ผมหงอกก่อนวัย เข้าใจสาเหตุและแนวทางป้องกัน

ผมหงอกก่อนวัยเป็นปัญหาที่หลายคนรู้สึกหนักใจ เพราะโดยส่วนใหญ่คนเราจะมีสีผมสม่ำเสมอโดยไม่มีผมหงอกหรือผมขาว เว้นแต่ว่าจะเข้าสู่วัยกลางคน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีผมหงอกขึ้นบนศีรษะได้ตามปกติ ดังนั้นเมื่อสังเกตเห็นว่าตัวเองมีผมหงอกขึ้นทั้งที่อายุยังน้อย จึงมักทำให้เกิดความเครียด กังวลและสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง

โดยปกติแล้ว สภาพผมของเราจะเปลี่ยนแปลงและเสื่อมถอยไปตามวัยเหมือนกับการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย คนทั่วไปมักเริ่มมีผมหงอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 30-40 ปี แต่ผู้ที่มีผมหงอกก่อนวัยอาจเริ่มสังเกตเห็นผมหงอกได้ก่อนคนทั่วไปถึง 10 ปี หรือมีอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น หลายคนอาจสงสัยว่าผมหงอกก่อนวัยเกิดจากอะไร และมีแนวทางป้องกันหรือไม่ บทความนี้ได้รวบรวมคำตอบทั้งหมดไว้คลายข้อสงสัยให้คุณแล้ว

Close,Up,Portrait,Of,The,Hair,Of,A,Forty,Years

ผมหงอกก่อนวัยเป็นอย่างไร

สีผิวของคนเราแตกต่างกัน เส้นผมของแต่ละคนก็มีสีที่แตกต่างกันไป เป็นเพราะเส้นผมประกอบด้วยเซลล์เม็ดสีที่เรียกว่าเมลานิน (Melanin) 2 ชนิดอยู่ในต่อมรากผม (Hair Follicle) ทำให้ผมมีสีเข้มและอ่อนแตกต่างกันไป ได้แก่ ยูเมลานิน (Eumelanin) ที่ทำให้ผมมีสีดำและน้ำตาล และฟีโอเมลานิน (Pheomelanin) ที่ทำให้ผมมีสีน้ำตาลแดง แต่เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะสร้างเมลานินได้ลดลง ทำให้สีผมอ่อนลงจากเดิม จากผมที่เคยสีเข้มจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเทา สีเงิน หรือสีขาว หรือที่เรียกว่าผมหงอกนั่นเอง

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ที่มีผิวขาวอย่างชาวยุโรป มักเริ่มมีผมหงอกเมื่ออายุประมาณ 35 ปี ชาวเอเชียจะเริ่มมีผมหงอกเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30 ตอนปลาย ส่วนชาวแอฟริกันอเมริกันอาจเริ่มมีผมหงอกช้ากว่า โดยเริ่มที่ช่วงอายุ 40 ปีเป็นต้นไป แต่สำหรับผู้ที่มีผมหงอกก่อนวัยอาจพบว่าตนเองมีผมหงอกได้เร็วกว่าปกติ โดยชาวยุโรปอาจพบเมื่อมีอายุเพียง 20 ปี ชาวเอเชียอาจพบได้เมื่อมีอายุประมาณ 25 ปี และชาวแอฟริกันอเมริกันอาจพบได้ในช่วงอายุ 30 ปี

ผมหงอกก่อนวัยเกิดจากอะไรได้บ้าง

ผมหงอกก่อนวัยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอกดังนี้

1. กรรมพันธุ์

หนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดผมหงอกก่อนวัย คือ การได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัว หากพ่อแม่หรือญาติที่มีประวัติผมหงอกก่อนวัย อาจทำให้คุณมีโอกาสมีผมหงอกก่อนวัยได้

นอกจากนี้ยังพบว่าโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis) และโรค Tuberous Sclerosis อาจทำให้เกิดผมหงอกก่อนวัยได้ แต่สาเหตุเหล่านั้นพบได้น้อย

2. การขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด

เมื่อร่างกายขาดสารอาหาร วิตามินหรือแร่ธาตุที่จำเป็น อาจส่งผลกระทบต่อระบบในร่างกายและสุขภาพได้ โดยเฉพาะเมื่อร่างกายขาดวิตามินบี 12 ที่มีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตและสุขภาพของเส้นผมจึงอาจทำให้เกิดปัญหาผมหงอกก่อนวัยได้ ส่วนสาเหตุอาจมาจากการบริโภคอาหารที่มีวิตามินบี 12 ต่ำ อย่างอาหารมังสวิรัติ หรือเกิดร่วมกับภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 (Pernicious Anemia) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12 ได้อย่างเพียงพอ ทำให้เซลล์รากผมอ่อนแอ และอาจทำให้ร่างกายสร้างเมลานินได้น้อยลง จึงทำให้เส้นผมมีสีอ่อนลงกว่าปกติ

นอกจากนี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าเหล็กและทองแดงมีผลต่อการเจริญเติบโตของผมและปริมาณเม็ดสีในผม และยังสันนิษฐานว่าปัญหาผมหงอกก่อนวัยอาจเป็นสัญญาณของโรคกระดูกบาง (Osteopenia) ซึ่งเกิดจากการขาดแคลเซียมและวิตามินดี 3 ได้เช่นกัน

3. โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง

โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease) เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันจะทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อจึงอาจส่งผลต่อการผลิตเม็ดสีและอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาผมหงอกก่อนวัยได้ โดยโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาผมหงอกก่อนวัยได้

  • โรคด่างขาว (Vitiligo) เป็นภาวะที่เซลล์ซึ่งมีหน้าที่ผลิตเม็ดสีถูกทำลายหรือหยุดทำงาน ทำให้ผิวหนังเกิดเป็นด่างสีขาวกระจายทั่วร่างกาย และอาจทำให้เส้นผมมีสีขาวเป็นหย่อม ๆ เกิดผมหงอกก่อนวัยขึ้นได้
  • โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายต่อมรากผมจนทำให้ผมร่วง ซึ่งผมที่งอกขึ้นมาใหม่อาจเป็นสีขาวหรือสีเทาในระยะแรก และผมสีตามธรรมชาติจะค่อย ๆ ขึ้นตามมาในภายหลัง

4. โรคไทรอยด์

ผู้ที่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Disorder) อย่างโรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) และภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากหรือน้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการผมร่วง ผมบาง หรือเปราะขาดง่าย และอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดผมหงอกก่อนวัยได้ เนื่องจากกระทบต่อกระบวนการสร้างเมลานินที่ลดลงกว่าปกติ

5. ความเครียด

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทดลองในหนู พบว่านอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อความเครียด มีผลทำให้เซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีในต่อมขนถูกทำลาย ทำให้ขนที่ขึ้นมาใหม่เป็นสีเทา จึงสันนิษฐานว่านอร์อิพิเนฟรินอาจทำให้การทำงานของต่อมรากผมผิดปกติ และเกิดผมหงอกก่อนวัยได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ และยังคงต้องการผลการศึกษาเพิ่มเติมในคนต่อไป

ความเครียดยังอาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้วงจรของเส้นผมเข้าสู่ระยะหลุดร่วงเร็วขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดภาวะผมร่วงทั่วทั้งศีรษะ (Telogen Effluvium) ซึ่งเป็นภาวะที่ผมร่วงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นชั่วคราว และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษา แต่หากผู้ป่วยเริ่มมีอายุในช่วงวัยกลางคน ผมที่งอกขึ้นมาใหม่อาจกลายเป็นผมหงอกได้

6. การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดผมหงอกก่อนวัยได้เช่นกัน เพราะบุหรี่อาจทำให้หลอดเลือดตีบ และส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังต่อมรากผมได้น้อยลงจนทำให้ผมร่วงและไม่แข็งแรง นอกจากนี้สารเคมีในบุหรี่อาจส่งผลเสียต่อกระบวนการการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งต่อมรากผม จึงอาจทำให้เกิดผมหงอกก่อนวัยได้

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดปัญหาผมหงอกก่อนอายุ 30 ปีมากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบถึง 2.5 เท่า แต่ข้อมูลดังกล่าวอาจยังไม่เพียงพอที่จะสรุปผลได้ จึงต้องการผลการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตเกี่ยวกับอิทธิพลของการสูบบุหรี่ต่อการเกิดผมหงอกก่อนวัย

ปรับพฤติกรรม ป้องกันผมหงอกก่อนวัย

เนื่องจากผมหงอกก่อนวัยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หากเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาจไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันหรือเปลี่ยนสีผมให้กลับมาเป็นปกติได้อย่างถาวร อย่างไรก็ตามเราอาจลดความเสี่ยงของการเกิดผมหงอกก่อนวัยได้ โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • เลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายของต่อมรากผมที่อาจทำให้เกิดผมหงอก หากไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีเลิกบุหรี่อย่างเหมาะสม และเมื่อรู้สึกเครียดจากการเลิกสูบบุหรี่ อาจหากิจกรรมอื่นทำทดแทน อย่างการออกกำลังกายหรือใช้เวลาร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อช่วยให้มีกำลังใจในการเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินบี 12 โอเมก้า3 ธาตุเหล็ก ทองแดง และสังกะสีสูง เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา ตับ ไข่ นมไขมันต่ำ ผักใบเขียว ถั่วและธัญพืชชนิดต่าง ๆ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือสงสัยว่ามีอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผมหงอกก่อนวัย อย่างโรคทางพันธุกรรม โรคไทรอยด์ หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ผมหงอกก่อนวัยมักมีสาเหตุหลักมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัวและโรคบางกลุ่ม เช่น โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ พันธุกรรม หรือภูมิคุ้มกัน แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างอาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาผมหงอกก่อนวัยได้เช่นกัน ทั้งนี้หากใช้วิธีปรับพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล หรือมีอาการผมหงอกผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป