ผิวแตกลายกับวิธีดูแลเพื่อความงาม

ผิวแตกลาย หนึ่งในปัญหาของผิวที่กวนใจคุณสาว ๆ มักพบได้บริเวณหน้าอก รักแร้ ท้อง หลัง แก้มก้น ต้นขาและขาหนีบ โดยจะมีลักษณะเป็นเส้นและเป็นร่องรอยแตก ซึ่งแม้ว่ารอยที่เกิดขึ้นของผิวแตกลายจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ก็ก่อให้เกิดความกังวลใจต่อรูปลักษณ์ของผู้ที่มีปัญหานี้อยู่ไม่มากก็น้อย   

ผิวแตกลายอาจปรากฏขึ้นเป็นสีขาว เงิน ชมพู แดง น้ำตาล ดำหรือสีม่วง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีที่เข้มขึ้นและจางลงไปตามเวลา อีกทั้งลักษณะของผิวแตกลายยังแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับสาเหตุ บริเวณ ลักษณะของผิว และระยะเวลาในการมีรอยแตกของผิว บทความนี้จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนรู้จักกับสาเหตุของผิวแตกลายเพื่อให้ดูแลอย่างถูกวิธี

ผิวแตกลายกับวิธีดูแลเพื่อความงาม

สาเหตุของการเกิดผิวแตกลาย 

ผิวแตกลายเป็นอาการที่พบได้มากโดยเฉพาะในวัยรุ่นเพศหญิงและเกิดขึ้นกับผิวในบริเวณที่มีการยืดขยายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดผิวแตกลายนั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือการตั้งครรภ์ ระดับความรุนแรงของผิวหนังที่ถูกทำลาย ปริมาณฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งส่งผลลดความยืดหยุ่นของผิวหนัง รวมถึงการลดหรือเพิ่มน้ำหนักตัวในเวลาอันรวดเร็วด้วย  

นอกจากนี้การเกิดผิวแตกลายยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงอย่างเป็นเพศหญิง มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานยาหรือใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (Steroids) เคยผ่านการศัลยกรรมเสริมหน้าอก เป็นผู้ที่ป่วยด้วยกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s Syndrome) หรือโรคหนังยืดผิดปกติ (EDS) ดังนั้น การป้องกันการเกิดผิวแตกลายจึงสามารถทำได้ยาก แต่การทราบถึงสาเหตุก็อาจช่วยให้เราเลือกวิธีรักษาผิวแตกลายให้จางลงได้อย่างเหมาะสม

ผิวแตกลาย รักษาอย่างไรจึงจะได้ผล

อาการผิวแตกลายสามารถดูแลและบรรเทาได้หลายวิธีต่าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำได้เองที่บ้านหรือวิธีทางการแพทย์ โดยตัวอย่างของการดูแลและบรรเทาผิวแตกลายมีดังนี้

การบรรเทาผิวแตกลายด้วยตนเอง

ผู้ที่มีร่องรอยของผิวแตกลายนั้นอาจไม่สามารถทำให้หายไปได้ทั้งหมดด้วยตนเอง แต่ทำให้รอยดังกล่าวจางลงหรือช่วยเร่งให้รอยผิวแตกลายจางลงเร็วขึ้นด้วยวิธีต่าง ๆ ได้ เช่น

  • รับประทานอาหารที่ประกอบด้วยซิงค์ (Zinc) โปรตีน และอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ซี และดี เช่น ถั่ว ปลา แครอท มันหวาน นม เป็นต้น
  • ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณมากและหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีนเพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผิวแตกลายได้ 
  • นำน้ำตาลทรายมาถูผิวบริเวณที่มีการแตกลาย โดยใช้น้ำตาล 1 ถ้วยตวงผสมกับน้ำมันอัลมอนต์หรือน้ำมันมะพร้าว โดยคนไม่ให้น้ำตาลทรายละลาย เติมน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อยก่อนจะนำส่วนผสมที่ได้มาถูบริเวณผิวแตกลายเป็นเวลา 8–10 นาที ทำซ้ำสัปดาห์ละหลาย ๆ ครั้งในระหว่างอาบน้ำ
  • นำว่านหางจระเข้สดปอกเปลือกมาทาบนผิวแตกลายหลังอาบน้ำ
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งผิว (Body Makeup) เพื่อปกปิดรอยแตกของผิว
  • ใช้ครีมบำรุงผิวชนิดต่าง ๆ อย่างครีมที่มีส่วนผสมของเตรทติโนอิน (Tretinoin) วิตามินเอ โกโก้บัตเตอร์ เชียบัตเตอร์ น้ำมันมะกอก น้ำมันวิตามินอี หรือสารสกัดจากใบบัวบก (Centella Asiatica)

ทั้งนี้ครีมหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแตกลายที่กล่าวมาข้างต้นเหมาะสำหรับผิวแตกลายที่เพิ่งปรากฏขึ้นมาใหม่ ผู้ใช้จึงควรค่อย ๆ นวดให้ซึมเข้าสู่ผิวและใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์

การรักษาผิวแตกลายด้วยวิธีทางการแพทย์ 

แพทย์อาจทำการดูแลและบรรเทาผิวแตกลายด้วยวิธีต่าง ๆ อาทิ

  • การใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ โดยอาจให้ใช้ยาที่มีส่วนประกอบของกรดไฮยาลูรอนิคหรือเตรทติโนอินทาไปยังผิวแตกลายที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อให้รอยดังกล่าวจางลง
  • การทำเลเซอร์เพาซ์ดายด์ (Pulsed Dye Laser) เป็นการยิงเลเซอร์ไปยังผิวแตกลายที่เกิดขึ้นใหม่หรือผิวแตกลายที่เป็นรอยแดง โดยจะช่วยชะลอการทำงานของเส้นเลือดที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดผิวแตกลาย
  • การทำแฟรคชันนัลเลเซอร์ (Fractional CO2 Laser) เป็นวิธีการกำจัดรอยผิวแตกลายเก่าออก มีการศึกษาพบว่า หลังรับการเลเซอร์ด้วยวิธีดังกล่าวทั้งหมด 5 ครั้ง ผิวแตกลายจางลงได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของกรดไกลโคลิกและเตรทติโนอิน 
  • การผลัดเซลผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peel) เป็นการกำจัดผิวหนังชั้นบนเพื่อกำจัดเซลล์ผิวที่ได้รับความเสียหายหรือตายและกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยให้ทำให้ผิวแตกลายดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ไม่สามารถกำจัดผิวแตกลายออกได้ทั้งหมด
  • การทำศัลยกรรมเสริมความงาม (Cosmetic Surgery) เช่น การตัดผิวหนังส่วนเกินออก เป็นต้น ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูง ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและเกิดรอยแผลเป็นได้ในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีผิวแตกลายไม่จำเป็นจะต้องทำการรักษา เพราะรอยที่เกิดขึ้นนั้นไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และจะค่อย ๆ จางหายไปเองตามธรรมชาติ แม้ว่าผิวแตกลายจะไม่สามารถหายเองได้ทั้งหมดหากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์ แต่ผลตอบรับของรอยดังกล่าวต่อการรักษาก็อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับรูปแบบของผิว อายุและการรับประทานอาหาร

ผิวแตกลายป้องกันอย่างไร

แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการใดที่รับรองผลว่าสามารถป้องกันการเกิดผิวแตกลายได้ แต่การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อป้องกันผิวแตกลายจากภาวะน้ำหนักเกินไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่เหมาะสม 

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่มีผิวแตกลายไม่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษา แต่หากอาการดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สบายใจเกี่ยวกับรูปลักษณ์ความงามของผิว เกิดความวิตกกังวล รอยผิวแตกลายขยายออกเป็นบริเวณกว้างหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างรุนแรง ก็สามารถพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและวางแผนการดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ