ปากแห้งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย เพราะริมฝีปากเสียความชุ่มชื้นได้ง่ายจากสภาพอากาศ พฤติกรรม โรค สารเคมีและยาบางอย่าง อีกทั้งผิวบริเวณริมฝีปากไม่สามารถผลิตน้ำมันออกมาเพื่อปกป้องผิวจากการแห้งได้ จึงทำให้เกิดการแห้งแตก ลอกเป็นขุย เจ็บแสบ บวมแดง และอาจมีเลือดออกได้หากดึงหรือกัดริมฝีปาก
เราสามารถป้องกันและดูแลริมฝีปากให้นุ่มชุ่มชื้นและไม่แห้งลอกด้วยตนเองได้ง่าย ๆ หลายวิธี แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปากแห้งแตกอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป เพราะอาการปากแห้งอาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนังหรือโรคเรื้อรังที่ควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม
7 สาเหตุที่ทำให้ปากแห้ง
สาเหตุของปากแห้งที่พบบ่อย ได้แก่
1. สภาพอากาศ
ปากแห้งมักเกิดขึ้นในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นและแห้ง หรือการอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ แต่ในบางกรณีปากแห้งอาจเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนได้เช่นกัน โดยเฉพาะการสัมผัสกับแสงแดดมากเกินไปก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปากแห้งมากขึ้นได้
2. การเลียริมฝีปาก
บางคนชอบเลียริมฝีปากตนเองจนเป็นนิสัย หรือเลียริมฝีปากเวลาปากแห้ง พฤติกรรมนี้จะทำให้ปากแห้งยิ่งขึ้น เพราะน้ำลายจะดึงเอาความชุ่มชื้นจากริมฝีปากและทำให้ปากแห้งมากขึ้น
3. ภาวะขาดน้ำ
ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำมีแนวโน้มปากจะแห้งได้ง่ายกว่าปกติ เพราะร่างกายต้องได้รับน้ำอย่างเพียงพอเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของร่างกาย การดื่มน้ำน้อยอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องผูก รวมไปถึงปากแห้งลอก
4. การขาดสารอาหาร
การขาดวิตามินและสารอาหารบางอย่าง เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี และสังกะสี เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปากแห้งได้เช่นกัน นอกจากจะมีอาการคล้ายภาวะขาดน้ำ อาจทำให้เกิดอาการอื่น เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระดูกเปราะ ฟันผุ และท้องอืดด้วย
5. การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
การใช้ลิปบาล์ม ลิปสติก ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก อาจมีส่วนผสมที่ระคายเคืองต่อริมฝีปาก เช่น น้ำหอม สารแต่งกลิ่นและรส เมนทอล การบูร ยูคาลิปตัส ลาโนลิน (Lanolin) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซึ่งทำให้ปากแห้ง ลอกเป็นขุย แสบได้
6. การใช้ยารักษาโรคหรืออาหารเสริม
การใช้ยารักษาโรคหรืออาหารเสริมบางชนิด เช่น วิตามินเอ เรตินอยด์ (Retinoids) ยาลิเทียม (Lithium) ยาปฏิชีวนะ ยาสแตติน (Statins) ยาขับปัสสาวะ และยาเคมีบำบัด อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นปากแห้งได้
7. โรคเรื้อรังหรือภาวะทางผิวหนัง
โรคเรื้อรังหรือภาวะทางผิวหนังบางชนิด อาจส่งผลให้ปากแห้ง แตก หรือระคายเคืองได้ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคไลเคนพลานัส (Lichen Planus) โรคไทรอยด์ และโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus Erythematosus)
วิธีดูแลปากแห้งให้นุ่มชุ่มชื้น
การดูแลรักษาริมฝีปากแห้งให้กลับมาดูดีนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงดูแลให้ริมฝีปากมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ด้วยวิธีต่อไปนี้
บำรุงริมฝีปากด้วยลิปบาล์ม
ลิปบาล์มจะให้ความชุ่มชื้นและเป็นเสมือนเกราะป้องกันจากแสงอาทิตย์ ลม หรือสภาพอากาศที่แห้ง ควรใช้ลิปบาล์มที่มีส่วนประกอบของปิโตรเลียม (Petroleum) ไขผึ้ง (Beeswax) และสารที่ช่วยบำรุงปากแห้ง เช่น เซราไมด์ (Ceramide) และเชียบัตเตอร์ (Shea butter) และน้ำมันละหุ่ง (Castor Oil)
หากต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งซึ่งต้องสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน ควรเลือกใช้ลิปบาล์มชนิดป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป และมีสารกันแดด เช่น ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหากทำกิจกรรมกลางแจ้ง
หลีกเลี่ยงใช้ลิปบาล์มแบบกระปุกหรือที่ต้องใช้นิ้วมือป้ายทาปาก เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย หากปากแห้งมากและนอนในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ควรเลือกลิปบาล์มชนิดขี้ผึ้งที่ให้ความชุ่มชื้นได้ยาวนาน
ไม่แกะ ดึง และเลียริมฝีปากที่แห้งแตก
ไม่ควรเลีย เม้ม หรือกัดริมฝีปากบ่อยเกินไป เพราะน้ำลายจะทำลายความชุ่มชื้นบนริมฝีปากและยิ่งทำให้ปากแห้ง หากปากแห้งแตกและลอกเป็นขุย ไม่ควรแกะ ดึง หรือสครับขุยที่ริมฝีปากออกมา เพราะจะยิ่งทำให้อาการปากแห้งรุนแรงขึ้น และมีเลือดออก
หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
ขณะที่มีอาการปากแห้ง ลอก แสบ บวมแดง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ลิปบาล์มที่มีกลิ่นหอม โดยสังเกตอาการบริเวณริมฝีปากหลังใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หากพบอาการแพ้หรือระคายเคือง ควรหยุดใช้
ดื่มน้ำ และหลักเลี่ยงอาหารบางชนิด
ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ และรักษาความชุ่มชื้นของริมฝีปากเอาไว้ และงดรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารรสเผ็ดและเปรี้ยวที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองขณะที่ปากแห้ง แตก และมีแผล
สังเกตอาการปากแห้งที่ควรไปพบแพทย์
หากดูแลรักษาปากแห้งด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป และควรไปพบแพทย์หากมีอาการของภาวะริมฝีปากอักเสบ (Cheilitis) ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราเข้าไปทางรอยแตกของริมฝีปากที่แห้ง เช่น
- ปากแห้ง แตก หรือลอกอย่างรุนแรง
- ริมฝีปากเป็นสีชมพูเข้มหรือสีแดงจัด
- ริมฝีปากมีผิวสัมผัสที่ไม่ราบเรียบ
- เกิดเป็นแผลเปื่อย แผลอักเสบ หรือแผลพุพอง
- เกิดเป็นคราบขาวที่ริมฝีปาก
- มีอาการเจ็บแสบที่ริมฝีปาก
แพทย์จะพิจารณาได้ว่าเป็นอาการของปากแห้งที่เกิดขึ้นทั่วไปหรือภาวะริมฝีปากอักเสบ และทำการรักษาต่อไป นอกจากนี้ หากมีอาการของภาวะขาดน้ำหรือขาดสารอาหาร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา การรักษาอย่างเหมาะสมตามสาเหตุกับแพทย์จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการปากแห้งรุนแรงขึ้นและหายได้เร็ว และยังลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพด้วย