ปวดหัวข้างขวา รู้จักสาเหตุและวิธีรับมือที่ได้ผล

ปวดหัวข้างขวา เป็นอาการปวดที่เกิดบริเวณซีกด้านขวาของศีรษะ หรือบางคนอาจมีอาการปวดบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย เช่น คอด้านขวา ตาด้านขวา หรือฟันซีกขวา โดยอาการนี้เป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ซึ่งอาจสร้างความรำคาญ ทรมาน และทำให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้นไม่น้อย 

อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวข้างขวาเป็นอาการที่ผู้ที่มีอาการสามารถรับมือได้ เพียงแค่ต้องรู้สาเหตุของอาการปวดหัว และวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง โดยสาเหตุของอาการนี้จะสามารถเป็นไปได้หลายอย่าง ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะมีลักษณะอาการให้สังเกตแตกต่างกันไป

ปวดหัวข้างขวา

สาเหตุของอาการปวดหัวข้างขวา

อาการปวดหัวข้างขวาเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น

1. ความเครียด

อาการปวดหัวจากความเครียดเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งจะเกิดจากการที่กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักปวดหัวพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง แต่ก็มีบางคนเช่นกันที่อาการอาจเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว

ในด้านลักษณะอาการปวด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการปวดหัวแบบตื้อ ๆ หรือรู้สึกคล้ายโดนบีบรัดบริเวณศีรษะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไหล่และคอด้วย รวมถึงอาจมีอาการอื่น ๆ ในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ อ่อนเพลีย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ ไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างแสงหรือเสียง และปวดกล้ามเนื้อ

2. ไมเกรน

ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวในลักษณะแบบตุบ ๆ ข้างเดียวอย่างรุนแรง หรือบางครั้งอาจปวดหัวทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มองเห็นภาพไม่ชัด ไข้ขึ้น รู้สึกร้อนหรือหนาว ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นนานตั้งแต่หลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน

นอกจากนี้ ลักษณะอาการเด่นอีกอย่างที่อาจพบได้ในผู้ป่วยไมเกรนก็คือ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง การมองเห็นผิดปกติไป และได้ยินเสียงดังอยู่ภายในหู โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นประมาณช่วง 5–60 นาที ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดอาการปวดศีรษะตามมา หรือในบางครั้งก็อาจเกิดไปพร้อมกับอาการปวดหัวด้วยเช่นกัน

ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของไมเกรน แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับระบบพันธุกรรมของผู้ป่วย

3. ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)

ภาวะไซนัสอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดจากการที่ไซนัส หรือโพรงอากาศที่อยู่บริเวณใบหน้า เกิดการอักเสบและบวมจากการติดเชื้อ ซึ่งสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ

ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบอาจจะพบอาการปวดหัว ร่วมกับอาการปวดบริเวณด้านหลังดวงตา โหนกแก้ม หน้าผาก หรือบริเวณจมูก รวมถึงอาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหลมาก อ่อนเพลีย ไอ และเจ็บคอร่วมด้วย

4. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์

ภาวะปวดหัวแบบคลัสเตอร์เป็นภาวะปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวข้างขวาข้างเดียว ข้างซ้ายข้างเดียว หรืออาจปวดบริเวณรอบดวงตา คอ ใบหน้า และไหล่ มักเกิดขึ้นทุกวันติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนในแต่ละครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาประมาณ 4–12 สัปดาห์ก่อนอาการจะดีขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น รู้สึกไม่สบายตัว ปวดแสบปวดร้อน ตาบวม รูม่านตาจะหดตัวเล็กลง ตาแดงหรือน้ำตาไหล คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล หน้าแดงและอุ่น เหงื่อออก และไวต่อแสง

ทั้งนี้ ในด้านสาเหตุ ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดภาวะปวดหัวในลักษณะนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการที่สมองบางส่วนทำงานผิดปกติไป หรือการที่ร่างกายหลั่งสารบางชนิด เช่น สื่อประสาทบางชนิด หรือสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมาในลักษณะที่ผิดปกติ

5. การใช้ยาบางชนิด

การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) ยาทริปแทน (Triptans) หรือคาเฟอีน อาจส่งผลให้ผู้ที่ใช้เกิดอาการปวดหัวข้างขวาเป็นผลข้างเคียงได้

ทั้งนี้ สาเหตุเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของอาการปวดหัวข้างขวาเท่านั้น ซึ่งยังมีสาเหตุอีกมากมายที่อาจส่งผลให้เกิดอาการนี้ได้อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการอดอาหาร การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะถอนคาเฟอีน ภาวะเส้นโลหิตแดงโป่งพอง เนื้องอก โรคมะเร็ง และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย

6. ภูมิแพ้

ภูมิแพ้ เป็นภาวที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารบางชนิด ที่โดยปกติแล้วไม่ได้ส่งผลใด ๆ ต่อร่างกายต่อคนทั่วไป ในลักษณะที่ผิดปกติไป โดยตัวอย่างสารที่พบได้บ่อยก็เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หรือควันบุหรี่

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้บางคนอาจมีอาการปวดหัวข้างขวาได้บ้าง ร่วมกับอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ หายใจลำบาก คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ตาแดง มีน้ำตาไหลมาก คันตามตัว และมีผื่นขึ้น

วิธีรับมือกับอาการปวดหัวข้างขวา

ผู้ที่มีอาการปวดหัวข้างขวาอาจบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ดังนี้

  • ประคบอุ่นบริเวณคอด้านหลัง เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นคลายตัว
  • ปรับเปลี่ยนท่าทางให้รู้สึกสบายขึ้น เพื่อลดความตึงบริเวณหัว คอ และไหล่
  • ปล่อยผม คลายมวยผม หรือคลายผมหางม้า
  • ดื่มน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหัวที่เกิดจากภาวะขาดน้ำ 
  • อาบน้ำอุ่น เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
  • งีบหลับสักพัก เพื่อบรรเทาอาการปวดหัวที่เกิดจากความอ่อนเพลีย
  • ไม่อยู่ในห้องหรือสถานที่ที่มีแสง เสียง หรือกลิ่นที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวหรืออาการตาล้า และเลือกอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
  • รับประทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล 

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่สะดวก การขอคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัด เพื่อเรียนรู้วิธียืดหยุ่นร่างกายเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหรือวิธีออกกำลังกายที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวในระยะยาวก็เป็นอีกทางหนึ่งที่อาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการปวดหัวข้างขวาได้เช่นกัน

ทั้งนี้ วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองจากอาการปวดหัวข้างขวาด้วยตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไข้ขึ้น คอแข็ง อ่อนแรง สูญเสียการมองเห็น มองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด มีอาการปวดที่บริเวณใกล้ขมับ และรู้สึกเจ็บขณะเคลื่อนไหวหรือไอ ควรจะไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม