ผื่นผ้าอ้อมถือเป็นปัญหาที่สร้างความระคายเคืองให้แก่ผิวของลูกน้อย จนเกิดอาการไม่สบายตัวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถึงแม้ว่าผื่นผ้าอ้อมจะเกิดขึ้นได้ทั่วไปในเด็กทารก แต่ก็เป็นปัญหาที่ไม่ควรละเลย คุณพ่อคุณแม่ควรหาวิธีดูแลหรือป้องกันอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
ลักษณะของผื่นผ้าอ้อมจะเป็นผดผื่นสีแดงเป็นปื้น ๆ ขนาดเล็กในบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม มีอาการบวมแดง อาจมีการกระจายไปในบริเวณข้างเคียงอย่างท้องหรือโคนขา และอาจมีอาการเจ็บหรือคันเมื่อมีการสัมผัสโดนด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยอยู่เสมอ และควรพาไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
ทำความรู้จักผื่นผ้าอ้อม ตัวการทำร้ายผิวของลูกน้อย
ผื่นผ้าอ้อมเป็นเรื่องปกติที่มักเกิดกับเด็กทารกในช่วง 3 ปีแรกหลังคลอด แต่มักพบได้บ่อยในทารกวัย 9–12 เดือน เพราะเป็นช่วงที่ทารกยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง และเริ่มเปลี่ยนมารับประทานอาหารเด็กอ่อน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรดในอุจจาระด้วย นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดผื่นผ้าอ้อมได้ เช่น
- การเสียดสีระหว่างผิวของเด็กกับผ้าอ้อมที่สวมใส่อยู่
- การระคายเคืองของผิวจากอุจจาระ ปัสสาวะ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
- อาการแพ้จากสิ่งที่สัมผัสกับผิวของเด็ก เช่น ทิชชู่เปียก สบู่ โลชั่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า หรือเส้นใยของเสื้อผ้าที่สวมใส่
- การติดเชื้อราจากความเปียกชื้นในผ้าอ้อม เช่น เชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans)
- การรับประทานยาปฏิชีวนะ เนื่องจากตัวยาไปทำลายเชื้อแบคทีเรียชนิดดีในร่างกาย และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อราได้
แม้ว่าผื่นผ้าอ้อมจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับลูกน้อย แต่ผื่นบางประเภทอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ ดังนั้น หากผื่นไม่หายไปภายใน 2–3 วันหลังการดูแลเบื้องต้น ผื่นที่เกิดขึ้นกลายเป็นแผล ตุ่มสิว หรือตุ่มหนอง มีอาการบวมแดง ผื่นเกิดการกระจายตัวไปยังบริเวณท้อง หลังแขน หรือใบหน้า และมีไข้ขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรพาเด็กไปพบแพทย์
วิธีการรับมือเมื่อลูกน้อยเกิดผื่นผ้าอ้อม
ในช่วงที่เกิดผื่นผ้าอ้อมจะทำให้ผิวของเด็กบอบบางมากกว่าเดิม คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจกับการดูแลผิวจุดนี้เป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นได้ไวมากที่สุดตามคำแนะนำดังนี้
1. รักษาความสะอาด
เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมควรทำความสะอาดอวัยวะเพศ ก้น และบริเวณโดยรอบด้วยน้ำสะอาด เลือกใช้ผ้าที่มีความอ่อนนุ่มซับแทนการถู เพราะผิวของเด็กมีความบอบบางและระคายเคืองได้ง่าย จากนั้นให้ทายาที่เป็นครีมหรือขี้ผึ้งสำหรับรักษาผื่นผ้าอ้อมบาง ๆ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้บริเวณที่เกิดผื่นได้รับการเสียดสีเพิ่มขึ้น
2. ดูแลผิวบริเวณก้นให้แห้งอยู่เสมอ
หลังการล้างทำความสะอาด ให้วางตัวเด็กลงบนผ้าขนหนู ซับน้ำส่วนเกินบริเวณก้นและอวัยวะเพศอย่างเบามือก่อนการใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่ เพื่อป้องกันการเปียกชื้นและทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม นอกจากนี้ อาจเลือกใช้ผ้าอ้อมชนิดที่ดูดซับความชื้นได้ดี และควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อยทันทีหลังการอุจจาระด้วย
3. ปล่อยให้อากาศถ่ายเท
ความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อมนาน ๆ อาจทำให้ผื่นรุนแรงมากขึ้น ทางที่ดีควรเว้นช่วงให้ลูกน้อยไม่ต้องใส่ใส่ผ้าอ้อมในระหว่างวันเพื่อให้ผิวได้พัก โดยอาจเป็นช่วงที่ลูกงีบหลับ หรือทิ้งช่วงสัก 10 นาทีก่อนการใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงผ้าอ้อมที่ใช้วัสดุหลักเป็นพลาสติก และเลือกขนาดของผ้าอ้อมให้มีไซส์ใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยจนกว่าอาการจะดีขึ้น
4. ทายาหรือผลิตภัณฑ์ปกป้องผิว
ยาสำหรับรักษาอาการผื่นผ้าอ้อมมีทั้งรูปแบบครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง หรือยาป้าย การทายาควรทาบาง ๆ บนผิวของเด็กและอาจทาปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly) ทับอีกชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ยาติดกับผ้าอ้อม เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ใช้สำลีชุบน้ำมันมิเนอรัล (Mineral Oil) เช็ดยาที่ทาไว้ออกบางส่วนแล้วทาใหม่ แต่ไม่ควรเช็ดยาออกทั้งหมด เพราะอาจทำให้ผิวเด็กเกิดการระคายเคืองมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการเลือกใช้ยาเพื่อเลือกประเภทของตัวยาให้เหมาะกับลูกน้อย และควรใช้ยาตามคำแนะนำของเภสัชกรหรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
5. อาบน้ำให้ลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ
คุณพ่อคุณแม่ควรอาบน้ำให้ลูกเป็นประจำทุกวัน โดยอาจใช้น้ำอุ่นเล็กน้อยและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ น้ำหอม หรือสารเคมีที่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง
6. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อลูกน้อย
ควรหลีกเลี่ยงการใช้ทิชชู่เปียกหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้ผิวของเด็กแห้งและเกิดอาการระคายเคืองมากขึ้น รวมไปถึงแป้งที่มีส่วนผสมของทัลค์ (Talc) หรือที่เรียกว่าแป้งทัลคัม (Talcum Powder) ด้วย เพราะอาจเป็นอันตรายต่อปอดของทารก
อาการผื่นผ้าอ้อมมักเกิดขึ้นประมาณ 2–3 วัน และบรรเทาลงเมื่อดูแลตามคำแนะนำ แต่ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อรา แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อรา หรือสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะในกรณีที่เกิดแผลพุพองจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงยาสเตียรอยด์อ่อน ๆ ในรูปแบบครีมหรือขี้ผึ้งด้วย
วิธีการง่าย ๆ ช่วยปกป้องลูกน้อยจากผื่นผ้าอ้อม
สิ่งสำคัญในการป้องกันผื่นผ้าอ้อมคือการดูแลผิวของลูกให้แห้งสนิทและรักษาความสะอาดด้วยการเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อุจจาระและปัสสาวะสร้างความระคายเคืองแก่ผิวของลูก โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เมื่อผ้าอ้อมเต็มหรือจับดูแล้วรู้สึกตุง ๆ มีความชื้น ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมและทำความสะอาดอย่างเบามือทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความอับชื้นหรืออาการระคายเคืองจากปัสสาวะหรืออุจจาระ
- ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทุก 2–3 ชั่วโมง หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งหลังจากลูกอุจจาระ
- ควรล้างทำความสะอาดบริเวณก้นของทารกในระหว่างวันด้วยน้ำอุ่นและสบู่สูตรอ่อนโยนสำหรับเด็ก โดยใช้มือวักน้ำหรือเทน้ำอุ่นจากในขวดพลาสติกล้างก้นก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อม
- ก่อนใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่ทุกครั้งต้องมั่นใจว่าผิวของลูกแห้งสนิทดี โดยหลังการล้างหรือเช็ดทำความสะอาดอาจใช้ผ้าขนหนูที่อ่อนนุ่มซับเบา ๆ แทนการถูที่ผิวของเด็ก
- ไม่ควรใส่ผ้าอ้อมให้รัดแน่นมากเกินไป เพื่อช่วยลดความอับชื้นและการเกิดรอยถลอกจากการเสียดสี
- เด็กที่มีผิวบอบบางเป็นพิเศษอาจใช้ครีมหรือขี้ผึ้งทาผิวหนังบริเวณก้นก่อนใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่
- ควรเลือกใช้ผ้าอ้อมที่ได้คุณภาพ อ่อนโยนต่อผิวทารก และใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี
- ควรปล่อยให้ผิวของลูกได้หายใจในช่วงระหว่างวัน ช่วงนอนหลับ หรือระหว่างเปลี่ยนผ้าอ้อม
- หลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นของตัวเด็ก
ผื่นผ้าอ้อมสามารถรับมือและป้องกันได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เด็กทารกเป็นวัยที่ยังไม่สามารถสื่อสารอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้มากนัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการของลูกน้อยอยู่เสมอ และหากอาการยังผื่นผ้าอ้อมไม่ดีขึ้นหลังจากการดูแลด้วยวิธีข้างต้นแล้ว หรือมีอาการผิดปกติที่รุนแรงเกิดขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์