ฝีดาษลิง (Mpox)

ความหมาย ฝีดาษลิง (Mpox)

ฝีดาษลิงหรือเอ็มพ็อกซ์ (Mpox หรือ Monkeypox) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสสกุลเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ แต่มีลักษณะของอาการที่แตกต่างกันจึงไม่ใช่โรคเดียวกัน เชื้อฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์ที่มีเชื้อสู่คนก็ได้ อาการของโรคมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนแรงมากและสามารถหายได้เอง 

การแพร่กระจายของเชื้อฝีดาษลิจากคนสู่คนสามารถติดต่อได้จากการพูดคุย หายใจร่วมกับผู้ติดเชื้อ การสัมผัส การมีเพศสัมพันธ์ การจูบและการร่วมเพศทางปากกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งเชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่แตก ลอก ถลอก หรือเป็นแผล รวมถึงผิวหนังชั้นเยื่อเมือก เช่น ดวงตา คอหอย อวัยวะเพศ และทวารหนัก

Mpox

การแพร่กระจายเชื้อฝีดาษลิงจากสัตว์ติดเชื้อสู่คนสามารถติดต่อได้จากการถูกกัดหรือข่วน การกินเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อโดยไม่ปรุงให้สุกดี การสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อโรค และยังสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้อีกด้วย 

สาเหตุการเกิดโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิงเกิดจากไวรัสสกุลออร์โธพ็อก (Orthopoxvirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสกุลเดียวกันกับเชื้อฝีดาษ โดยเชื้อไวรัสสกุลออร์โธพ็อกที่ทำให้เกิดฝีดาษลิงหรือโรคเอ็มพ็อกซ์มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่

1. ไวรัสสายพันธุ์แอฟริกากลางหรือเคลดวัน (Clade I) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มักจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงมากกว่า ส่งผลให้เกิดจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมาก 

2. ไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกหรือเคลดทู (Clade II) เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายอย่างง่ายและรวดเร็วกว่าจนทำให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก

อาการของโรคฝีดาษลิง

อาการของโรคฝีดาษลิงแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่แล้ว อาการระยะแรกมักเป็นผื่นที่อาจขึ้นตามใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ขาหนีบ บริเวณอวัยวะเพศ บริเวณทวารหนัก ในปากและลำคอ 

ในระยะแรกผู้ติดเชื้ออาจมีตุ่มสีแดงไม่นูนมากขึ้นตามร่างกาย และอาจรู้สึกเจ็บ ต่อมาตุ่มแดงเหล่านั้นอาจนูนและแข็งขึ้นก่อนที่จะกลายเป็นแผลพุพองและเป็นตุ่มน้ำ โดยตุ่มน้ำจะกลายเป็นหนองเมื่อเวลาผ่านไป โดยในระยะสุดท้ายแผลเหล่านั้นอาจตกสะเก็ดและหลุดออกไปในที่สุด ผื่นฝีดาษส่วนใหญ่อาจหายได้ในเวลา 2–4 สัปดาห์

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ อีก เช่น ปวดหัว มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นอาการที่ไม่มีในโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ

โดยทั่วไปผู้ที่มีอาการของโรคฝีดาษลิงมักหายเป็นปกติได้หากรับการรักษาที่เหมาะสม แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ย เช่น เด็กทารก คนท้อง ผู้มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ควรเข้ารับการซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยทันที เพื่อที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

อาการของโรคฝีดาษลิงที่ควรพบแพทย์

อาการที่ควรพบแพทย์ในผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ได้แก่ อาการหายใจลำบาก เจ็บอก ขยับคอไม่ได้หรือคอแข็ง พูดหรือขยับร่างกายลำบาก อาการชัก หากผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงอาการใดอาการหนึ่งที่กล่าวมานี้ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม และป้องกันไม่ให้อาการของโรคแย่ลง

การวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง

เนื่องจากโรคฝีดาษลิงมีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค เช่น อีสุกอีใส โรคหัด เริม และอาการแพ้ยาบางชนิด ทำให้ฝีดาษลิงเป็นโรคที่สังเกตจากอาการได้ยาก ผู้ที่มีอาการคล้ายโรคฝีดาษลิง เช่น มีผื่นหรือตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกาย มีไข้สูง และมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต จึงควรเข้าตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อมีอาการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

การวินิจฉัยโรคฝีดาษลิงมักจะทำด้วยการตรวจ Polymerase Chain Reaction (PCR) เริ่มจากการเก็บตัวอย่างโดยใช้สำลีเช็ดที่ผื่น ตุ่มน้ำ หรือจากแผลบริเวณในช่องปาก คอหอย และทวารหนักเพื่อนำไปทดสอบในห้องทดลอง โดยระยะเวลาการตรวจส่วนใหญ่สามารถรู้ผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง

การรักษาโรคฝีดาษลิง

การรักษาโรคฝีดาษลิงมักเป็นการรักษาตามอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลรักษาตัวเองได้ที่บ้านด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ใช้น้ำเกลือบ้วนปากเพื่อรักษาแผลในบริเวณช่องปาก 
  • อาบน้ำด้วยการแช่น้ำ หรืออาบน้ำอุ่นที่ผสมเบคกิ้งโซดาหรือดีเกลือฝรั่งเพื่อรักษาแผล 
  • กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลเพื่อบรรเทาความรู้สึกเจ็บหรือปวดที่แผลได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยไม่ควรบีบ เกา และโกนขนบริเวณที่เป็นผื่นฝีดาษ เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อให้เกิดผื่นขึ้นที่บริเวณอื่นตามร่างกาย อาจเกิดการติดเชื้อและทำให้แผลหายช้าลง และควรดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอาจช่วยให้ฟื้นตัวได้ไวขึ้น

ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมีอาการที่รุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาการให้ยาต้านไวรัสไซโดโฟเวียร์ (Cidofovir) ซึ่งช่วยป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัส หรือยาเทคโควิริแมท (Tecovirimat) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคฝีดาษ

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคฝีดาษลิง

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากโรคฝีดาษลิง ได้แก่ อาการผิวหนังติดเชื้อจากแบคทีเรียอย่างรุนแรง ปอดบวม ติดเชื้อที่กระจกตาและสูญเสียการมองเห็น โรคสมองอักเสบ อาเจียนและท้องเสียจนมีภาวะขาดน้ำหรือสารอาหารอย่างรุนแรง ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอื่น ๆ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ติดเชื้อที่ไม่ดูแลรักษาอาการอย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำอย่างรุนแรง เด็กทารก เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี คนท้อง และผู้ที่เคยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

การป้องกันโรคฝีดาษลิง

การป้องกันโรคฝีดาษลิงอาจทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสคน สัตว์ หรือสิ่งของที่มีเชื้อ 
  • กินอาหารปรุงสุก เนื่องจากการกินเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อโดยไม่ปรุงให้สุกก่อนอาจทำให้ติดเชื้อได้
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส
  • มีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยครั้ง เช่น ลูกบิดประตู
  • ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงควรใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment หรือ PPE)

นอกจากวิธีการดูแลตัวเองดังกล่าวแล้ว ในประเทศไทยยังมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิง โดยเน้นไปที่ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงก่อน เช่น ผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาฝีดาษลิง บุคคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ซึ่งผู้เข้ารับวัคซีนต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อควรฉีดวัคซีนภายใน 4–14 วันหลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ 

การฉีดวัคซีนฝีดาษลิงจะเป็นการฉีดวัคซีนจำนวน 0.1 มิลลิลิตรเข้าชั้นผิวหนัง จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถรับวัคซีนด้วยการติดต่อทำนัดกับสถานเสาวภา สภากาชาดไทย

ในส่วนของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงควรป้องกันการแพร่กระจายเชื้อด้วยวิธีต่อไปนี้

  • กักตัวที่บ้านในห้องของตัวเองหรือที่โรงพยาบาลจนกว่าจะหายดี 
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่โดยเฉพาะหลังการสัมผัสโดนผื่นหรือแผล 
  • ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อหลีกเลี่ยงการกระจายของเชื้อไปที่บริเวณต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น 
  • คลุมหรือปิดบริเวณที่มีผื่น ตุ่มน้ำ หรือแผลเมื่อมีอยู่ร่วมกับผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากแผลไปสู่ผู้อื่น

ผู้ที่มีอาการคล้ายกับโรคฝีดาษลิงควรปรึกษาแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจวินิจฉัย และพิจารณาการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคและลดจำนวนการแพร่ระบาด ในส่วนผู้ได้รับวินิฉัยว่าติดเชื้อฝีดาษลิงควรดูแลรักษาตัวเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจนกว่าจะหายดี แต่หากอาการแย่ลงหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านไป 4 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์