ปวดเอว (Flank Pain)

ความหมาย ปวดเอว (Flank Pain)

ปวดเอว (Flank Pain) คืออาการปวดหรือไม่สบายบริเวณด้านข้างของร่างกาย ตั้งแต่ใต้ซี่โครงจนถึงเหนือกระดูกเชิงกราน หรือบริเวณหลังส่วนล่าง ทั้งนี้ ซึ่งผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดได้หลายลักษณะ เช่น ปวดทื่อ ๆ ปวดบีบ โดยอาการปวดเอวอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น อาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ โรคไต โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะต่าง ๆ  

ปวดเอวเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน และอาจรบกวนการใช้ชีวิตหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ดังนั้นการรักษาอาการปวดเอวด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การพักผ่อน การกินยาแก้ปวด รวมไปถึงการรักษาโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ทำให้ปวดเอวจากแพทย์ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นและป้องกันไม่ให้อาการปวดเอวส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้

ปวดเอว

สาเหตุของอาการปวดเอว

อาการปวดเอวเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยคือการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งอาจเกิดจากการยกของหนัก การทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อเอวได้

นอกจากนี้ อาการปวดเอวยังอาจเกิดจากโรคหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น

  • ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะและทำให้เกิดการอักเสบ เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคท่อปัสสาวะอักเสบ โรคกรวยไตอักเสบ โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดเอวได้  
  • ฝีที่ไต เป็นโรคที่อาจเกิดจากการที่ไม่ได้รับการรักษากรวยไตอักเสบให้หายดี ติดเชื้อทางกระแสเลือด หรืออาจเกิดจากไตบวมน้ำได้ 
  • ภาวะไตขาดเลือด เมื่อไตขาดเลือด อาจทำให้เนื้อเยื่อตายและนำไปสู่อาการปวดเอวได้ 
  • เนื้องอกที่ไต เนื้องอกจะทำให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มรอบไตหรือรีนัลแคปซูลบวมขึ้นมา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปวดเอวได้ นอกจากนี้ เนื้องอกอาจกดเบียดเส้นเลือดไต ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดที่ไตนั้นผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะไตขาดเลือดหรือไตบวมน้ำ
  • นิ่วในไตหรือในท่อไต นิ่วอาจทำให้ท่อไตอุดตัน ส่งผลให้ท่อไตส่วนต้นขยายใหญ่ขึ้น และก่อให้เกิดอาการปวดเอวได้ 
  • ภาวะขาดน้ำ ภาวะขาดน้ำเป็นภาวะที่มีน้ำในร่างกายน้อยหรือไม่เพียงพอต่อการทำงาน โดยภาวะขาดน้ำอาจส่งผลให้เกิดนิ่วในไตและการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะได้ ซึ่งอาจทำให้ไตได้รับความเสียหาย และทำให้เกิดอาการปวดบริเวณเอวได้
  • ทางเดินปัสสาวะตีบ ผนังทางเดินปัสสาวะตีบอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น นิ่วอุดตันที่ท่อไตและกรวยไต ภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น หรืออาจเป็นผลข้างเคียงของกระบวนการทางการแพทย์ เช่น การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารหลายครั้ง หรือได้รับบาดเจ็บจากการยิงเลเซอร์ 
  • งูสวัด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักทำให้ผิวหนังตามแนวเส้นประสาทหรือบริเวณเอวพุพองเป็นแผล และอาจทำให้รู้สึกปวดเอวได้
  • โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูก เช่น หมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท โดยโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกมักก่อให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง และอาจทำให้รู้สึกปวดเอวได้
  • การติดเชื้อที่อวัยวะภายในช่องท้อง หากอวัยวะหลังเยื่อบุช่องท้องเกิดการติดเชื้อ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเอวตรงบริเวณที่ติดเชื้อได้
  • โรคเกี่ยวกับทรวงอก และภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น วัณโรค หรือปอดบวม รวมทั้งสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือลิ่มเลือดอุดกั้นปอด อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดแปลบเหมือนถูกเข็มทิ่มบริเวณอกและเอว

อาการปวดเอว

ผู้ที่เกิดอาการปวดเอวมักเกิดอาการปวดตุบ ๆ ปวดทื่อ ๆ ปวดบีบ หรือปวดแปลบคล้ายเข็มทิ่ม โดยอาการดังกล่าวจะเป็น ๆ หาย ๆ ทั้งนี้ ผู้ที่ปวดเอวอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยตามสาเหตุของอาการปวดเอว เช่น

  • ปวดท้อง หรือปวดหลัง
  • ปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะมีลักษณะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะสีขุ่น ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นกว่าปกติ
  • รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ
  • ไข้ขึ้น
  • มีผื่นขึ้น
  • เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย

อาการปวดเอวที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่มีอาการปวดเอวควรไปพบแพทย์ หากเกิดอาการปวดเอวเรื้อรัง ปวดรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำด้วย เนื่องจากผู้ที่สูญเสียน้ำจากร่างกายออกไปมากจะทำให้อวัยวะ เซลล์ และเนื้อเยื่อทำงานล้มเหลว นำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายจนถึงขั้นช็อกได้ ผู้ที่ประสบภาวะขาดน้ำจะมีอาการต่าง ๆ เช่น ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะสีเข้ม ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ 

นอกจากนี้ หากรู้สึกปวดเอวร่วมกับอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที ซึ่งอาการที่ควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่

  • ไข้ขึ้น หนาวสั่น
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือใจสั่น 
  • มีเลือดปนมากับปัสสาวะ
  • อาการปวดลามไปที่ท้องน้อยและบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
  • ปวดอย่างรุนแรงตรงหลังส่วนล่างซึ่งอยู่ใกล้กระดูกสันหลัง
  • รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ และเบื่ออาหาร
  • ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อกระตุก

การวินิจฉัยอาการปวดเอว

แพทย์จะตรวจอาการปวดเอวของผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการรักษาและอาการของผู้ป่วย โดยแพทย์จะถามเกี่ยวกับอาการปวดเอว เช่น สอบถามตำแหน่งหรือบริเวณที่เกิดอาการปวดเอว ช่วงที่เริ่มปวดเอว ลักษณะของอาการปวด ความถี่ ระยะเวลาที่เกิดอาการ รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย

นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจร่างกายโดยกดหรือเคาะเอวหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อตรวจสอบตำแหน่งที่เกิดอาการปวด รวมทั้งตรวจระบบทางเดินปัสสาวะและระบบอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อช่วยประกอบการวินิจฉัยสาเหตุ เช่น

  • ตรวจเลือด แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไตหรืออวัยวะอื่น ๆ
  • ตรวจด้วยภาพสแกน เช่น อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์ ซีที สแกน เพื่อดูว่าอวัยวะ เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อภายในร่างกายของผู้ป่วยเกิดความผิดปกติอย่างไร เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุอาการปวดเอว
  • ส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) แพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กซึ่งติดกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะผู้ป่วย เพื่อตรวจความผิดปกติภายในกระเพาะปัสสาวะ
  • ตรวจปัสสาวะ แพทย์จะนำตัวอย่างปัสสาวะผู้ป่วยมาตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติเกี่ยวกับไตและกระเพาะปัสสาวะ

การรักษาอาการปวดเอว

ในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ งดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก รับประทานยาแก้ปวด กายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการปวดเอวให้ทุเลาลง

อย่างไรก็ตาม ปวดเอวมักมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย โดยวิธีรักษาปัญหาสุขภาพเหล่านั้นแตกต่างกันไป เช่น ผู้ที่ปวดเอวเนื่องจากการติดเชื้อที่ไตหรือทางเดินปัสสาวะ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ

หากปวดเอวเนื่องจากนิ่วในไต แพทย์อาจแนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อลดจำนวนก้อนนิ่วที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ และช่วยให้ขับก้อนนิ่วออกมาจากไตได้ดีขึ้น หากก้อนนิ่วขนาดใหญ่และไม่สามารถขับก้อนนิ่วออกมาได้ อาจต้องได้รับการสลายนิ่วในไตด้วยคลื่นกระแทก โดยแพทย์จะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสลายก้อนนิ่วให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถเคลื่อนผ่านทางเดินปัสสาวะออกมาได้

ภาวะแทรกซ้อนอาการปวดเอว

อาการปวดเอวมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดเอว อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • อาการปวดเอวที่เกิดจากโรคงูสวัด อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีปัญหาด้านการทรงตัว อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic neuralgia) โรคไข้สมองอักเสบ 
  • อาการปวดเอวที่เกิดจากนิ่วในไต อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ไตวาย ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)

การป้องกันอาการปวดเอว

อาการปวดเอวสามารถป้องกันได้ โดยดูแลตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง
  • ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม
  • หมั่นดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาด และมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยอยู่เสมอ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย เพื่อป้องกล้ามเนื้อบาดเจ็บที่อาจทำให้เกิดอาการปวดเอวตามมา
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะการมีน้ำหนักมากอาจทำให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บที่อาจนำไปสู่อาการปวดเอวได้
  • ฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสในการเป็นโรคต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเอว เช่น วัคซีนงูสวัด

นอกจากนี้ การไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อมีอาการปวดเอวเรื้อรัง ปวดเอวรุนแรง หรือปวดเอวร่วมกับอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง อาจช่วยให้ได้รับการรักษารวดเร็วยิ่งขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาได้