ผ่าต้อกระจก (Cataract Surgery) ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ผ่าต้อกระจก (Cataract Surgery) เป็นการผ่าตัดนำเลนส์ตาที่ขุ่นออก เพื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียมทดแทน ทำให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ชัดขึ้นจากปัญหาทางด้านสายตา สายตาพร่ามัว มองได้ไม่ชัด หรือแพ้แสงจ้าของโรคต้อกระจก

การผ่าตัดต้อกระจกมีหลายวิธี แต่วิธีมาตรฐานที่ใช้ในโรงพยาบาลหรือศูนย์ผ่าตัดเป็นการผ่าตัดที่เรียกว่า Phacoemulsification โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์เข้าไปสลายต้อกระจกให้มีขนาดเล็กก่อนจะดูดออกมา แล้วค่อยใส่เลนส์แก้วตาเทียม (Intraocular Lens: IOL) เข้าไปทดแทน การผ่าตัดสลายต้อกระจกวิธีนี้จะทำให้เกิดแผลที่มีขนาดเล็กมาก และไม่ต้องมีการเย็บปิดแผล

ผ่าต้อกระจก (Cataract Surgery) ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

เมื่อไหร่ต้องผ่าต้อกระจก 

การผ่าตัดจะช่วยรักษาอาการของโรคต้อกระจกที่ทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็น แต่ไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดทันทีที่แพทย์วินิจฉัยพบว่าเป็นโรค โดยเฉพาะในผู้ที่ยังมีสายตาปกติ ไม่มีปัญหาทางด้านการมองเห็น 

แต่แพทย์มักจะแนะนำการผ่าตัดในกรณีที่อาการของโรคมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป การทำงาน หรือรบกวนการรักษาความผิดปกติทางสายตาอื่น ๆ เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อมหรือภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ทำให้ยากต่อการวินิจฉัยของแพทย์ 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักเกณฑ์ว่าการมองเห็นระดับใดที่ควรเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วยเป็นหลัก หรืออาจพิจารณาด้วยคำถามต่อไปนี้ก่อนเลือกการเข้ารับการผ่าตัด

  • คุณสามารถมองเห็นได้ชัดเจนขณะทำงานหรือขับรถหรือไม่ 
  • คุณมีปัญหาในการอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์หรือไม่ 
  • คุณมีความยากลำบากในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือไม่ เช่น ทำอาหาร ซื้อของ รับประทานยา 
  • ปัญหาทางด้านสายตาส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตตามลำพังหรือไม่ 
  • ดวงตาแพ้แสงจ้าหรือมองเห็นในที่มีแสงมากได้ยากลำบากหรือไม่ 

ข้อห้ามในการผ่าต้อกระจก 

การผ่าตัดเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย แต่อาจเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยที่มีสภาวะร่างกายไม่พร้อมต่อการเข้ารับการผ่าตัดในบางกรณี เช่น โรคเรื้อรังบางชนิดที่อาจต้องพิจารณาความรุนแรงของโรคที่เป็นร่วมอยู่ด้วย เงื่อนไขทางการแพทย์บางประการ การผ่าตัดไม่ช่วยแก้ไขปัญหาทางสายตาให้ดีขึ้น ตลอดจนความสมัครใจของผู้ป่วยในการผ่าตัด ซึ่งต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการสูญเสียทางสายตาเป็นหลัก 

ขั้นตอนผ่าต้อกระจก 

ในขั้นแรกแพทย์จะหยอดยาชาหรือฉีดยาชาบริเวณรอบดวงตา บางรายอาจให้ยาระงับความเจ็บปวดหรือยาที่ช่วยให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นในระหว่างการผ่าตัด จึงทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีความรู้สึกตัวตลอดเวลา มองเห็นการเคลื่อนไหว หรือแสงในระหว่างการผ่าตัดได้ 

จากนั้นแพทย์จะมีการกรีดกระจกตาให้เกิดช่องขนาดเล็กมากสำหรับสอดเครื่องมือทางการแพทย์ ก่อนจะปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงในการสลายต้อกระจกแล้วดูดออก ก่อนใส่เลนส์ตาเทียมหรือแก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่เลนส์ตาเดิมที่เกิดภาวะขุ่นมัว 

หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นลง แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดใส่ที่ครอบตาป้องกันดวงตา และอยู่พักฟื้นในห้องประมาณ 15–30 นาที จึงสามารถกลับบ้านได้ตามปกติ หากผู้เข้ารับการผ่าตัดเป็นโรคต้อกระจกทั้ง 2 ข้าง การผ่าตัดจะทำทีละข้าง โดยอาจทิ้งระยะเวลาในการผ่าตัดแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 2–3 สัปดาห์ เพื่อรอให้ดวงตาข้างที่ผ่าตัดมีอาการดีขึ้นก่อน

การเตรียมตัวก่อนผ่าต้อกระจก 

แพทย์อาจมีการตรวจพิเศษในด้านอื่นเพิ่มเติมช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เช่น การอัลตราซาวด์ดูความโค้งของเลนส์ตา ขนาดและรูปร่างของดวงตา เพื่อช่วยในการวางแผนการเลือกเลนส์ตาเทียมได้เหมาะสมกับผู้เข้ารับการผ่าตัดมากขึ้น รวมไปถึงคำแนะนำทั่วไปในการปฏิบัติตนก่อนการผ่าตัด ดังนี้

  • ห้ามรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มก่อนการผ่าตัด 6 ชั่วโมง
  • หยุดรับประทานหรือใช้ยาบางชนิดก่อนการผ่าตัด โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำในเรื่องของประเภทยา เพราะยาบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงของเลือดออกมากขึ้นในระหว่างการผ่าตัด รวมไปถึงแจ้งแพทย์ล่วงหน้าหากมีการใช้ยาในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากยาอาจส่งผลต่อการผ่าตัดได้เช่นกัน
  • แพทย์อาจให้ใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะล่วงหน้าการผ่าตัด 1–2 วัน เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อและอาการบวมระหว่างการผ่าตัด
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรมีคนดูแลหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นลง เพราะการใช้ชีวิตประจำวันบางส่วนอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของดวงตา เช่น การขับรถ การหยิบจับสิ่งของ

การดูแลหลังการผ่าต้อกระจก

การมองเห็นในช่วงสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดอาจยังไม่ค่อยชัดเจน แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่วันเมื่อดวงตาเริ่มมีการปรับตัวได้ และจะสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเกือบเป็นปกติหลังจากผ่านไป 8 สัปดาห์ ในช่วงการพักฟื้น แพทย์อาจมีการจ่ายยาหยอดตาหรือยาอื่น ๆ เพื่อช่วยลดอาการข้างเคียงหลังการผ่าตัด และแนะนำการปฏิบัติตัว เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นได้ไว เช่น 

  • ควรสวมที่ครอบตาตลอดเวลาในช่วงหลังการผ่าตัด หรือจนกว่าแพทย์จะแนะนำให้เอาออก 
  • ระมัดระวังไม่ให้ดวงตาโดนน้ำ และห้ามขยี้ตา 
  • ใช้ยาหยอดตาหรือรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด 
  • เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่ส่งผลให้เกิดการกระทบกระเทือนกับดวงตา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้ทราบ เช่น ทำงานบ้าน ก้มตัวลงไปหยิบหรือยกของหนัก

เมื่อการผ่าตัดผ่านไปช่วงหนึ่ง แพทย์จะมีการนัดผู้ป่วย เพื่อติดตามผลหลังการรักษาเป็นระยะ และเมื่อผู้ป่วยพักฟื้น มีอาการดีขึ้นจนมองเห็นเกือบเป็นปกติประมาณ 1–3 เดือนหลังการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้สวมแว่นตาเพื่อช่วยปรับสภาพสายตาให้คงที่ หากกรณีที่มีการผ่าตัดต้อกระจกทั้ง 2 ข้าง แพทย์จะนัดผ่าตัดต้อกระจกที่ดวงตาอีกข้างทันทีเมื่อดวงตาข้างแรกที่ผ่ากลับมาเป็นปกติ 

อย่างไรก็ตาม ควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันทีหากพบอาการผิดปกติทางสายตาในระหว่างการพักฟื้น เช่น มองเห็นภาพไม่ชัดเจนหรือมองไม่เห็น มีอาการปวดตาตลอดเวลา ตาแดงมาก มองเห็นแสงวูบวาบหรือเป็นจุด ๆ สีดำ 

ผลข้างเคียงของการผ่าต้อกระจก

การผ่าต้อกระจกมีความปลอดภัยสูง และมีผลข้างเคียงน้อย อย่างไรก็ตาม สามารถเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อที่ตา ตาอักเสบและบวมแดง มีเลือดออก จอตาหลุดลอก ปวดตาจากความดันภายในลูกตา เปลือกตาตกลง น้ำตาไหลและเคืองตามาก สูญเสียการมองเห็นในบางราย หรืออาจนำไปสู่การเกิดโรคต้อหิน

หากผู้เข้ารับการผ่าตัดเป็นโรคทางตาอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม จะยิ่งมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดเพิ่มมากขึ้นหรืออาจไม่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้เป็นปกติเหมือนเดิม ดังนั้น ควรประเมินความเสี่ยงและรักษาโรคทางสายตาที่เป็นอยู่ก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกและอยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์