อาการปวดแขนของแต่ละคนนั้นมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป แม้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่สัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง สามารถบรรเทาความปวดเองได้ที่บ้าน แต่บางครั้งอาการปวดแขนอาจรุนแรงจนส่งผลรบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน การสังเกตอาการของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้หาสาเหตุได้ง่าย รับการรักษาที่ถูกต้อง และอาจช่วยให้หายเป็นปกติได้เร็วยิ่งขึ้น
อาการปวดแขนเป็นความรู้สึกไม่สบายหรือปวดตำแหน่งใดก็ได้ทั่วทั้งแขน รวมถึงอาการปวดที่ข้อมือ ข้อศอกและหัวไหล่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น รอยแดง อาการตึง บวม ต่อมน้ำเหลืองใต้แขนบวม เป็นต้น โดยอาการปวดอาจปรากฏอย่างเฉียบพลันแล้วหายไปได้เองหรือทวีความเจ็บปวดขึ้นเรื่อย ๆ ตามแต่ละสาเหตุ ส่วนมากแล้วอาการปวดแขนมักเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือการใช้งานแขนอย่างหนัก แต่ก็อาจเกิดได้จากปัญหาสุขภาพที่หลากหลายดังที่ได้รวบรวมมาในบทความนี้
สาเหตุของอาการปวดแขนที่ควรรู้
อาการปวดแขนมีตั้งแต่ระดับปวดเล็กน้อยไปจนถึงปวดรุนแรงแตกต่างกันไป โดยตัวอย่างสาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น
เส้นประสาทถูกกด
ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อโครงสร้างโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ กระดูก กระดูกอ่อน หรือเส้นเอ็น กดทับเส้นประสาทมากเกินไปจนเกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดอาการปวดแขน มักมีอาการเสียวเหมือนถูกทิ่ม ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
ข้อแพลง
แพลงเป็นผลมาจากเส้นเอ็นที่ยึดหรือฉีกขาด ถือเป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย มักก่อให้เกิดอาการปวด บวม รอยช้ำ ข้อต่อเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด หรือข้อต่อไม่มั่นคง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายดีได้เองในระยะเวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์
เอ็นอักเสบ
มักพบบริเวณหัวไหล่ ข้อศอก และข้อมือ โดยอาการของเอ็นอักเสบนั้นจะมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป เช่น อาการบวม กดแล้วรู้สึกเจ็บ ปวดตื้อ เอ็นเคลื่อนไหวได้ลำบาก เป็นต้น สาเหตุอาจเกิดจากการบาดเจ็บหรือการใช้งานอวัยวะดังกล่าวหนักเกินไปจากการทำงาน การเล่นกีฬา หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงก็สามารถบรรเทาอาการได้เองที่บ้าน โดยมักดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์เช่นกัน
เอ็นไหล่ฉีกขาด
เอ็นไหล่ฉีกขาดมักจะทำให้เกิดอาการปวดตื้อที่หัวไหล่และแขนอ่อนแรง สาเหตุมาจากการสึกหรอของเส้นเอ็นบริเวณหัวไหล่ตามอายุที่มากขึ้น โดยมักเกิดกับคนที่ต้องยกของหนักหรือเคลื่อนไหวแขนเหนือศีรษะเป็นประจำอย่างช่างทาสี ช่างไม้ หรือนักกีฬาที่ใช้หัวไหล่มาก ๆ อีกทั้งยังอาจเกิดอาการอย่างฉับพลันในคนที่ล้มทับแขนตนเองหรือในระหว่างยกของหนัก แต่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด หรือการผ่าตัด
กระดูกหัก
หากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บใด ๆ ทำให้รู้สึกเจ็บอย่างกะทันหันที่แขน แขนบวม มีรอยช้ำ ชา แขนอ่อนแรง แขนผิดรูป หรือพลิกฝ่ามือไม่ได้ นี่อาจเป็นสัญญาณของกระดูกหักหรือแตกร้าวที่ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
เป็นโรคภูมิต้านทานตนเองชนิดเรื้อรัง เกิดจากการอักเสบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะกับข้อต่อ ส่งผลให้ปวดที่ข้อต่อ ข้อต่ออุ่น บวม ฝืดแข็ง หรือข้อต่อผิดรูปหากเป็นโรคนี้มานาน โดยอาการมีหลายระดับตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง อีกทั้งอาการอาจกำเริบและสงบลงเป็นระยะ
โรคหัวใจขาดเลือด
ปวดแขนยังอาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจ อย่างภาวะเจ็บหน้าอก ซึ่งเกิดจากออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หรือสาเหตุจากภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่เป็นผลมาจากหลอดเลือดหัวใจถูกอุดตันจากคราบพลัค (Plaque) ทำให้เลือดและออกซิเจนไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้เลย มักก่อให้เกิดอาการปวดหน้าอกลามไปยังแขนซ้ายและหัวไหล่ แน่นบริเวณหน้าอก ลำคอ หรือหลัง คลื่นไส้ หายใจไม่อิ่ม และเวียนศีรษะ ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์โดยด่วน
วิธีดูแลอาการปวดแขนอย่างเหมาะสม
การรักษาอาการปวดแขนจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุและความรุนแรงในแต่ละคน แต่ทั่วไปมักจะมีอาการไม่รุนแรงหรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้านตามคำแนะนำต่อไปนี้
- จำกัดการใช้งานแขนหรือพักผ่อนแขนให้มาก โดยให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวแขนหนัก ๆ รวมถึงการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ต้องอาศัยแขนอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้โดยเร็ว
- หากเกิดจากการบาดเจ็บ ในช่วงแรกควรหมั่นประคบเย็นด้วยถุงน้ำแข็งที่ทำจากถั่ว ข้าวโพด หรือน้ำเปล่าแช่แข็ง แต่ควรห่อด้วยผ้าขนหนูก่อนประคบในบริเวณที่ปวดประมาณ 15-20 นาที วันละ 3 ครั้ง
- ใช้ผ้ายืดพันหรือผ้ายืดพันเคล็ดพันรอบแขนบริเวณที่มีอาการเจ็บปวด เพื่อลดอาการบวม
- ยกแขนสูง ๆ เพื่อลดอาการปวดหรืออาการบวมที่แขน
- รับประทานยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไปหากมีอาการปวดแขนเพียงเล็กน้อย เช่น ยาพาราเซตามออลและยาไอบูโพรเฟน โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากหรือจากเภสัชกรอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ยาเกินกำหนด
ในกรณีที่ผู้ป่วยสงสัยว่าปวดแขนจากปัญหาสุขภาพหัวใจหรือมีสัญญาณอาการจากโรคหัวใจร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อให้แพทย์พิจารณาการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม หากปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วยังคงปวดแขนอย่างต่อเนื่องหรืออาการปวดนั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและการดูแลตัวเองที่เป็นประโยชน์และปลอดภัยต่อร่างกายมากยิ่งขึ้น