ผักร็อกเก็ตหรืออารูกูล่า (Arugula) เป็นผักใบเขียวชนิดหนึ่งที่มีรสชาติเผ็ดปนขม มีกลิ่นฉุน นิยมนำมารับประทานสด โดยพบได้บ่อยในเมนูสลัดและอาหารตะวันตก กล่าวกันว่าผักร็อกเก็ตมีสารอาหารหลายชนิดที่ช่วยบำรุงสุขภาพของดวงตาและหัวใจ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ
อารูกูล่าประกอบได้ด้วยแร่ธาตุ สารอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโฟเลต ลูทีน ซีแซนทีน ใยอาหาร และแคโรทีนอยด์ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ล้วนมีงานวิจัยที่แสดงถึงคุณสมบัติด้านการบำรุงสุขภาพและป้องกันโรค
ผักร็อกเก็ตกับคุณประโยชน์
การบริโภคผักร็อกเก็ตเป็นประจำในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอและอาจช่วยบำรุงสุขภาพได้ ดังนี้
ป้องกันโรคหัวใจ
โรคหัวใจเป็นโรคเรื้อรังที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตได้ โดยหนึ่งในสาเหตุของโรคคือการเพิ่มขึ้นของสารโฮโมซิสทีน (Homocysteine) ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง หากสารชนิดนี้อยู่ในระดับปกติจะไม่ส่งผลเสียแต่อย่างใด แต่เมื่อสารโฮโมซิสทีนเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าปกติ ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอาจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสารชนิดนี้มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการอักเสบบริเวณหลอดเลือดหัวใจ
ทั้งนี้ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงระหว่างโฟเลตหรือวิตามินบี 9 กับระดับสารโฮโมซิสทีนภายในเลือด โดยการศึกษาพบว่าการได้รับโฟเลตอย่างเพียงพออาจช่วยลดระดับของสารโฮโมซิสทีน จึงอาจลดความเสี่ยงในการเกิดการอักเสบของหลอดเลือดลงได้ ดังนั้น การบริโภคผักร็อกเก็ตที่มีโฟเลตอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการดูแลตนเอง ทั้งการออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่น ๆ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้
นอกจากนี้ ผักชนิดนี้ยังอุดมไปด้วยใยอาหารหรือไฟเบอร์ที่ช่วยกำจัดไขมันส่วนเกินจากการรับประทานอาหารได้อีกด้วย ซึ่งไขมันส่วนเกินก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดและทำให้เกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน
บำรุงสายตา
การเสื่อมของร่างกายตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลให้ดวงตามองเห็นแตกต่างไปจากเดิม อีกทั้งวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่ต้องเผชิญแสงแดดและแสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจช่วยเร่งให้ดวงตาเกิดการเสื่อมสภาพและเกิดความผิดปกติได้ไว อย่างตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด ไปจนถึงเกิดโรคตาที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น
สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) อย่างเช่นลูทีนและซีแซนทีนที่มีในผักร็อกเก็ตนั้นมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ จึงอาจช่วยลดความเสียหายและการอักเสบของเซลล์ภายในดวงตาจนอาจนำไปสู่โรคตา อย่างโรคต้อกระจกและโรคจอประสาทตาเสื่อม (AMD: Age-related Macular Degeneration) อันเป็นผลมาจากการเสื่อมของดวงตาที่เกิดจากอายุ นอกจากนี้ การบริโภคลูทีนและซีแซนทีนในผู้สูงอายุที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคและส่งผลให้มองเห็นได้ดีขึ้น
ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
แคโรทีนอยด์เป็นกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในผักร็อกเก็ตและพืชหลายชนิด โดยสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยปรับสมดุลของสารอนุมูลอิสระ (Free Redicals) ที่เป็นตัวการทำให้เซลล์เกิดการอักเสบและเสียหาย อีกทั้งในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ดังนั้น การได้รับแคโรทีนอยด์อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งและชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด
นอกจากนี้ ผักใบเขียวชนิดนี้ยังมีกลูโคซิโนเลท (Glucosinolates) ที่ทำให้ผักมีรสชาติเผ็ด และเชื่อกันว่าสารนี้อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สรรพคุณเหล่านี้เป็นผลจากการศึกษาบางส่วนเท่านั้น โดยในแต่ละการศึกษามีวิธีการทดลอง ปริมาณของสารอาหาร และผู้เข้าร่วมการทดลองที่แตกต่างกัน อีกทั้งบางงานยังมีข้อจำกัดที่ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม ดังนั้น จึงควรรับประทานผักร็อกเก็ตในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอและสุขภาพแข็งแรง หากมีโรคหรืออาการใด ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถรักษาโรคได้ จึงจำเป็นต้องทำร่วมกับการรักษาจากแพทย์
ผักร็อกเก็ตบริโภคอย่างไรให้ปลอดภัย ?
โดยทั่วไปแล้วการบริโภคผักร็อกเก็ตมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และยังเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรระวังเรื่องการปนเปื้อนสารเคมีและเชื้อโรค เนื่องจากผักชนิดนี้มักนำมารับประทานแบบสดและไม่ผ่านความร้อน จึงอาจเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมี ยาฆ่าแมลง เชื้อแบคทีเรียและพยาธิที่มาจากปุ๋ยหรือจากในธรรมชาติ ดังนั้น ก่อนนำมารับประทานจึงควรล้างผักให้สะอาด นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และผู้ที่ใช้ยา โดยเฉพาะยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Blood Thinner) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานผักชนิดนี้ในปริมาณมาก เพื่อป้องกันผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผักร็อกเก็ตมีประโยชน์มาก แต่ก็ควรรับประทานร่วมกับผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่นด้วย อีกทั้งควรออกกำลังกายเพื่อให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของสุขภาพที่แข็งแรง