ผ่าตัดส่องกล้อง ขั้นตอนและวิธีเตรียมตัวที่ควรรู้

การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopy) เป็นการผ่าตัดเปิดขนาดเล็ก (Minimally Invasive Surgery) หลายจุด โดยใช้กล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดที่มีลักษณะคล้ายท่อยาวขนาดเล็กและยืดหยุ่นสอดเข้าไป เพื่อรักษาหรือวินิจฉัยโรคที่เกิดขึ้นบริเวณช่องท้องและอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกในมดลูก ถุงน้ำในรังไข่ โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น

Laparoscopy มีข้อดีที่ต่างจากการผ่าตัดเปิดแบบปกติ เพราะว่าการผ่าตัดส่องกล้องจะสร้างแผลขนาดเล็ก ทำให้ปวดแผลน้อยกว่า เสี่ยงต่อการติดเชื้อลดลง ย่นระยะเวลาในพักฟื้นให้น้อยลง และยังมีรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดที่ขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดเปิดหลายเท่า โดยบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดแบบส่องกล้องมาให้ได้ศึกษากัน

ผ่าตัดส่องกล้อง

การรักษาและวินิจฉัยโรคด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

การผ่าตัดรูปแบบนี้มักใช้ในการรักษาหรือวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดบริเวณช่องท้องและอุ้งเชิงกราน เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร อุ้งเชิงกราน มดลูก ตับ ตับอ่อน ไส้ติ่ง ถุงน้ำดี ม้าม เป็นต้น โดยลักษณะอาการเจ็บป่วยที่นิยมรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง เช่น

  • โรคที่ทำให้ปวดท้องเรื้อรัง
  • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
  • โรคเนื้องอกในรังไข่และมดลูก
  • ภาวะท้องนอกมดลูก
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • โรคที่เกี่ยวกับโพรงมดลูก
  • การทำหมันแห้ง

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการดังกล่าวในการรักษาโรคอื่น ๆ ได้ด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรคหรือสภาพร่างกายของผู้ป่วยตามการประเมินของแพทย์

 การเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้อง

เมื่อต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ขั้นแรกผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ถึงยาที่กำลังใช้ ยาและอาหารที่แพ้ และโรคประจำตัว หากมียาที่ใช้อยู่เป็นประจำ แพทย์อาจปรับปริมาณยาหรือสั่งจ่ายยาให้รับประทาน ส่วนใหญ่มักอยู่ในกลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ ยาต้านเกล็ดเลือด ยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด วิตามินเคและอาหารเสริม เพื่อปรับร่างกายให้พร้อมต่อการผ่าตัดและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยควรงดรับประทานอาหารและน้ำอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ในวันเดียวกันแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การแสดงภาพในร่างกายด้วยคลื่นแม่เหล็กและคลื่นวิทยุ (MRI) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์ 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรพาญาติหรือเพื่อนไปในวันผ่าตัดด้วย เนื่องจากการผ่าตัดด้วยวิธีนี้อาจไม่จำเป็นต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล แต่ด้วยฤทธิ์จากยาสลบที่ใช้ระหว่างการผ่าตัดจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงซึม จึงไม่สามารถเดินทางกลับด้วยตนเองได้

ขั้นตอนการผ่าตัดส่องกล้องเป็นอย่างไร ?

ขั้นแรกวิสัญญีแพทย์จะทำการวางยาสลบเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกตัว บางรายอาจใช้การฉีดยาชาเฉพาะจุด จากนั้นศัลยแพทย์จะทำการกรีดผิวหนังเป็นรอยขนาดเล็กราวครึ่งนิ้ว โดยจำนวนการกรีดอาจขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการรักษาและตำแหน่งที่จะผ่าตัดก็ขึ้นอยู่กับโรคที่พบ ในการผ่าตัดบางเทคนิคอย่างบริเวณลำไส้หรือช่องท้อง แพทย์จะทำการสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปเพื่อปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ผนังหน้าท้องโป่งขึ้นเพื่อช่วยให้แพทย์เห็นอวัยวะภายในจากทางหน้าจอผ่านการส่องกล้อง (Endoscopy) ได้ชัดเจนขึ้นด้วย จากนั้นศัลยแพทย์ก็จะใช้เครื่องมือผ่าตัดที่มีลักษณะเดียวกันสอดเข้าไปเพื่อทำการตัด เย็บ หรือซ่อมแซมอวัยวะส่วนดังกล่าว หลังจากนั้นก็จะทำการเย็บปิดช่องเปิดขนาดเล็กที่ได้กรีดไว้ตอนแรกพร้อมกับทำแผล

หลังจากการผ่าตัด แพทย์อาจให้ผู้ป่วยนอนพักเพื่อดูอาการสักระยะหนึ่ง หากฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบและไม่มีสัญญาณอันตรายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยก็สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ แต่บางรายอาจต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการราว 1-2 วัน โดยผู้ป่วยอาจกลับมาทำกิจกรรมได้ตามเดิมหลังจากการพักฟื้นประมาณ 1-3 สัปดาห์ ในระหว่างนั้นควรดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างการรับประทานอาหาร การพักผ่อนหรือการใช้ยาตามแพทย์สั่ง รวมถึงไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ โดยระยะเวลาในการพักฟื้นจนหายดีอาจใช้เวลาราว 4-8 สัปดาห์

ความเสี่ยงจากการผ่าตัดส่องกล้อง

ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจพบผลข้างเคียงได้ เช่น

  • มีเลือดออกบริเวณผ่าตัดเล็กน้อย
  • ปวดหรือเจ็บบริเวณแผล โดยอาจบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด
  • อาการปวดไหล่ที่เกิดจากฤทธิ์ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมักหายได้เองในเวลาไม่นาน
  • แผลติดเชื้อ เป็นเรื่องที่ควรระวังมากเพราะการติดเชื้ออาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากมีไข้ หนาวสั่น แผลบวมแดง ปวดอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ หายใจหอบ ไอไม่หยุด หรือปัสสาวะไม่ออก ควรไปพบแพทย์ทันที

จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ว่าการผ่าตัดส่องกล้องมีข้อดีหลายอย่างที่ต่างจากการผ่าตัดแบบเดิม เช่น มีแผลขนาดเล็กกว่า เจ็บน้อยกว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อต่ำกว่า ฟื้นตัวได้เร็วกว่า ซึ่งประโยชน์ในส่วนนี้อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นในโรงพยาบาล นอกจากนี้ แผลเป็นที่เกิดหลังจากแผลหายยังมีขนาดเล็กและสังเกตเห็นได้ยากกว่าการผ่าตัดแบบปกติ

สำหรับผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวจำเป็นต้องดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดส่องกล้องไม่ได้เหมาะกับทุกโรคที่เกิดขึ้นบริเวณช่องท้องและอุ้งเชิงกราน โดยทั่วไป แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุด