ผิวลอก นอกจากจะสร้างความรำคาญใจและส่งผลต่อความสวยงามแล้ว ยังถือเป็นปัญหาผิวหนังที่ควรรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจเรื้อรังได้ ทั้งนี้ การรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ผิวลอกจะช่วยให้รักษาได้อย่างตรงจุดและหายเร็วยิ่งขึ้น
อาการผิวลอก คือภาวะที่ผิวหนังชั้นนอกสุดหรือหนังกำพร้าหลุดลอกออกมา ส่งผลให้ผิวหนังมีลักษณะแห้งแตก รวมทั้งอาจมีอาการแดงหรือคันร่วมด้วย ซึ่งอาการผิวลอกนี้เกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
ผิวลอก เกิดจากอะไร ?
อาการผิวลอกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่โดยทั่วไปมักเกิดจากผิวไหม้จากแสงแดด ผิวแห้ง การเกิดแผลตามผิวหนัง น้ำกัดเท้า หรือมีเล็บขบ นอกจากนี้ ผิวลอกอาจเกิดจากปัญหาผิวหนังต่อไปนี้
- สาเหตุจากอาการภูมิแพ้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบจากการแพ้ ปฏิกิริยาจากการแพ้หรือการใช้ยาบางชนิด
- สาเหตุจากการอักเสบ ได้แก่ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) โรคผื่นแพ้สัมผัส ผื่นผ้าอ้อม เป็นต้น
- สาเหตุจากการติดเชื้อ เช่น โรคกลาก
- สาเหตุจากภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ ได้แก่ โรคสะเก็ดเงิน โรคไลเคนพลานัส (Lichen Planus)
ทั้งนี้ โรคผิวหนังที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ก็อาจทำให้ผิวลอกได้ เช่น โรคผื่นกุหลาบ ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด หรือโรคแอกทินิกเคอราโทซิส (Actinic Keratosis: AK) ซึ่งเป็นภาวะที่อาจกลายไปเป็นมะเร็งผิวหนัง มีสาเหตุมาจากการถูกแดดมากเกินไป หรือโรคดักแด้ อันเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้ผิวหนังแห้งและหลุดลอกออกมา
นอกจากนี้ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบอื่น ๆ ในร่างกายบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อระบบผิวหนังจนเกิดการหลุดลอกได้เช่นกัน เช่น ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ตํ่า (Hypoparathyroidism) โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบจากการคั่งของเลือดที่บริเวณขา ภาวะท็อกซิกช็อกซินโดรม (Toxic Shock Syndrome: TSS) และโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ซึ่งพบได้น้อยมาก เป็นต้น
ผิวลอกรักษาได้อย่างไร ?
การรักษาอาการผิวลอกนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่การใช้ครีมบำรุงผิวจะช่วยแก้ปัญหาได้ในเบื้องต้น แต่หากเกิดจากอาการแพ้และไม่รุนแรงมากนัก การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการแพ้จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจว่าแพ้สารชนิดใด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด
อาการผิวลอกที่เกิดจากโรคเกี่ยวกับผิวหนังชนิดอื่น ๆ แพทย์อาจให้ใช้ยาทา แต่หากมีสาเหตุมาจากโรคในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย อาจต้องใช้ยารับประทานควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการรักษาในระดับที่เจาะจงมากขึ้นนั้นจะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย
ในกรณีที่มีอาการผิวลอกร่วมกับผิวแห้ง ผู้ป่วยต้องรักษาอาการผิวแห้งควบคู่กันไปด้วย เพื่อช่วยให้อาการทุเลาเร็วขึ้น โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของกรดแลคติกหรือครีมที่มีทั้งกรดแลคติกและสารยูเรีย เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง แต่หากผิวแห้งมาก ๆ จนทำให้ผิวแตกเป็นแผล แพทย์อาจทำแผลและปิดแผลไว้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ ?
ส่วนใหญ่แล้วอาการผิวลอกมีสาเหตุมาจากโรคผิวหนังที่ไม่รุนแรงมากนัก และไม่จำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่รุนแรง ซึ่งพบได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม หากใช้วิธีบรรเทาอาการผิวลอกและผิวแห้งด้วยตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนัง เนื่องจากอาการผิวลอกอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเอง หากมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- อาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น ลมพิษ มีอาการบวมตามร่างกายอย่างรุนแรง หายใจลำบาก หรือคันตามผิวหนัง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้สูง
- มีแผลพุพองเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง
การป้องกันอาการผิวลอก
อาการผิวลอกไม่อาจป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีหรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อโรคที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง ที่สำคัญควรรักษาความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทั้งนี้ หากเป็นคนที่มีผิวแห้งอยู่แล้ว ควรทาโลชั่นเพื่อคงความชุ่มชื้นของผิวหนังเป็นประจำ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอาบน้ำและสระผมด้วยน้ำอุ่น เพราะจะยิ่งทำให้ผิวแห้งและส่งผลให้ผิวลอกได้