ผิวขาวเป็นสีผิวที่หลายคนนิยมชมชอบว่าเป็นผิวที่สุขภาพดี จนเกิดเป็นค่านิยมต้องการปรับสีผิวให้ขาวใสมากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายโดยไม่รู้ตัว การดูแลผิวให้กระจ่างใสอย่างปลอดภัยและสุขภาพดีสามารถทำได้หากเลือกวิธีการที่ถูกต้อง
ทำไมสีผิวถึงแตกต่างกัน ?
สีผิวของแต่ละคนถูกกำหนดด้วยจำนวนเมลานิน ซึ่งเป็นเม็ดสีที่ผลิตได้จากเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ ยิ่งมีเม็ดสีมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้สีผิวของคนนั้นเข้มมากเท่าขึ้น เช่น คนผิวดำจะมีเม็ดสีมากกว่าคนผิวขาว จึงทำให้สีผิวเข้มกว่าคนผิวขาว
จำนวนเม็ดสีหรือเมลานินในผิวหนังจะถูกกำหนดจากลักษณะทางพันธุกรรมของแต่ละครอบครัวเป็นหลัก ส่วนปัจจัยอื่น ๆ มาจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น การโดนแสงแดด ฮอร์โมน ผิวหนังได้รับความเสียหาย หรือสารเคมีอันตราย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อกระบวนการผลิตเม็ดสีได้เช่นกัน
ผิวหนังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเองเป็นอัตโนมัติเมื่อเจอกับสภาพแวดล้อมเหล่านี้ เช่น เมื่อไม่ตากแดด ผิวสีเข้มก็อาจดูขาวขึ้นได้ หรือการตากแดดบ่อย ๆ เป็นเวลานานก็สามารถทำให้เกิดริ้วรอยและกระจากแดดได้
วิธีการดูแลผิวให้ขาวกระจ่างใส
การปรับผิวให้ขาวกระจ่างใสขึ้นสามารถทำได้หลายทาง แต่มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องสีผิวดั้งเดิมของแต่ละคนที่มีส่วนอย่างมากต่อในการเปลี่ยนแปลงสีผิวให้ดูอ่อนลง บางวิธีค่อนข้างปลอดภัย บางวิธีอาจเป็นอันตรายในระยะยาว จึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนการตัดสินใจ
การขัดผิวหรือพอกผิว เป็นวิธีการดูแลผิวให้ขาวกระจ่างใสด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติรอบตัวเรา โดยหนึ่งในสารฟอกผิวตามธรรมชาติที่นิยมใช้ คือ สารกรดผลไม้ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของกรดเอเอชเอ (AHA: Alpha Hydroxy Acids) ซึ่งพบได้ทั่วไปในอาหาร โดยเฉพาะผลไม้ เช่น กรดซิตริก (Citric Acid) มีปริมาณมากในมะนาว รวมไปถึงกรดเมลิกในแอปเปิล (Malic Acid) กรดทาร์ทาริกในองุ่น (Tartaric Acid)กรดแลกติกในนมเปรี้ยว (Lactic Acid) หรือกรดไกลโคลิกในน้ำตาลอ้อย (Glycolic Acid) ซึ่งกรดผลไม้เหล่านี้จะช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่ตายแล้วพร้อมกระตุ้นการสร้างผิวหนังขึ้นมาใหม่ อาจใช้เพียงแค่ส่วนผสมเดียวหรือผสมกับส่วนผสมจากธรรมชาติอื่นที่ช่วยในการบำรุงผิว แม้ว่าจะเป็นสารที่ช่วยปรับผิวให้ขาวขึ้นในแบบวิธีธรรมชาติ แต่หากใช้ในปริมาณที่เข้มข้นมากก็สามารถเกิดผลข้างเคียงกับผิวหนัง เพราะอาจจะทำให้ผิวหนังแห้ง เกิดการลอก บวม แดง และสีผิวกระดำกระด่างขึ้นได้
ปกป้องผิวจากแสงแดด ผิวหนังมีเม็ดสีเป็นตัวสำคัญที่ช่วยในการป้องกันอันตรายจากแสงแดด และสามารถฟื้นตัวได้เมื่อไม่ได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก การพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนแสงแดดที่มีความรุนแรงในชีวิตประจำวันจะช่วยให้ผิวไม่เกิดการสร้างเม็ดสีมากขึ้น เช่น การทาครีมกันแดดเป็นประจำ เพื่อช่วยปกป้องผิวเป็นประจำ โดยเลือกครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 เป็นอย่างน้อย ควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมหรืออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ไม่ควรตากแดดในช่วงเวลาที่มีแสงแดดแรง ระหว่างช่วง 10.00-14.00 นาฬิกา สวมเสื้อแขนยาวหรือขายาว กางร่ม หรือใส่หมวกในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลาดังกล่าว
ผลิตภัณฑ์ปรับผิวขาว เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารในกลุ่มสเตียรอยด์ที่มาจากธรรมชาติหรือสังเคราะห์ขึ้น ในทางการแพทย์จะใช้สารฟอกขาวในการรักษาปัญหาด้านผิวหนัง เช่น ฝ้า กระ จุดด่าง รอยแผลเป็นจากสิว เพราะมีคุณสมบัติช่วยลดการสร้างเม็ดสีในผิวหนังหรือหลุดลอกเซลล์ผิว ผิวจึงขาวขึ้นได้ไว จนบางผลิตภัณฑ์กลับนำเอาสารฟอกขาวเหล่านี้ไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและสกินแคร์เกินปริมาณที่กำหนด ทำให้ในประเทศไทยได้จัดสารฟอกขาว เช่น ไฮโดรควิโนน ปรอทแอมโมเนีย เป็นสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับใบหน้า ตัวอย่างสารฟอกผิวขาวอันตรายที่มักถูกนำมาผสมในเครื่องสำอางและสกินแคร์ประเภทบำรุงผิวขาวอย่างแพร่หลาย เช่น
- ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นสารฟอกผิวขาวที่เข้าไปลดการสร้างเม็ดสีในชั้นผิวหนังชั่วคราว แต่ไม่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี ผิวจึงขาวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อหยุดใช้จะทำให้สีผิวกลับมาเข้มเหมือนปกติ เพราะเม็ดสีถูกผลิตขึ้นมาแทนที่ดังเดิม หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือในปริมาณเข้มข้นมาก ผิวหนังอาจมีสีเข้มขึ้น สีผิวไม่สม่ำเสมอ กระดำกระด่าง หรือเกิดฝ้าถาวรได้
- ปรอทแอมโมเนีย (Ammoniated Mercury) ออกฤทธิ์รบกวนเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ที่เป็นตัวการสำคัญในกระบวนการสร้างเม็ดสีให้ทำงานได้น้อยลง ผิวจึงดูขาวกระจ่างขึ้น แต่เมื่อใช้เป็นประจำจะทำให้เกิดการสะสมของสารนี้ในผิวหนังก่อนถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปสะสมยังอวัยวะ โดยเฉพาะบริเวณตับและไต ส่งผลให้เกิดการทำงานของอวัยวะที่ผิดปกติ
- กลูตาไธโอน (Glutathione) ออกฤทธิ์เข้ายับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสเช่นเดียวกับปรอทแอมโมเนีย โดยในทางการแพทย์มักนำมาใช้ในการรักษาโรค แต่กลับให้ผลข้างเคียงด้วยการเปลี่ยนแปลงเม็ดสีของผู้ป่วย ทำให้ผิวขาวขึ้น จึงมักมีคนนำจุดนี้ไปแอบอ้างใช้ในเรื่องการช่วยให้ผิวขาว ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีผลการรับรองความปลอดภัยและประโยชน์เรื่องช่วยผิวขาวอย่างถาวรจากการใช้กลูตาไธโอนในรูปแบบต่าง ๆ
การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวอย่างปลอดภัยจึงจำเป็นต้องดูส่วนผสมบนฉลากของผลิตภัณฑ์ว่ามีสารใดเป็นส่วนประกอบและในปริมาณเท่าไหร่ อาจมีการปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนการเลือกใช้ นอกจากนี้ควรระวังเรื่องส่วนประกอบที่ไม่ได้ระบุไว้บนฉลากอย่างชัดเจน
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นอีกทางที่นิยมมากในการดูแลสุขภาพผิวให้ขาวกระจ่างใส โดยการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารอาหาร วิตามิน หรือแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับผิว โดยมักมีคุณสมบัติเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในเรื่องกระบวนการซ่อมแซมผิว การเปลี่ยนสีผิวชั้นนอก และป้องกันแสงแดด เช่น วิตามินซี วิตามินอี สารสกัดจากเมล็ดองุ่น หรือซิงค์ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรรับประทานตามปริมาณที่ระบุบนฉลากข้างขวดหรือตามแพทย์แนะนำ ศาสตราจารย์ แพทย์ คาเลน อี เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังแห่งวิทยาลัยการแพทย์ (The Mount Sinai School of Medicine's Department of Dermatology) ได้แนะนำบนเว็บไซต์เว็บเอ็มดีว่า ควรรับประทานวิตามินซีประมาณ 1,000-3,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือวิตามินดีควรรับประทานในปริมาณ 400 ไอยูต่อวัน ถึงจะเป็นปริมาณมากเพียงพอต่อร่างกาย แม้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่าง ๆ จะผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้ แต่ยังไม่มีผลการศึกษามากพอในการสรุปถึงประโยชน์ของสารอาหารที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้อย่างแน่นอนเมื่อรับประทานเข้าไป รวมไปถึงการเก็บที่ไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้สารต่าง ๆ เกิดการเสื่อมสลายได้ง่าย การเลือกรับประทานวิตามินเสริมในการดูแลผิวพรรณจึงควรมีการปรึกษาแพทย์ด้านผิวหนังถึงความเหมาะสมและปริมาณในการรับประทาน
เลเซอร์เพื่อผิวขาว เป็นเทคโนโลยีความงามที่มีส่วนช่วยในเรื่องรอยด่างดำ ริ้วรอย หรือผิวหมองคล้ำให้กลับมาดูขาวกระจ่างใสได้ ซึ่งเลเซอร์ที่ใช้มีหลากหลายประเภทแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้ โดยการใช้แสงเลเซอร์ยิงไปบริเวณผิวหนังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพลังงานที่ได้รับให้เป็นความร้อนจนทำลายชั้นหนังกำพร้าด้านบนหรือทำลายเซลล์ที่ผลิตเม็ดสี สีผิวดูอ่อนลง เม็ดสีมีการผลิตน้อยลง ซึ่งผลหลังการทำเลเซอร์อาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ในบางรายอาจไม่ได้ผล หลังการทำเลเซอร์ควรหลีกเลี่ยงการโดนแดดแรงและจำเป็นต้องมีการปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดเพื่อป้องกันสีผิวไม่สม่ำเสมอหรือผิวคล้ำลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ผิวอยู่ในกระบวนการซ่อมแซมความเสียหายให้กลับคืนสภาพเดิม ผิวจะมีความไวกับแสงแดดมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม การทำเลเซอร์เพื่อผิวขาวเป็นเพียงกระบวนการเปลี่ยนแปลงสีผิวได้ชั่วคราวเท่านั้น
ผลข้างเคียงในการเปลี่ยนผิวให้ขาว
กระแสความนิยมของการมีผิวขาวอาจส่งผลให้เกิดความต้องการในการเปลี่ยนสีผิวตนเองที่มากจนเกินไป บางวิธีอาจรุนแรงต่อสภาพผิวหนังหรือก่อให้เกิดโรคทางผิวหนังขึ้นได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง
สารเคมี สารสังเคราะห์ หรือสารสกัดธรรมชาติที่มีความเข้มข้นสูง เช่น กรดเรทิโนอิกหรือกรดวิตามินเอ ไฮโดรควิโนน ปรอท หรือยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ จะทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบ ระคายเคือง มีอาการบวมแดง คัน เกิดการตกสะเก็ด ผิวหนังแสบเหมือนผิวไหม้ จนบางรายสีผิวอาจเปลี่ยนเป็นด่างถาวรหรือผิวบางลง นอกจากนี้ในรายที่รุนแรงจะเกิดผลเสียกับการทำงานของตับ ไต ระบบเส้นประสาท หรืออาจกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง โรคด่างขาว และโรคทางผิวหนังอื่น ๆ ส่วนในสตรีมีครรภ์จะทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์
การทำเลเซอร์อาจเกิดผลข้างเคียงให้เกิดอาการบวม แดง หรือช้ำ เกิดรอยแผลเป็น การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง ผิวไวต่อแสงและเกิดรอยดำจากแสงแดดได้ง่ายมากขึ้น
สิ่งที่สำคัญในการดูแลผิวให้ขาวกระจ่างใส คือ พยายามหลีกเลี่ยงรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีที่มากขึ้นของผิวหนัง รวมไปถึงการคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อสีผิวด้วย หากสีผิวตามลักษณะทางพันธุกรรมมีความคล้ำมากคงเป็นเรื่องยากในการเปลี่ยนสีผิวให้ขาวอย่างถาวร แต่อาจจะช่วยปรับผิวกระจ่างใสขึ้นได้ เพราะวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นวิธีที่ช่วยให้ผิวขาวเพียงชั่วคราว หากหยุดทำก็ทำให้สีผิวกลับไปเป็นเช่นเดิม