ปัสสาวะ กับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อสุขภาพ

โดยปกติแล้วสีปัสสาวะของคนที่มีสุขภาพดีควรเป็นสีเหลืองอ่อนไล่ไปจนถึงสีทอง แต่รู้หรือไม่ว่าภาวะการเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ก็อาจทำให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีอื่น ๆ ได้ เช่น สีแดง สีส้ม สีฟ้า สีเขียวหรือสีน้ำตาล เป็นต้น โดยสีของปัสสาวะที่เปลี่ยนไปนี้อาจสร้างความกังวลใจให้ใครหลายคน  ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากอะไรบ้างนั้น สามารถศึกษาได้จากบทความนี้ 

ปัสสาวะ

สีปัสสาวะปกติเป็นอย่างไร ?

ปัสสาวะ คือ ของเสียในรูปของเหลวที่ถูกขับออกมาจากร่างกายโดยไต มักประกอบไปด้วยน้ำ เกลือ และสารเคมีอย่างยูเรียและกรดยูริค แม้ปัสสาวะที่ปกติของคนเราจะมีสีที่แตกต่างกันไป แต่ก็ควรอยู่ในโทนสีเหลือง โดยความเข้มของสีปัสสาวะนั้นมีตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองอำพันขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวัน ซึ่งผู้ที่ดื่มน้ำมากมักจะมีสีปัสสาวะที่อ่อนกว่าผู้ที่ดื่มน้ำน้อยหรือมีภาวะขาดน้ำนั่นเอง

ปัสสาวะสีต่าง ๆ เกิดจากอะไรได้บ้าง ?

ปัสสาวะที่เปลี่ยนสีนั้นอาจเป็นเพราะการติดเชื้อ โรคภัยไข้เจ็บ การใช้ยา หรือแม้กระทั่งการรับประทานอาหารในแต่ละวัน ซึ่งสีปัสสาวะที่แตกต่างกันเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน ดังนี้

  • ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม อาจมีสาเหตุมาจากภาวะขาดน้ำ ซึ่งการดื่มน้ำน้อยเกินไปจะทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นมาก ส่งผลให้มีสีที่เข้มขึ้นนั่นเอง
  • ปัสสาวะสีน้ำนมหรือมีลักษณะขุ่น เป็นสัญญาณของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจส่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกมาด้วย โดยปัสสาวะในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้จากหลากสาเหตุ เช่น แบคทีเรีย เซลล์เม็ดเลือดขาว และนิ่ว เป็นต้น 
  • ปัสสาวะสีแดงหรือสีชมพู เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารบางชนิดอย่างแบล็คเบอร์รี่หรือบีทรูท การใช้ยาบางชนิดอย่างยาระบายที่มีส่วนผสมของเซนน่า สารพิษจากตะกั่วหรือปรอท การบาดเจ็บของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก และภาวะเลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น นอกจากนี้ โรคหรือปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น การบาดเจ็บ การอุดตัน การติดเชื้อ โรคไต หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น  อาจทำให้ผู้ป่วยมีเลือดปะปนอยู่ในปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีแดงได้เช่นกัน 
  • ปัสสาวะสีส้ม มักเป็นผลจากการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาฟีนาโซไพริดีน ยาไรแฟมพิซิน ยาระบาย ยาซัลฟาซาลาซีน และยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น นอกจากนี้ การรับประทานผักผลไม้ที่มีสารเบตา-แคโรทีนหรือวิตามินซีในปริมาณมาก เข่น แครอทมันหวาน และผลไม้ตระกูลส้มในปริมาณมากก็อาจทำให้ปัสสาวะมีสีส้มได้
  • ปัสสาวะสีฟ้าหรือสีเขียว มีสาเหตุมาจากสีผสมอาหารในอาหารหรือยาบางชนิด สีย้อมที่ใช้ในการทดสอบไตหรือกระเพาะปัสสาวะ สารบิลิรูบินซึ่งเป็นสารสีเหลืองที่พบได้ในถุงน้ำดี การใช้ยาบางชนิดอย่างเมทิลีน บลู รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซาในระบบทางเดินปัสสาวะ และภาวะแคลเซียมในเลือดสูงที่เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่มักพบได้ยาก
  • ปัสสาวะสีน้ำตาล อาจเกิดจากการรับประทานอาหารบางชนิดอย่างว่านหางจระเข้ การใช้ยาบางชนิดอย่างไพรมาควินหรือคลอโรควิน การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคที่เกี่ยวข้องกับตับหรือไต รวมไปถึงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง 

วิธีรับมือกับปัสสาวะที่ผิดปกติ

ปัสสาวะที่สีผิดปกติมีวิธีการรักษาที่หลากหลายขึ้นอยู่กับสาเหตุต่าง ๆ ที่แพทย์ตรวจพบ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยให้ปัสสาวะของคุณกลับมาเป็นปกติได้ เช่น 

  • ดื่มน้ำให้มากขึ้นในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำจนทำให้สีปัสสาวะเปลี่ยนไป
  • ลดการรับประทานอาหารบางชนิดที่ทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสี 

ทั้งนี้ แม้ว่าการใช้ยาบางชนิดอาจทำให้ปัสสาวะมีสีที่เปลี่ยนไปจากปกติ แต่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือป่วยเป็นโรคประจำตัวก็ควรรับประทานยาต่อไปให้ครบตามจำนวนและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดไว้

อาการที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม หากสังเกตพบว่าสีของปัสสาวะที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการใช้ยา หรือการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่ปัสสาวะเปลี่ยนสีมากกว่าหนึ่งวันขึ้นไป หรือมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดหลัง ปวดสีข้าง อาเจียน รู้สึกกระหายน้ำมาก หรือมีตกขาว เป็นต้น นอกจากนี้ หากสงสัยว่ามีเลือดปนอยู่ในปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลร่วมกับมีอุจจาระสีซีด ผิวหนังหรือดวงตาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก็ควรรีบไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน