมนเริ่มคงที่ และร่างกายเริ่มปรับตัวจนคุ้นชินกับระดับสารเคมีต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ การเผชิญปัญหาสุขภาพหรือภาวะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

  • ความหิว
  • การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การเลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • โรคภูมิแพ้
  • ภาวะเครียด
  • ภาวะซึมเศร้า
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ภาวะตาล้า

ส่วนสาเหตุของอาการปวดหัวในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่อาจมีสาเหตุมาจากท่าทางในการยืนหรือการนั่งที่ไม่เหมาะสม และความตึงของกล้ามเนื้อจากการแบกรับน้ำหนักครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจเกิดจากอันตรายอย่างภาวะความดันโลหิตสูงหรือภาวะครรภ์เป็นพิษได้เช่นเดียวกัน คุณแม่จึงควรเฝ้าระวังอาการและไปพบแพทย์หากพบความผิดปกติ

ปวดหัวขณะตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่ ?

อาการปวดหัวในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์อาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเป็นอาการป่วยรุนแรงที่ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ สายตาพร่ามัว การทำงานของตับและไตผิดปกติ ดังนั้น หากพบความผิดปกติต่าง ๆ ร่วมกับอาการปวดหัว หรือปวดหัวอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และไม่มีทีท่าว่าอาการจะทุเลาลงแม้หลังรับประทานยาแก้ปวด ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษา โดยแพทย์จะตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เพื่อให้แน่ใจว่าอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นอาการจากโรคอันตรายบางชนิด หรือหากตรวจพบการเจ็บป่วยร้ายแรง แพทย์จะได้วางแผนรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีต่อไป เพื่อความปลอดภัยของตัวมารดาและทารกในครรภ์

ตัวอย่างอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการปวดหัวขณะตั้งครรภ์ที่ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที มีดังนี้

  • ปวดหัวรุนแรงอย่างฉับพลัน
  • ปวดหัวร่วมกับมีไข้ และคอแข็ง
  • ปวดหัวในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของการตั้งครรภ์โดยไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีปัญหาการมองเห็น ปวดเสียดท้อง รู้สึกคลื่นไส้ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจมีอาการบวมที่มือหรือใบหน้าร่วมด้วย
  • ปวดหัวรุนแรงขึ้น และมีอาการพูดไม่ชัด สายตาพร่ามัว เซื่องซึม เป็นเหน็บชา และภาวะการรับรู้เปลี่ยนแปลงไป
  • รู้สึกปวดหัวหลังได้รับการบาดเจ็บบริเวณหัว

คัดจมูก รู้สึกเจ็บบริเวณใต้ตาหรือบริเวณอื่นของใบหน้า และปวดฟัน ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของไซนัสอักเสบ

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อปวดหัวขณะตั้งครรภ์ ?

แนวทางปฏิบัติต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวระหว่างตั้งครรภ์ได้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำและตื่นในเวลาปกติ เนื่องจากการอดนอนอาจทำให้ปวดหัวขณะตั้งครรภ์ได้
  • รับประทานอาหารให้ตรงเวลา การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างตรงต่อเวลา และการดื่มน้ำมาก ๆ ช่วยป้องกันการเกิดอาการปวดหัวและภาวะขาดน้ำได้
  • อย่าปล่อยให้หิว ควรรรับประทานอาหารมื้อย่อยบ่อย ๆ เช่น อาหารจำพวกผลไม้ โยเกิร์ต หรือแครกเกอร์ เพื่อป้องกันอาการหิวที่อาจทำให้ปวดหัวได้ และช่วยป้องกันภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดหัว แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน ลูกอม และน้ำอัดลม เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้เช่นกัน และถ้าน้ำตาลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
  • รับประทานยา การรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และยาแก้ปวดไมเกรน หากไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
  • ควบคุมความเครียด ควรรเรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียด โดยเฉพาะความเครียดจากการทำงาน เช่น จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ แบ่งสิ่งที่ต้องทำออกเป็นส่วนแล้วกระจายงานให้แก่คนที่เหมาะสม หรือทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดและอาการปวดหัวได้ เช่น การดูหนังฟังเพลงที่ผ่อนคลาย การสูดหายใจเข้าลึก ๆ การนวด และการเล่นโยคะ
  • ออกกำลังกาย การเดินและการออกกำลังกายแบบแอโรบิกชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ต้องใช้แรงมาก เช่น การว่ายน้ำ หรือการทำกิจกรรมเข้าจังหวะ จะช่วยให้อาการปวดหัวดีขึ้นได้
  • นวด การนวดบริเวณไหล่และคอจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการปวดเมื่อย และยังอาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวระหว่างตั้งครรภ์ได้
  • ประคบร้อนหรือประคบเย็น การประคบเย็นด้วยผ้าขนหนูและน้ำแข็งบริเวณหัวอาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวให้ทุเลาลงได้ หรือบางคนอาจใช้การประคบร้อนเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ปวดหัว อาหารบางชนิด และการรับกลิ่นต่าง ๆ อาจทำให้รู้สึกปวดหัวได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหัว