ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นผ้าอนามัยประเภทหนึ่ง ซึ่งผ้าอนามัยนั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือนผ้าอนามัยแบบสอดในไทยอาจไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักเนื่องจากใส่ยาก แต่มีข้อดีตรงที่คล่องตัวกว่าสำหรับบางกิจกรรม เช่น ว่ายน้ำ เป็นต้น ทว่าผ้าอนามัยแบบสอดนั้นปลอดภัยหรือไม่เมื่อเทียบกับผ้าอนามัยแบบธรรมดา นั่นเป็นสิ่งที่ผู้หญิง ควรรู้ก่อนตัดสินใจใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะหากใช้โดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับผ้าอนามัยแบบสอดก็อาจทำให้ใช้ผิดวิธีและก่อให้เกิดอันตรายได้
ผ้าอนามัยแบบสอด มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายแท่งสำลีอัดแข็ง โดยมีเชือกขนาดไม่ยาวนักติดอยู่ที่ส่วนปลายเพื่อให้สะดวกต่อการใช้ โดยผู้หญิงจะสอดผ้าอนามัยชนิดนี้เข้าไปภายในช่องคลอดสำหรับซับเลือดประจำเดือน หากต้องการนำออกมาก็ดึงที่ปลายเชือก ทั้งนี้ ผ้าอนามัยแบบสอดส่วนใหญ่จะใส่ไม่ยากเนื่องจากผู้ผลิตจะใส่แท่งพลาสติกขนาดเล็กมาในบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้ดันผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอด นอกจากนี้ ผ้าอนามัยแบบสอดยังมีหลายขนาดให้เลือกทั้งชนิดหนาและบางตามปริมาณประจำเดือนของผู้หญิงแต่ละคน
ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอดบ่อยแค่ไหน ?
เนื่องจากผ้าอนามัยแบบสอดนั้นถูกสอดไว้ในช่องคลอด ดังนั้ นเพื่อความสะอาดและปลอดภัยควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อรู้สึกว่าเลือดประจำเดือนเต็มผ้าอนามัยแล้ว และไม่ควรลืมเปลี่ยนผ้าอนามัยเพราะการทิ้งให้ผ้าอนามัยที่มีเลือดประจำเดือนเต็มอยู่ภายในช่องคลอดอาจทำให้ติดเชื้อ และรู้สึกไม่สบายตัว รวมทั้งอาจทำให้เลือดประจำเดือนที่ไม่ถูกดูดซับหยดลงเปื้อนกางเกงชั้นในได้
วิธีใช้ผ้าอนามัยแบบสอดที่ถูกต้อง
การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างถูกต้องจะส่งผลดีให้ผู้หญิงรู้สึกสะดวกสบายและคล่องตัวมากขึ้น ในเบื้องต้น ควรเลือกขนาดของผ้าอนามัยแบบสอดที่เหมาะสำหรับตัวเอง หากเพิ่งเริ่มใส่เป็นครั้งแรกควรเลือกชนิดบางก่อนเพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บหรืออึดอัดมากนัก แต่หากประจำเดือนมามากควรเลือกชนิดหนา เพื่อช่วยให้ดูดซับได้มากขึ้นและไม่รู้สึกเฉอะแฉะ ทั้งนี้ การใส่ผ้าอนามัยแบบสอดที่ถูกต้องควรปฏิบัติดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่ผ้าอนามัยทุกครั้ง
- นั่งหรือยืนในท่าที่สะดวกต่อการใส่ หากยืน ท่าในการยืนควรให้ขาข้างหนึ่งวางอยู่บนที่ที่สูงกว่า เช่น บนชักโครก เป็นต้น
- ใช้นิ้วโป้ง และนิ้วชี้ข้างที่ไม่ถนัดแหวกเปิดบริเวณแคมของอวัยวะเพศ แล้วสอดผ้าอนามัยแบบสอดเข้าไปตรงกลาง จากนั้นค่อย ๆ ใช้นิ้วข้างที่ถนัดดันผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอด
- หากใช้อุปกรณ์ช่วยใส่ผ้าอนามัย ให้ดันอุปกรณ์เข้าไปจนถึงจุดที่มีเครื่องหมายกำหนดไว้ จากนั้นดันแกนของอุปกรณ์เพื่อให้ผ้าอนามัยเข้าไปอยู่ภายในช่องคลอด จากนั้นนำอุปกรณ์ออก โดยให้เชือกที่ติดกับผ้าอนามัยออกมาอยู่ด้านนอก เพื่อจะได้สะดวกต่อการถอดผ้าอนามัยในภายหลัง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ทั้งนี้ หากใส่ผ้าอนามัยแบบสอดถูกต้อง จะรู้สึกสบายและไม่อึดอัด อีกทั้งเชือกจะต้องถูกปล่อยออกมาด้านนอก แต่ถ้ารู้สึกเจ็บ ก็อาจเป็นไปได้ว่าใส่ผ้าอนามัยไม่ลึกพอ ให้ใช้นิ้วดันเข้าไปให้ลึกกว่าเดิม แต่หากทำแล้วยังไม่หาย ควรถอดออกแล้วเปลี่ยนใหม่ หรือหันไปใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นก่อนเพื่อความปลอดภัย
ข้อดีและข้อเสียของการผ้าอนามัยแบบสอด
ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งมีข้อดีดังต่อไปนี้
- ให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าหากต้องเล่นกีฬาหรือกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะผ้าอนามัยแบบสอดนั้นจะให้ความรู้สึกที่คล่องตัวและไม่อึดอัดเหมือนการใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น
- สามารถใช้ขณะอยู่ในน้ำได้ หากต้องลงน้ำหรือว่ายน้ำขณะมีประจำเดือน ผ้าอนามัยแบบสอดจะช่วยดูดซับเลือดประจำเดือนได้ แต่ควรรีบเปลี่ยนเมื่อขึ้นจากน้ำ เนื่องจากผ้าอนามัยแบบสอดนั้นไม่กันน้ำ
- สะดวกต่อการพกพา เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าผ้าอนามัยชนิดแผ่น
ทว่าในขณะเดียวกันผ้าอนามัยแบบสอดก็มีข้อเสีย ซึ่งเป็นข้อด้อยที่ทำให้หลาย ๆ คนเลือกใช้ผ้าอนามัยชนิดแผ่นมากกว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้
- เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง และก่อให้เกิดกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock syndrome: TSS) ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- อาจก่อให้เกิดการเกร็งของช่องคลอดหรือเยื่อพรหมจรรย์ฉีกขาดได้
กลุ่มอาการท็อกซิกช็อก ผลข้างเคียงอันตรายจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
กลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome: TSS) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นผลข้างเคียงที่อันตรายที่สุดในการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด แม้จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของภาวะดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากพิษของเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) กลุ่มเอที่มีความรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดชนิดซึมซับได้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากจะทำให้ระยะห่างของการเปลี่ยนผ้าอนามัยยาวขึ้น จนก่อให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อและกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ในที่สุด
โดยพิษจากการติดเชื้อดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ได้แก่
- ไข้สูงเฉียบพลัน
- ความดันโลหิตต่ำ
- ท้องเสีย หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
- มีผื่นคล้ายถูกแดดเผาขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า
- ปวดศีรษะ เกิดอาการมึนงง
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ตา ปาก และคอแดงผิดปกติ
- เกิดอาการชัก
ทั้งนี้ อาการของภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากไม่รีบรักษาอย่างเร่งด่วนจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น ช็อก ไตวาย ในกรณีที่รุนแรงที่สุดอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้น หากพบว่าตัวเองมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่าจะเกิดกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก ควรหยุดใช้ผ้าอนามัยแบบสอด และรีบไปพบแพทย์โดยทันที ซึ่งเมื่อถึงมือแพทย์แล้ว หากได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะดังกล่าว ผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ อีกทั้งจะต้องให้น้ำเกลือผ่านทางหลอดเลือดดำเพื่อกระตุ้นความดันโลหิตและรักษาภาวะขาดน้ำ หากมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จะต้องรักษาตามอาการจนกว่าจะหายเป็นปกติจึงจะกลับบ้านได้
ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างไรให้ปลอดภัย ?
ปัจจุบัน ความเสี่ยงจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะการใช้ผ้าอนามัยชนิดนี้ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย แต่หากรู้วิธีใช้ที่ถูกต้องก็จะยิ่งช่วยให้เกิดความอุ่นใจและห่างไกลจากการติดเชื้อ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังนี้
- เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก 4 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดที่ดูดซึมได้มากเป็นพิเศษเพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่า
- เมื่อแกะผ้าอนามัยออกจากห่อแล้วควรรีบใช้โดยทันที
- ควรใช้ผ้าอนามัยแบบสอดชนิดที่เหมาะสม
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนหรือหลังใส่ผ้าอนามัย
- ค่อย ๆ ใส่และถอดผ้าอนามัยแบบสอดอย่างเบามือ เพื่อป้องกันการระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ช่วยใส่ผ้าอนามัยหากไม่จำเป็น
- ดูแลและรักษาความสะอาดอวัยวะเพศให้มากขึ้นในช่วงมีประจำเดือน
- ห้ามใส่ผ้าอนามัยแบบสอดเมื่อไม่ได้อยู่ในช่วงมีประจำเดือน
-
หากประจำเดือนมาน้อย หรืออยู่ในช่วงประจำเดือนใกล้หมดควรเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยชนิดแผ่นแทนแบบสอด หากจำเป็นต้องใช้ควรใช้เจลหล่อลื่นช่วยเพื่อป้องกันการระคายเคือง
ปัสสาวะขณะใส่ผ้าอนามัยแบบสอดได้หรือไม่ ?
แม้ว่าผ้าอนามัยแบบสอดจะต้องสอดเข้าไปภายในอวัยวะเพศ แต่ก็จะไม่ไปขวางช่องทางเดินปัสสาวะแต่อย่างใด เนื่องจากผ้าอนามัยจะถูกสอดเข้าไปในช่องคลอดที่อยู่ติดกับช่องปัสสาวะเล็ก ๆ แต่ก็อาจมีโอกาสที่เชือกที่ยื่นออกมาจากผ้าอนามัยแบบสอดจะโดนปัสสาวะได้ ซึ่งอาจใช้วิธีจับปลายเชือกไว้ขณะปัสสาวะเพื่อไม่ให้เปื้อน
ทั้งนี้ การปัสสาวะขณะใส่ผ้าอนามัยแบบสอดนั้นถือเป็นเรื่องที่ปลอดภัย ตราบใดที่ไม่ได้อยู่ในภาวะติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ เพราะหากอยู่ในภาวะดังกล่าว อาจเสี่ยงปัสสาวะกระเด็นไปโดนเชือกของผ้าอนามัยแบบสอด และเกิดการติดเชื้อได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องถอดผ้าอนามัยแบบสอดออกเมื่อต้องปัสสาวะ เมื่อถอดออกมาแล้วควรเปลี่ยนอันใหม่เนื่องจากการถอดออกมาอาจทำให้สัมผัสกับเชื้อโรคในอากาศได้