ผลข้างเคียงจากการทำคีโมและวิธีบรรเทาอาการ

คีโมหรือเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ใช้ยาหลายรูปเพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การเพิ่มจำนวนของเนื้องอก และป้องกันเซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นในร่างกาย ซึ่งการนำคีโมมาใช้รักษาโรคมะเร็งจะมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น

เนื่องจากการรักษามะเร็งด้วยการทำคีโมจะทำลายเซลล์ปกติไปพร้อมกับการทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังรักษาด้วยคีโมจึงควรทราบวิธีบรรเทาผลข้างเคียงในเบื้องต้น เพื่อช่วยให้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้ตามปกติ

ผลข้างเคียงจากการทำคีโมและวิธีบรรเทาอาการ

ผลข้างเคียงจากการทำคีโมที่อาจเกิดขึ้น

การทำคีโมอาจส่งผลให้ร่างกายของผู้รับการรักษาเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ดังนี้

  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ผมและขนในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายหลุดร่วง โดยอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร และเมื่อผมหรือขนขึ้นใหม่อีกครั้งก็อาจมีลักษณะและสีที่แตกต่างไปจากเดิม
  • มีเลือดออกง่าย เกิดรอยช้ำตามร่างกายแม้ไม่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาอาจทำลายเกล็ดเลือดที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว
  • รู้สึกเจ็บหรือปวดตามร่างกาย อาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ปวดหัว ปวดท้อง และปวดตามกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  • ท้องผูก ท้องอืด ท้องเสีย อุจจาระเหลว กลั้นอุจจาระไม่ได้ และอาจมีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance) ชั่วคราวร่วมด้วย
  • เกิดภาวะขาดน้ำ โดยอาจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังการอาเจียนหรือท้องเสียอย่างต่อเนื่อง
  • เกิดแผลในปากและลำคอจนอาจเป็นอุปสรรคในการกินอาหาร และประสาทการรับรสชาติอาจเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ระบบประสาททำงานผิดปกติ มีอาการอ่อนแรง รู้สึกคล้ายเข็มทิ่ม แสบร้อน เจ็บที่มือและเท้าหรือเกิดเหน็บชา
  • เบื่ออาหารหรือหิวน้อยลงกว่าปกติจนทำให้น้ำหนักลดและไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณที่เพียงพอ
  • เกิดภาวะโลหิตจาง ที่อาจเป็นสาเหตุหลักของการอ่อนเพลียระหว่างการรักษาด้วยคีโม
  • เกิดการติดเชื้อ เนื่องจากการทำคีโมอาจทำลายเม็ดเลือดขาวในระหว่างการรักษาจนร่างกายไม่สามารถต้านเชื้อโรคได้
  • เกิดความผิดปกติที่ผิวและเล็บ เช่น ผิวแห้งหรือเปลี่ยนสี เกิดผื่นบนผิวหนัง เกิดรอยแดง รอบแผล คันและผิวไวต่อแดด เกิดรอยช้ำที่เล็บ ฐานเล็บเปิดออกหรือเกิดเล็บขบ เล็บแห้งหรือเล็บเปราะบาง เป็นต้น
  • มีปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำลายเซลล์ภายในไตหรือกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อ มีเลือดออก อุดตันหรือเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็น
  • เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจหรือลิ้นหัวใจได้รับความเสียหาย บวม เส้นเลือดในหัวใจอุดตันหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

ส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงจากการทำคีโมจะหายไปเมื่อสิ้นสุดการรักษา แต่ยาบางชนิดอาจส่งผลให้ผู้ป่วยยังคงมีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องหลังสิ้นสุดการรักษาได้เช่นกัน โดยอาจเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ หรือมีอาการอยู่หลายปี นอกจากนี้ หากการทำคีโมส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะในร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ ไตหรืออวัยวะสืบพันธุ์ ก็อาจทำให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงถาวรได้

วิธีลดผลข้างเคียงจากการทำคีโม

ผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงหลังจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยคีโม สามารถบรรเทาอาการในเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้

อ่อนเพลีย

เมื่อรู้สึกอ่อนเพลียหรือไม่มีแรง ควรพักหรือนอนหลับเป็นเวลาสั้น ๆ ประมาณ 15–20 นาที กินอาหารที่มีประโยชน์และได้สารอาหารครบถ้วน เดินออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอหรืออย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน สังเกตอาการอ่อนเพลียระหว่างวันของตนเองอยู่เสมอ จัดตารางการทำงานและการพักผ่อนให้สมดุล และจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาอย่างเหมาะสม

คลื่นไส้และอาเจียน

ผู้ป่วยที่รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียนเนื่องจากการทำคีโม อาจบรรเทาอาการได้ด้วยการกินอาหารในปริมาณน้อยแทนการกินมื้อใหญ่ โดยให้แบ่งเป็นหลายมื้อแทน เคี้ยวอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด ไม่ควรรีบกินเร็วเกินไป และไม่ควรกินอาหารที่มีอุณหภูมิร้อนสลับกับเย็นในมื้อเดียวกัน

รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารบางชนิด เช่น ของทอด อาหารที่มีรสเผ็ด อาหารไขมันสูง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างกาแฟ ชาหรือน้ำอัดลม นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวัน สามารถดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำได้ และควรดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหารแทนการดื่มน้ำร่วมกับกินอาหาร

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการบ้วนปากหรือทำความสะอาดช่องปากหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมงเพราะการบ้วนปากอาจกระตุ้นให้เกิดการอาเจียนได้

ผมร่วงหรือผมบางลง

ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสระผมด้วยน้ำร้อน เลือกใช้แชมพูและครีมนวดสูตรอ่อนโยน แต่ไม่ควรสระผมบ่อย สางผมหรือหวีผมบ่อยเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมชนิดต่าง ๆ กับเส้นผม และควรหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนในการเป่าผม โดยให้เช็ดผมให้แห้งด้วยผ้าที่นุ่มแทน รวมไปถึงใช้ปลอกหมอนที่มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่ม และเมื่อต้องอยู่กลางแจ้งควรปกป้องหนังศีรษะจากแสงแดด

ท้องเสียหรือท้องผูก

อาการท้องเสียเนื่องจากการทำคีโมอาจบรรเทาได้ด้วยการดื่มน้ำตลอดทั้งวัน หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง มีไขมันสูง อาหารรสเผ็ด ผักหรือผลไม้บางชนิดที่ต้องกินทั้งเปลือกหรือเมล็ด และอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหาร เช่น องุ่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ข้าวโพด ถั่ว กะหล่ำปลีหรือบล็อคโคลี รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมเนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ารับการทำคีโมอาจมีภาวะแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose Intolerance) เกิดขึ้นชั่วคราว

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกอาจบรรเทาอาการด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน เพื่อให้อุจจาระอ่อนตัวลง กินผักผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด หรืออาหารอื่นที่มีไฟเบอร์สูง ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ และกินยาระบายหรือยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม (Stool Softeners) แต่การกินยาทุกชนิดจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ปากแห้งหรือมีแผลในช่องปาก

หากการทำคีโมส่งผลให้เกิดอาการปากแห้งและแผลในช่องปาก ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการด้วยการกินอาหารที่อ่อนนิ่มเพื่อช่วยให้กลืนได้ง่ายขึ้น ดื่มน้ำและทาลิปมันเป็นประจำ ใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม อมน้ำแข็งก้อนเล็กหรือเคี้ยวหมากฝรั่งไม่มีน้ำตาลเพื่อคงความชุ่มชื้นภายในช่องปาก และควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าทุกครั้งก่อนมื้ออาหารด้วย

อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) และแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแผลในช่องปาก งดการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสเค็มและเผ็ด อาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ส้ม มะเขือเทศและน้ำอัดลม เป็นต้น

นอนไม่หลับหรือหลับยาก

การรักษาโรคมะเร็งด้วยคีโมอาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายมีภาวะนอนไม่หลับ หากมีปัญหาในการนอนหลับอาจแก้ไขโดยการสร้างความผ่อนคลายก่อนนอน เช่น ฝึกการหายใจ อาบน้ำอุ่น ฟังเพลงที่มีจังหวะเบา ๆ หรืออ่านหนังสือ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน กำหนดเวลาตื่นและเวลานอน ไม่ควรนอนหลับระหว่างวันบ่อยครั้ง และใช้ผ้าม่านที่มีความหนาเพื่อป้องกันแสงรบกวนระหว่างการนอนหลับ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังรักษาโรคมะเร็งด้วยคีโมและผู้ที่รักษาเสร็จสิ้นแล้วควรสังเกตอาการผิดปกติของตนเองอยู่เสมอ หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น มีไข้สูงและปวดหัวผิดปกติ เลือดออกง่ายหรือมีรอยช้ำที่ไม่ทราบสาเหตุ เกิดภาวะซึมเศร้าต่อเนื่อง คลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด หรือเกิดอาการแพ้ โดยสังเกตได้จากลิ้นหรือปากบวม กลืนลำบาก เกิดผื่น คันอย่างรุนแรงและหายใจลำบาก ผู้ป่วยควรพบแพทย์หรือนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด