ปวดเข่าข้างเดียวคืออาการปวดเข่าข้างซ้ายหรือข้างขวาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งอาการปวดเข่าข้างเดียวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการบาดเจ็บ โรคเกี่ยวกับข้อเข่า หรือการติดเชื้อ โดยอาการปวดอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุ บางรายอาจค่อย ๆ มีอาการรุนแรงขึ้น แต่บางรายอาจมีอาการปวดเข่าข้างเดียวอย่างรุนแรงและฉับพลัน
ปวดเข่าข้างเดียวเป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไปในผู้คนทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจมีโอกาสเกิดปวดเข่าข้างเดียวมากกว่าปกติ เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักเยอะ ผู้ที่เคยบาดเจ็บบริเวณเข่า หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้เข่าเยอะ เช่น นักกีฬา ผู้ที่ทำงานก่อสร้าง เกษตรกร
รู้จักสาเหตุของอาการปวดเข่าข้างเดียว
ปวดเข่าข้างเดียวอาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น
1. ใช้งานเข่ามากเกินไป
การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาบางชนิดอย่างหักโหม โดยเฉพาะการออกกำลังกายหรือกีฬาที่มีการกระโดด การทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้เข่าเยอะ อาจทำให้กล้ามเนื้อ ข้อเข่า หรือเส้นเอ็นหัวเข่าอักเสบ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกปวดเข่าข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้
2. กระดูกบริเวณหัวเข่าหัก
ปวดเข่าข้างเดียวอาจเกิดจากกระดูกหัก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อหัวเข่าถูกกระแทกอย่างรุนแรงจากหลายสาเหตุ เช่น การหกล้ม การตกจากที่สูง การเล่นกีฬา อุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยอาการปวดเข่าข้างเดียวที่เกิดจากกระดูกหักมักมีอาการรุนแรง และสามารถสังเกตเห็นได้จากเข่าที่มีลักษณะผิดรูปหรือหักบิดผิดปกติ
3. เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าบาดเจ็บหรือฉีกขาด
เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าบาดเจ็บหรือฉีกขาด (ACL Injury) อาจทำให้เกิดอาการปวดเข่าข้างเดียวได้ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนทิศทางหรือหยุดอย่างกะทันหัน การกระโดดลงผิดท่า โดยนอกจากอาการปวดเข่าข้างที่มีอาการแล้ว ยังอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น เข่าบวม กดแล้วเจ็บ เดินไม่สะดวก ยืดหรืองอเข่าได้ไม่เต็มที่
4. ข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเข่าข้างเดียวได้ โดยโรคข้อเสื่อมอาจเกิดขึ้นเมื่อกระดูกอ่อนบริเวณเข่าเกิดการเสื่อมสภาพจากการใช้งานและอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้กระดูกข้อเข่าเกิดการเสียดสีและทำให้รู้สึกปวดได้ โดยผู้ที่มีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมอาจมีอาการเข่าบวม ข้อยึด และมีเสียงดังกรอบแกรบเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายร่วมด้วย
5. ข้ออักเสบรูมาตอยด์
ปวดเข่าข้างเดียวอาจเป็นสัญญาณของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติและไปทำลายข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงข้อต่อบริเวณเข่า ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบและอาการปวดเข่าตามมา นอกจากนี้ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น บวม แดง อุ่น ข้อติด
6. เกาต์
โรคเกาต์เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อระดับกรดยูริกในเลือดสะสมสูงผิดปกติ จนเกิดผลึกตามข้อต่าง ๆ และทำให้เกิดการอักเสบ โดยส่วนใหญ่มักทำให้เกิดอาการปวดตามข้อต่อที่มีขนาดเล็ก เช่น นิ้วเท้า นิ้วมือ ข้อเท้า แต่ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นบริเวณข้อเข่า และทำให้รู้สึกปวดเข่าข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างตามมา
7. เกาต์เทียม
เกาต์เทียมเป็นโรคที่มีลักษณะคล้ายโรคเกาต์ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการสะสมผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรต (Calcium Pyrophosphate Dehydrate) บริเวณข้อต่อต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่อย่างข้อต่อเข่า เมื่อมีอาการของเกาต์เทียมเกิดขึ้น อาจส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ เช่น ปวดเข่าข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง เข่ามีอาการบวม แดง และรู้สึกอุ่นเมื่อสัมผัส
8. ข้ออักเสบจากการติดเชื้อ
ปวดเข่าข้างเดียวอาจเกิดจากโรคข้ออักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายและกระแสเลือดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น แผลมีสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งสกปรกฝังอยู่ เช่น ตะปูหรือเหล็ก การถูกสัตว์กัด การใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาดหรือใช้ร่วมกับผู้อื่น
โดยข้อเข่าที่ติดเชื้ออาจเกิดการอักเสบ และส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น มีไข้สูง ปวดเข่าอย่างรุนแรง เข่าบวม แดง และอุ่นเมื่อสัมผัส
วิธีบรรเทาอาการปวดเข่าข้างเดียวด้วยตนเอง
ผู้ที่มีอาการปวดเข่าข้างเดียวสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดเข่าเบื้องต้น เช่น
- หยุดพักการออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้เข่าเป็นเวลานาน
- ใช้ผ้าสะอาดห่อน้ำแข็งเพื่อประคบเย็น โดยใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากได้รับบาดเจ็บ ควรประคบเย็นนาน 15–20 นาที ทุก ๆ ชั่วโมง หลังจากนั้นเปลี่ยนมาประคบเย็นทุก ๆ 3–4 ชั่วโมง ทั้งนี้ ไม่ควรประคบนานเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด (Frostbite)
- ประคบอุ่นประมาณ 15–20 นาที โดยการประคบอุ่นอาจช่วยให้เพิ่มการไหลเวียนของเลือดและช่วยลดอาการปวดเข่าข้างเดียวได้ ทั้งนี้ ไม่ควรประคบอุ่นหากมีแผลเปิด เข่าบวม หรืออยู่ในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังจากได้รับบาดเจ็บ
- นอนยกเข่าให้สูงขึ้นเหนือระดับหัวใจเพื่อช่วยลดอาการปวดและบวม โดยอาจใช้หมอน ผ้าห่ม หรือเบาะรองนั่งเพื่อรองใต้เข่าให้สูงขึ้น
- ใส่ผ้ารัดเข่าหรืออุปกรณ์พยุงเข่าที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมให้ดียิ่งขึ้น
- กินยาแก้ปวดต่าง ๆ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน หรืออาจใช้ยาทาแก้ปวดต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเข่าข้างเดียว
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดเข่าข้างเดียว ควรรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ใส่อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บทุกครั้ง เปลี่ยนมาออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ เช่น ว่ายน้ำ เดิน เพื่อลดแรงกระแทกต่อข้อเข่า และควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย เพื่อป้องกันอาการปวดเข่าข้างเดียวที่อาจกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต
ทั้งนี้ หากอาการปวดไม่ดีขึ้น อาการปวดรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถลงน้ำหนักข้างที่ปวดเข่าได้ อาการปวดเข่าเกิดจากการได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์หรือตกจากที่สูง รวมถึงมีอาการปวดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ ยืดหรืองอเข่าไม่ได้ เข่าบวมอย่างรุนแรง เข่าผิดรูปอย่างเห็นได้ชัด ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม
โดยการรักษาอาการปวดเข่าข้างเดียวจากแพทย์อาจมีหลายวิธี เช่น การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ การทำกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัด