กินผงชูรสเยอะอันตรายไหม? เป็นคำถามที่คนไทยหลายคนอาจกังวลหรือเคยสงสัย เนื่องจากคนไทยจำนวนไม่น้อยนิยมใส่ผงชูรสในอาหารเพื่อเพิ่มความกลมกล่อม โดยผงชูรสเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน และหลายคนมีความเชื่อว่าผงชูรสอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลายรูปแบบ
ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูเมต (Monosodium Glutamate: MSG) เป็นสารที่พบได้ในวัตถุดิบบางชนิด แม้ว่าโดยส่วนใหญ่การกินผงชูรสจะปลอดภัย แต่การกินมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียได้ มาดูกันว่าการกินผงชูรสเยอะอาจส่งผลต่อสุขภาพในด้านไหนบ้าง
กินผงชูรสเยอะส่งผลอย่างไร อันตรายไหม
โดยปกติแล้ว การกินหรือการได้รับผงชูรสจากอาหารทั่วไปในชีวิตประจำวันไม่ส่งผลเสียหรือมีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ และไม่ได้ส่งผลให้ผมร่วงหรือหัวล้านแบบที่หลายคนเชื่อกัน เพราะผงชูรสจัดเป็นโซเดียมชนิดหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจึงไม่ต่างจากการได้รับเกลือ
แต่ในบางครั้งและในบางคน การกินผงชูรสมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้
ทำให้เกิดกลุ่มอาการเอ็มเอสจี (MSG Syndrome)
กลุ่มอาการเอ็มเอสจีเป็นภาวะที่ร่างกายไวต่อผงชูรส อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับผงชูรสเข้าสู่ร่างกายมากกว่า 3 กรัมต่อมื้อ และส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว รู้สึกตึงตามใบหน้า ตัวแดง เหน็บชาตามใบหน้าและคอ หัวใจเต้นรัว ง่วงซึม เจ็บหน้าอก และคลื่นไส้
โดยมักจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หายได้เอง ไม่อันตราย และไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรระมัดระวังไม่กินผงชูรสเยอะเกินไป เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบข้อมูลที่แน่ชัดว่าผงชูรสทำให้เกิดอาการเหล่านี้ขึ้นได้อย่างไร
อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่อาจนำไปสู่โรคเรื้อรังชนิดอื่น ๆ ได้หลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต
การศึกษาชิ้นหนึ่งได้ทดสอบผลกระทบของผงชูรสต่อระดับความดันโลหิตในผู้หญิงและผู้ชาย 1,227 คน พบว่า ผู้เข้าทดสอบบางส่วนมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นหลังการได้รับผงชูรส โดยเฉพาะผู้หญิงและคนที่ใช้ยาลดความดันโลหิต แต่การศึกษานี้ใช้ปริมาณผงชูรสที่สูงเกินความเป็นจริงของปริมาณผงชูรสที่คนทั่วไปจะได้รับในชีวิตประจำวัน ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ข้อมูลนี้จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก
แม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับผงชูรสกับภาวะความดันโลหิตสูงโดยตรงจะยังจำกัด แต่ก็ควรระมัดระวัง เพราะผงชูรสจัดเป็นโซเดียมประเภทหนึ่ง ซึ่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่าการได้รับสารอาหารกลุ่มโซเดียมอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูงได้
นอกจากนี้ การศึกษาบางชิ้นยังพบว่าการกินผงชูรสมากเกินไปอาจส่งผลต่อโรคหืดหอบ การบาดเจ็บในสมอง และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ แต่ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบดังกล่าว
วิธีหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการกินผงชูรสเยอะ
เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพซึ่งอาจเกิดจากการกินผงชูรสมากเกินไป อาจลองใช้วิธีต่อไปนี้
- จำกัดปริมาณของผงชูรสให้น้อยที่สุดที่เท่าทำได้ โดยเฉพาะการปรุงอาหารรสจัดที่มักต้องใส่เกลือหรือน้ำปลาปริมาณมาก การใส่ผงชูรสเพิ่มเข้าไปจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากขึ้น
- ลดโซเดียมชนิดอื่น เช่น เกลือและน้ำปลา รวมทั้งลดปริมาณน้ำจิ้มที่ใช้กินคู่กับอาหาร
- ลองปรุงอาหารด้วยวัตถุดิบที่มีผงชูรสเป็นส่วนประกอบตามธรรมชาติ เช่น มะเขือเทศ เห็ด และชีส ซึ่งช่วยเพิ่มความกลมกล่อมให้กับอาหารได้ และยังได้ประโยชน์จากสารอาหารในวัตถุดิบอีกด้วย
- เลี่ยงการใส่ผงชูรสเมื่อทำอาหารให้เด็ก ๆ เพราะมีข้อมูลที่ชี้ว่าผงชูรสอาจกระตุ้นอาการโรคหอบและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
- เลือกอาหารที่ระบุว่าไม่มีส่วนประกอบของผงชูรส หรือแจ้งร้านอาหารว่าไม่ต้องการใส่ผงชูรสในอาหาร
- ใช้เครื่องเทศเพื่อเพิ่มรสชาติแทนการใช้ผงชูรส
- กินอาหารที่ปรุงน้อยหรือไม่ปรุงเลย เพื่อลดการได้รับโซเดียมมากเกินไป
- งดและจำกัดอาหารสำเร็จรูปและอาหารแปรรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไส้กรอก แฮม เบคอน อาหารกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว เพราะอาหารประเภทนี้มีผงชูรสและโซเดียมสูง
แม้ว่าการกินผงชูรสเยอะเป็นครั้งคราวจะไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ก็ควรระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีภาวะไวต่อผงชูรสหรือมีความเสี่ยงต่อโรคความดันสูง หากกินผงชูรสแล้วเกิดอาการผิดปกติ และอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม