ผื่นผ้าอ้อม สาเหตุและการดูแลลูกรักให้หายดี

ผื่นผ้าอ้อมเป็นปัญหาผิวหนังในเด็กที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณแม่มือใหม่ได้ไม่น้อย โดยสาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อ การเสียดสีของผิวกับผ้าอ้อม หรืออาการแพ้ ซึ่งผู้ปกครองสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการดูแลผิวลูกให้แห้งอยู่เสมอ เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ หรือทายาชนิดขี้ผึ้งเพื่อปกป้องผิวร่วมด้วย   

หากสังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีอาการไม่สบายตัว โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ้าอ้อม มีผื่นสีแดงเป็นปื้นบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับผ้าอ้อมโดยตรงอย่างก้น โคนขา และอวัยวะเพศของเด็ก นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนที่คุณแม่ควรใส่ใจและเพิ่มการดูแลลูกน้อยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผิวหนังที่ไม่ได้สัมผัสโดนผ้าอ้อมอย่างขาหนีบหรือร่องก้นจะไม่พบผื่นชนิดนี้    

ผื่นผ้าอ้อม

สาเหตุของผื่นผ้าอ้อม 

โดยปกติผื่นผ้าอ้อมมักเกิดในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี โดยอาการนี้อาจเป็นผลมาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้  

  • ผ้าอ้อมคับแน่นหรือเปียกชื้นเกินไป ผิวหนังที่เสียดสีกับผ้าอ้อมอาจทำให้มีผื่นเกิดขึ้น อีกทั้งปัสสาวะและอุจจาระที่สะสมอยู่ในผ้าอ้อมยังก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง หากเด็กมีอาการท้องเสียจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดผื่นผ้าอ้อมง่ายกว่าเดิม เนื่องจากการถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ อาจทำให้ผิวหนังใต้ผ้าอ้อมสัมผัสกับสิ่งสกปรกมากขึ้น
  • การเปลี่ยนมารับประทานอาหารเด็กอ่อน เมื่อลูกน้อยเริ่มเปลี่ยนมารับประทานอาหารอาจส่งผลให้อุจจาระของเด็กเปลี่ยนแปลงไป และเด็กจะอุจจาระบ่อยกว่าปกติ จึงอาจสร้างความระคายเคืองต่อผิวและเสี่ยงต่อการเกิดผื่นผ้าอ้อม
  • ผิวหนังแพ้ง่าย เด็กที่มีปัญหาผิวหนังอย่างโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผิวหนังอักเสบมาก่อนมักจะมีผิวหนังไวต่อสิ่งกระตุ้น จึงทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อมได้ง่ายขึ้น
  • การระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ การเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาจทำให้เกิดอาการแพ้กับผิวหนังเด็กได้ เช่น ทิชชู่เปียก ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สบู่ น้ำยาซักผ้าอ้อม โลชั่น แป้งเด็ก น้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือออยล์ เป็นต้น 
  • การติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ผิวหนังใต้ผ้าอ้อมบริเวณก้น โคนขา อวัยวะเพศ รวมถึงรอยพับและตามซอกผิวหนังใต้ผ้าอ้อมมักมีอุณหภูมิอุ่นและชื้น ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตได้ดีของเชื้อโรค ผื่นผ้าอ้อมจึงอาจเกิดขึ้นได้ร่วมกับจุดสีแดงกระจายอยู่ทั่วบริเวณดังกล่าว
  • การรับประทานยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาปฏิชีวนะบางตัวอาจไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดดี ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราและเป็นผื่นผ้าอ้อมได้ รวมทั้งคุณแม่ที่ใช้ยาปฏิชีวนะขณะในช่วงให้นมลูกก็อาจส่งผลต่อการเกิดผื่นผ้าอ้อมในเด็กได้เช่นกัน  

วิธีดูแลลูกน้อยจากผื่นผ้าอ้อม

การดูแลผิวของทารกให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอถือเป็นกุญแคจสำคัญที่ช่วยให้หายจากผื่นผ้าอ้อม โดยผู้ปกครองควรดูแลผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมากขึ้น และอาจปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • เปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีหลังจากการอุจจาระหรือผิวหนังเกิดความเปียกชื้น
  • ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณใต้ผ้าอ้อมด้วยน้ำสะอาด
  • ดูแลผิวก้นและบริเวณโดยรอบให้แห้งเป็นประจำหลังทำความสะอาดเสร็จ
  • ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กทุกครั้ง
  • เลือกผ้าอ้อมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อลดการเสียดสีและความอับชื้น
  • หยุดใช้ผ้าอ้อมสักพัก เพื่อให้อากาศได้ถ่ายเท
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวของเด็ก

ในกรณีที่ลูกน้อยมีอาการไม่รุนแรง คุณแม่คุณพ่ออาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวที่มีส่วนผสมของโปรวิตามินดี 5 (Dexpanthenol) ซึ่งช่วยบำรุงผิวอย่างอ่อนโยนและกระตุ้นการฟื้นฟูผิวตามกลไกธรรมชาติ โดยในรูปแบบขี้ผึ้งจะช่วยป้องกันผิวจากสารระคายเคืองและความเปียกชื้น พร้อมทั้งคงความชุ่มชื้นภายในชั้นผิว โดยไม่ปิดกั้นผิว จึงช่วยให้ระบายอากาศได้ดี ทั้งนี้ ควรทาก่อนใส่ผ้าอ้อมให้ลูกทุกครั้ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น   

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าตัวเล็กอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังรักษาตัวที่บ้าน ผื่นแดงมีอาการรุนแรงหรือผิดปกติ มีเลือดออก คัน ปวดแสบปวดร้อนหรือเจ็บขณะปัสสาวะ ท้องเสีย หรือมีไข้ร่วมด้วย รวมถึงพบสัญญาณการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น มีตุ่มพอง ตุ่มสิวหนอง หรือมีของเหลวสีเหลืองซึมออกมาตามผิวหนัง คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียดและรักษาด้วยยาทาที่เหมาะสมกับแต่ละสาเหตุ หากมีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์ฤทธิ์อ่อนอย่างครีมไฮโดรคอร์ติโซน ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อราอาจใช้เป็นยาครีมต้านเชื้อรา หรืออาจใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย