ผดร้อนในเด็กกับการดูแลอย่างถูกวิธี

ผดร้อน เป็นปัญหากวนใจที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน แม้อาการของผดร้อนมักไม่รุนแรงและอาจหายไปเองภายในเวลาไม่กี่วัน แต่สามารถทำให้เกิดอาการคันหรือความรู้สึกไม่สบายตัวจนลูกร้องงอแงได้ 

คุณพ่อคุณแม่อาจเกิดความสับสนระหว่างผดร้อนกับผื่นชนิดอื่น โดยทั่วไป หากลูกมีผื่นขึ้นเมื่ออากาศร้อนและมีเหงื่อออกก็อาจสงสัยได้ว่าน่าจะเป็นผดร้อน บทความนี้จะช่วยให้สังเกตอาการของผดร้อนในเด็กและวิธีดูแลลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม

ผดร้อนในเด็กกับการดูแลอย่างถูกวิธี

สาเหตุและอาการของผดร้อนในเด็ก

ผดร้อนจะเกิดได้บ่อยในช่วงที่มีอากาศร้อนและชื้น โดยสาเหตุหลักนั้นมาจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้ผิวหนังระบายเหงื่อออกไปไม่ได้จนเกิดเป็นผื่นในชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งการอุดตันของต่อมเหงื่ออาจเกิดจากต่อมเหงื่อของเด็กยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ การปกปิดร่างกายจนทำให้เกิดความร้อน การเสียดสีหรือเนื้อผ้าระบายอากาศได้ไม่ดี การห่มผ้าที่หนาเกินไป การปิดผิวหนังด้วยพลาสเตอร์ การใช้ครีมหรือผลิตภัณฑ์ทาผิว หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก

อาการทั่วไปของผดร้อน คือ อาการคัน ผิวเป็นรอยแดง ตึงหรือแสบผิว และมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย โดยตุ่มที่เกิดขึ้นอาจมีลักษณะคล้ายตุ่มน้ำใส ตุ่มสีเนื้อขนาดเล็กหรือตุ่มหนองขึ้นบนผิว โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกเสียดสีได้ง่าย หากเป็นทารกและเด็กเล็กมักจะเกิดผดร้อนบริเวณคอ หัวไหล่ หน้าอก รักแร้ ขาหนีบหรือตามข้อพับ ส่วนเด็กโตมักจะพบในบริเวณหน้าอกหรือหลัง 

ลูกเป็นผดร้อน พ่อแม่ควรทำอย่างไร?

ผดร้อนสามารถหายได้เองเมื่อเด็กอยู่ในสภาพอากาศที่เย็นลง ผู้ปกครองจึงควรให้เด็กอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นสบายหรือมีอากาศถ่ายเท อย่างในที่ร่มหรือในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ และอาจทำให้ร่างกายของลูกเย็นลงด้วยการใช้ผ้าเปียกวางบนผิวหนังที่เกิดผดร้อน แต่หากผดร้อนมีบริเวณกว้างอาจให้เด็กอาบน้ำเย็นอย่างน้อยสัก 10 นาทีเพื่อบรรเทาอาการ และหลีกเลี่ยงใช้สบู่เพื่อป้องกันการระคายเคือง โดยหลังจากอาบน้ำควรเป่าตัวเด็กให้แห้งด้วยพัดลมแทนการใช้ผ้าเช็ดตัวเพื่อลดการเสียดสี ในกรณีที่เด็กมีอาการคันสามารถใช้ยาขี้ผึ้งหรือผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวเพื่อบรรเทาอาการ อย่างคาลาไมน์หรือลาโนลิน

สิ่งสำคัญคือไม่ควรใช้แป้งเด็กทาทับบริเวณที่เกิดผดร้อน เพราะอาจไปอุดตันรูขุมขนจนทำให้ผิวหนังเกิดความร้อน และไม่ควรใช้ผ้าอ้อมที่ทำจากพลาสติกเพราะจะยิ่งทำให้เกิดความร้อนและผิวของลูกระคายเคืองมากขึ้น 

วิธีป้องกันผดร้อนในเด็ก

เมื่อลูกมีผดร้อนเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจบรรเทาอาการคันหรือป้องกันอาการลุกลามได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนหรือชื้น หากอยู่กลางแจ้งหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน ควรพกพัดหรือพัดลมพกพาเพื่อช่วยให้ร่างกายของเด็กเย็นลง
  • ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก ๆ ควรหมั่นสังเกตผิวของลูกอยู่เสมอ โดยเฉพาะลำคอ หว่างขา และบริเวณข้อพับอื่น ๆ ที่มีเหงื่อออกมาก หากผิวหนังของลูกมีความร้อน ชื้นหรือมีเหงื่อออกมาก ควรล้างบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำเย็นและทำให้ผิวหนังแห้งอยู่เสมอ
  • สังเกตอุณหภูมิร่างกายของเด็กอยู่เสมอ โดยอาจสังเกตจากผิวที่เป็นสีฝาดหรือเสื้อผ้าที่เปียกชื้น
  • พยายามให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในระหว่างทำกิจกรรมนอกบ้านหรืออยู่กลางแจ้ง
  • ให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าบางเบาและระบายอากาศได้ดี โดยให้หลีกเลี่ยงเนื้อผ้าที่ทำมาจากใยสังเคราะห์ อย่างโพลีเอสเตอร์และไนลอน 

โดยทั่วไป อาการผดร้อนจะดีขึ้นเองเมื่ออากาศเย็นลง แต่หากผดคงอยู่นานกว่า 2–3 วัน ผิวหนังมีอาการติดเชื้อหรือมีอาการที่รุนแรงขึ้น มีอาการเจ็บ บวม เป็นรอยแดงที่ผิวหนัง รู้สึกอุ่น ๆ บริเวณรอบผด มีไข้ หนาวสั่น เกิดแผลพุพอง มีหนองไหลออกจากปากแผล หรือต่อมน้ำเหลืองบวมในบริเวณคอ รักแร้หรือเชิงกราน คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและดูแลอย่างถูกวิธี