อาการปวดหัวด้านหลังหรือปวดหัวบริเวณท้ายทอยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย หรือจากสาเหตุร้ายแรงที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งหากเราทราบว่าอาการปวดหัวด้านหลังที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร ก็จะสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม
ผู้ที่ปวดหัวด้านหลังอาจมีอาการปวดแบบตื้อ ปวดแบบถูกบีบรัด หรือปวดแบบจี๊ด รวมถึงอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว โดยแพทย์มักจะพิจารณาอาการเหล่านี้ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม อย่างลักษณะของอาการปวดหรือตำแหน่งที่เกิดอาการปวด เพื่อช่วยให้สามารถวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวด้านหลังได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
ปวดหัวด้านหลัง เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
อาการปวดหัวด้านหลัง อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1. ปวดหัวจากความเครียด (Tension Type Headaches)
อาการปวดหัวที่เกิดจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ หรือเรียกสั้น ๆ ว่าอาการปวดหัวจากความเครียด เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการปวดหัวด้านหลัง โดยมักเกิดอาการปวดที่บริเวณหัวด้านหลังและหัวด้านขวาร่วมกัน จะมีลักษณะอาการปวดแบบตึงแน่น คล้ายถูกบีบรัดหรือกดลงมาบริเวณหนังศีรษะและลำคอ แต่มักเป็นอาการปวดที่ไม่รุนแรง และมักไม่มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย
2. การจัดระเบียบร่างกายที่ไม่เหมะสม
การจัดระเบียบร่างกายที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ไหล่ห่อ หรือการนอนหนุนหมอนที่สูงเกินไป มักจะทำให้เกิดอาการตึงกล้ามเนื้อบริเวณหัวด้านหลัง กราม ลำคอ ไหล่ และหลังส่วนบน จนอาจเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และส่งให้เกิดอาการปวดหัวตุบ ๆ บริเวณฐานกะโหลกศีรษะหรือบริเวณหัวด้านหลังตามมาได้
3. อาการไมเกรน
หลายคนอาจเข้าใจว่าอาการไมเกรนมีแค่อาการปวดหัวด้านซ้ายหรือด้านขวาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาการไมเกรนอาจรวมถึงอาการปวดหัวด้านหลังด้วยเช่นกัน อาการปวดหัวไมเกรนจะมีลักษณะการปวดแบบตุบ ๆ เป็นจังหวะอย่างรุนแรง โดยอาจเริ่มจากอาการปวดหัวด้านซ้าย จากนั้นจะปวดเคลื่อนรอบ ๆ ขมับไปทางหัวด้านหลัง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือไวต่อแสง เสียง และกลิ่นด้วย
4. อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณต้นคอ
อาการปวดหัวด้านหลังอาจมีสาเหตุมาจากอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณต้นคอจากการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน (Whiplash Injury) โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากเหตุการณ์ที่ต้องหมุนหรือสะบัดศีรษะอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เช่น การเล่นกีฬา การเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก การเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนท้าย ไปจนถึงการถูกทำร้ายร่างกายบริเวณต้นคอก็ได้เช่นกัน
อาการปวดหัวด้านหลังจากสาเหตุนี้อาจไม่ได้แสดงอาการออกมาอย่างทันทีทันใด ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน อย่างไรก็ตามอาจสามารถสังเกตได้จากอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น เคลื่อนไหวคอได้ลำบาก รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวคอ รวมถึงอาการปวดบริเวณหัวไหล่ หลังส่วนบน หรือแขนด้วย
5. ปวดหัวจากความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณคอ
ความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณคอ มักเป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูก เอ็นยึดข้อต่อ หรือเยื่อหุ้มไขสันหลังบริเวณคอ เช่น ข้ออักเสบ เส้นประสาทถูกกดทับ หรือกล้ามเนื้อคอได้รับบาดเจ็บ ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวตามมา
อาการปวดหัวชนิดนี้จะเริ่มจากปวดหัวด้านหลังหรือบริเวณลำคอ และกระจายขึ้นมาบริเวณขมับหรือหัวด้านหน้า อาการปวดอาจรุนแรงขึ้นเมื่อนอนราบ และอาจมีอาการปวดตึงบริเวณไหล่หรือแขนร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวในลักษณะนี้ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา
6. ปวดหัวจากเส้นประสาทต้นคออักเสบ
อาการปวดหัวจากเส้นประสาทต้นคออักเสบ จะมีลักษณะอาการปวดแบบเสียวแปลบอย่างรุนแรง โดยเริ่มจากบริเวณหัวด้านหลังหรือท้ายทอย และอาจปวดร้าวตามหนังศีรษะมาจนถึงบริเวณหัวด้านหน้าหรือกลางหน้าผาก นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวคอ ปวดกระบอกตา มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น หูอื้อ หรือคัดจมูกร่วมด้วย
7. ปวดหัวจากความดันน้ำไขสันหลังในสมองต่ำ
ภายในร่างกายของเรามีสิ่งที่เรียกว่าน้ำไขสันหลัง โดยจะมีลักษณะเป็นของเหลวใสที่คอยหุ้มสมองและไขสันหลังอยู่ ซึ่งหากน้ำไขสันหลังเกิดการรั่วไหลออกมา จะทำให้ความดันของน้ำไขสันหลังในสมองลดต่ำลง และทำให้เกิดอาการปวดหัวด้านหลังตามมาได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่สาเหตุของการที่น้ำไขสันหลังรั่วไหลมักมาจากการเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture)
อาการปวดหัวด้านหลังที่เกิดจากความดันน้ำไขสันหลังในสมองต่ำ มักเป็นอาการปวดหัวอย่างรุนแรงที่หัวด้านหลังและลำคอ โดยอาการมักจะแย่ลงเมื่อยืนหรือนั่ง และในบางคนก็อาจมีอาการดีขึ้นเมื่อนอนพักประมาณ 30 นาที อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวชนิดนี้ควรได้รับการรักษาจากแพทย์
ปวดหัวด้านหลังอันตรายไหม อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์
อาการปวดหัวด้านหลังส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา หรือหายได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรงหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
ตัวอย่างอาการปวดหัวด้านหลังที่ควรไปพบแพทย์ มีดังนี้
- มีอาการปวดหัวเกิดขึ้นหลังจากได้รับบาดเจ็บบริเวณหัว เช่น เกิดการกระทบกระแทก
- มีอาการปวดหัวต่อเนื่องนานกว่า 2–3 วัน และอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นแย่ลงเรื่อย ๆ
- มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการกดแล้วเจ็บบริเวณขมับด้วย
- มีการอาการปวดหัวร่วมกับอาการเวียนหัวอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวลำบาก หรือเสียสมดุล
- มีอาการปวดหัวร่วมกับอาการปวดหรือตึงบริเวณคอ มีไข้ สับสน และการตอบสนองของร่างกายช้าลง
- มีอาการปวดหัวร่วมกับอาการอ่อนแรง ชาตามร่างกาย พูดไม่ชัด และเกิดปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่อาจอันตรายแก่ถึงชีวิต
แม้อาการปวดหัวด้านหลังส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย และสามารถดูแลตัวเองได้ง่าย ๆ เช่น รับประทานยาแก้ปวดทั่วไป แต่หากดูแลตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 5 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาการปวดหัวด้านหลังในบางกรณี ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ได้เช่นกัน