ผ่าตัดมดลูก รู้ขั้นตอนและการเตรียมพร้อมก่อนผ่าตัด

การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดนำเอามดลูกออกไปเนื่องจากความจำเป็นทางการรักษาบางประการ มดลูกเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง ซึ่งมีหน้าที่หลักในการเป็นที่อยู่อาศัยและเจริญเติบโตของทารกขณะตั้งครรภ์ โดยหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้และไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป

การผ่าตัดมดลูกอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่ยังต้องการตั้งครรภ์และมีบุตร และเนื่องจากการผ่าตัดมดลูกสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้หลายประการ จึงมักเป็นวิธีการรักษาลำดับสุดท้ายที่แพทย์เลือกใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าเป็นวิธีการรักษาที่จะส่งผลดีต่ออาการป่วยที่เกิดขึ้นมากที่สุด

Hysterectomy

ประเภทของการผ่าตัดมดลูก

แพทย์จะมีดุลยพินิจในการเลือกประเภทของการผ่าตัดมดลูก โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของอาการป่วยที่เป็นสาเหตุนำมาสู่การผ่าตัด การผ่าตัดมดลูกมี 4 ประเภท ดังนี้

  • การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด (Total Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดนำมดลูกและปากมดลูกซึ่งเป็นทางเข้าสู่มดลูกที่อยู่ติดกับช่องคลอดด้านในสุดออกไปทั้งหมด เป็นวิธีการผ่าตัดมดลูกที่ใช้มากที่สุด
  • การผ่าตัดเฉพาะส่วนของมดลูก (Subtotal Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดนำมดลูกออกไปโดยเหลือส่วนของปากมดลูกเอาไว้
  • การผ่าตัดมดลูก ปากมดลูก ท่อนำไข่ และปีกมดลูกออกไปทั้งหมด (Total Hysterectomy with Bilateral Salpingo-Oophorectomy)
  • การผ่าตัดมดลูกแบบถอนราก (Radical Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดนำมดลูกและเนื้อเยื่อในบริเวณใกล้เคียงอย่างท่อนำไข่ ปีกมดลูก ต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อไขมัน รวมถึงเนื้อเยื่อบางส่วนของช่องคลอดออกไปด้วย วิธีนี้มักใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดมดลูก

การผ่าตัดมดลูกจะถูกนำมาใช้ในกรณีที่เกิดความเจ็บปวดเรื้อรังบริเวณอุ้งเชิงกรานที่เป็นผลมาจากการเจ็บป่วยต่อไปนี้

  • ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงและอาจสร้างความเสียหายให้แก่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ได้ โดยจะผ่าตัดรักษาก็ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ซึ่งมักทำให้เกิดความเจ็บปวดเมื่อมีประจำเดือน
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกเข้าไปฝังตัวในกล้ามเนื้อของผนังมดลูก (Adenomyosis)
  • เนื้องอกในมดลูก (Fibroids) ซึ่งเป็นก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นและเจริญเติบโตภายในมดลูก อาจทำให้เกิดภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนเนื่องจากมดลูกหย่อนลงมาในช่องคลอด (Uterine Prolapse)
  • ภาวะเลือดออกจากโพรงมดลูกผิดปกติ (Abnormal Uterine Bleeding)
  • ภาวะเนื้อเยื่อปากมดลูกเจริญเติบโตผิดปกติ (Cervical Dysplasia) ซึ่งเป็นระยะก่อนนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
  • โรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งมดลูก โรคมะเร็งปากมดลูก หรือโรคมะเร็งรังไข่
  • การผ่าตัดมดลูกฉุกเฉินหลังจากการทำคลอดแล้วมีภาวะเลือดออกที่ไม่สามารถควบคุมได้

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดมดลูก

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัด รวมถึงวิธีการเตรียมพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดรักษา และเพื่อให้เกิดผลดีต่อการพักฟื้นร่างกายในภายหลังด้วย

ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดมดลูก มีดังนี้

ก่อนการผ่าตัดตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป 

ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเตรียมตัว ขั้นตอนการผ่าตัด ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด และวางแผนการพักรักษาตัว ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ที่สำคัญ เช่น การใช้ยา การรักษา และการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะการป่วยที่รุนแรงอย่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ควรงดสูบบุหรี่เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการใช้ยาสลบและการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานควรลดน้ำหนักก่อนผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดและการใช้ยาสลบ เช่น การใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดนานกว่าที่ควร หรือการเสียเลือดมากจากการผ่าตัด โดยสามารถปรึกษาแพทย์ได้ถึงวิธีการควบคุมน้ำหนัก 

ก่อนการผ่าตัด 1 สัปดาห์

เนื่องจากหลังการผ่าตัดผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับรถเป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจึงควรวางแผนเกี่ยวกับการหาคนดูแลเมื่อต้องกลับไปพักฟื้นที่บ้าน การจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ในการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอระหว่างการพักฟื้น และในช่วงนี้ผู้ป่วยควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด

ก่อนการผ่าตัด 1 วัน

ผู้ป่วยควรเตรียมความพร้อมสำหรับการฉายภาพรังสีที่อาจทำก่อนการผ่าตัด โดยควรรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และยาตามที่แพทย์กำหนด เพื่อเตรียมช่องท้องให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด เช่น รับประทานอาหารเบา ๆ ที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก และแพทย์อาจกำหนดให้งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มหลังเที่ยงคืนในคืนก่อนการผ่าตัดด้วย 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรผ่อนคลายความเครียดหรือความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัด เพราะฮอร์โมนความเครียดจะลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจส่งผลกระทบต่อแผลผ่าตัด หรือการติดเชื้อหลังจากการผ่าตัดได้

วันผ่าตัด

ผู้ป่วยต้องงดอาหารเช้าและงดน้ำดื่ม แม้กระทั่งตอนแปรงฟันหรือบ้วนปากก็ห้ามกลืนน้ำลงไป ถอดเครื่องประดับทุกชิ้นออกก่อนเข้ารับการผ่าตัด และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ เกิดขึ้นในวันที่ต้องทำการผ่าตัด เพราะอาการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด หรือปอดบวม อาจทำให้ต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไป

ขั้นตอนและวิธีการผ่าตัด

ในระหว่างการผ่าตัดอาจมีการใช้ยาสลบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่รู้สึกตัวตลอดระยะเวลาการผ่าตัด หรือใช้ยาชาเฉพาะที่ที่เรียกว่าการบล็อคหลัง ซึ่งเป็นการฉีดยาเข้าไปบริเวณไขสันหลัง ทำให้ร่างกายช่วงเอวของผู้ป่วยชาและไม่รู้สึกเจ็บปวดในขณะผ่าตัด ในบางครั้งอาจใช้ร่วมกับยาระงับประสาทเพื่อช่วยผ่อนคลายความกังวลและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงด้วย

วิธีการผ่าตัดมดลูก มีดังนี้

  • การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติ (Abdominal Hysterectomy) แพทย์จะผ่าตัดเปิดหน้าท้องในแนวตั้งหรือแนวนอนเพื่อนำมดลูกออกมา โดยแผลผ่าตัดที่หน้าท้องจะสมานตัวและกลายเป็นรอยแผลเป็นเล็กน้อยในภายหลัง
  • การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy) แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลบริเวณภายในช่องคลอดเพื่อนำมดลูกออกมา เป็นวิธีการผ่าตัดที่ไม่ทำให้เกิดรอยแผลภายนอก และไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่สามารถมองเห็นได้
  • การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Laparoscopic Hysterectomy) แพทย์จะผ่าเปิดช่องเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้องแล้วใช้เครื่องมือชื่อว่าลาพาโรสโคป (Laparoscope) ในการส่องกล้องและผ่าตัดมดลูกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นนำชิ้นส่วนออกมาตามช่องที่ผ่าไว้ แทนการผ่าตัดแบบแผลใหญ่

การพักรักษาตัวหลังการผ่าตัด

การพักรักษาตัวหลังจากการผ่าตัด แบ่งเป็นการพักรักษาตัวภายในโรงพยาบาลและการพักรักษาตัวที่บ้าน โดยจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้

การพักรักษาตัวภายในโรงพยาบาล

หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 1–5 วันขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ในการผ่าตัด โดยจะมีผ้าพันแผลปิดแผลผ่าตัดเอาไว้ มีการต่อสายให้สารน้ำหรือยา และต่อท่อระบายปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะจ่ายยาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด นอกจากนี้ แพทย์หรือผู้ดูแลอาจให้ผู้ป่วยลุกเคลื่อนไหวร่างกายอย่างง่าย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันด้วย

หากเป็นการผ่าตัดผ่านทางหน้าท้อง แพทย์จะต่อท่อจากหน้าท้องเพื่อนำเลือดที่ตกค้างออกไป และต่อท่อเพื่อระบายปัสสาวะออกทางถุงหน้าท้อง ส่วนการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอด แพทย์จะสอดผ้าก๊อซในช่องคลอดไว้เพื่อซับเลือดและนำออกภายใน 2–3 วันหลังการผ่าตัด หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจยังมีเลือดหรือของเหลวไหลออกจากช่องคลอดประมาณ 10 วัน จึงควรใส่ผ้าอนามัยไว้ป้องกันการซึมเปื้อน

การพักรักษาตัวที่บ้าน

การดูแลตนเองที่บ้าน ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาตามใบสั่งแพทย์ มาพบแพทย์ตามนัดหมาย และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด เช่น ไม่ยกของหนัก ไม่ทำงานบ้านหนัก ๆ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ และไม่ขับขี่ยานพาหนะจนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ

สำหรับการผ่าตัดมดลูกผ่านช่องคลอดหรือผ่าตัดผ่านกล้อง ผู้ป่วยจะเริ่มฟื้นตัวและสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติในระยะเวลาประมาณ 3–4 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด ส่วนการผ่าตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้องจะใช้เวลาประมาณ 6–8 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด 

เมื่อหายดีแล้ว แม้ผู้ป่วยจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกและไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดใด ๆ แต่ก็ควรป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยด้วยเช่นกัน

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการผ่าตัดมดลูก มีดังนี้

อาการวัยทอง

หากเป็นการผ่าตัดมดลูกที่ตัดนำรังไข่ถูกออกไปด้วย จะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศหญิงลดลงและเกิดอาการวัยทองก่อนวัยอันควร โดยอาการจะเริ่มปรากฏใน 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เช่น หงุดหงิด วิตกกังวล ซึมเศร้า ร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกบ่อย ๆ ซึ่งอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทน

ตกขาวและปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอด

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีตกขาวหรือมีเลือดไหลออกจากช่องคลอด ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าในช่วงมีประจำเดือน แต่จะไหลออกมาเรื่อย ๆ และอาจเกิดอาการต่อเนื่องไปจนถึง 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติ เช่น เกิดลิ่มเลือดจับตัวเป็นก้อน หรือตกขาวมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

ลำไส้และกระเพาะปัสสาวะปั่นป่วน

หลังการผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียงอย่างอาการท้องผูกหรือมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก และสามารถป้องกันได้ด้วยการดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมากตามที่ร่างกายต้องการ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอย่างผักผลไม้เป็นประจำด้วย

ผลข้างเคียงด้านอารมณ์และจิตใจ

ผู้หญิงบางคนอาจรู้สึกถึงความเป็นผู้หญิงน้อยลง หรือกังวลเกี่ยวกับการที่ตนไม่สามารถมีลูกได้อีกต่อไป ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้า หากผู้ป่วยมีอารมณ์เศร้าหรือวิตกกังวลมากเกินไป ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อปรับสภาพจิตใจ และช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากภาวะอารมณ์ซึมเศร้าได้

ภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงจากการผ่าตัดมดลูก

การผ่าตัดมดลูกอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ เช่น

  • ผลกระทบจากยาสลบ เนื่องจากยาสลบจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ความทรงจำ และการตอบสนองของร่างกาย ผู้ป่วยจึงไม่ควรขับรถ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือทำนิติกรรมใด ๆ หลังผ่าตัดประมาณ 1–2 วัน
  • การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัดหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
  • ภาวะตกเลือดหรือเสียเลือดมากหลังการผ่าตัด จึงอาจจำเป็นต้องให้เลือดแก่ผู้ป่วยเพื่อรักษา
  • ภาวะรังไข่หยุดทำงาน หากผ่าตัดนำมดลูกออกไปแล้วเหลือรังไข่เอาไว้ รังไข่จะเสื่อมและหยุดทำงานเนื่องจากขาดเลือดหล่อเลี้ยที่ถูกส่งผ่านมาทางมดลูก
  • ภาวะวัยทองก่อนเวลา เนื่องจากหากผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไปแล้ว ร่างกายจะไม่มีการตกไข่ และฮอร์โมนเพศหญิงก็จะถูกผลิตน้อยลง ทำให้การเกิดภาวะวัยทองก่อนกำหนด
  • การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หากไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควรในระหว่างการพักฟื้นหลังจากผ่าตัด อาจส่งผลให้การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  • ท่อไตได้รับความเสียหายจากการผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก แต่หากเกิดขึ้นแพทย์จะทำการแก้ไขในระหว่างที่ทำการผ่าตัดมดลูก
  • กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ได้รับความเสียหายจากการผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก แต่หากเกิดขึ้นแพทย์จะทำการแก้ไขในระหว่างที่ผ่าตัดมดลูก และอาจต่อท่อส่งถ่ายปัสสาวะและถุงทวารเทียมโคลอสโตมี (Colostomy) ที่บริเวณหน้าท้องให้ผู้ป่วยขับของเสียออกจากร่างกายชั่วคราว

การผ่าตัดมดลูกอาจเป็นการผ่าตัดที่ผู้หญิงหลายคนรู้สึกกลัว เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้หลายประการ แต่ถ้าหากผู้ป่วยปรึกษาแพทย์หรือศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดอย่างถี่ถ้วน ก็จะช่วยให้เข้าใจกระบวนการผ่าตัดมากยิ่งขึ้น และอาจช่วยลดความวิตกกังวลลงได้