หลายสิบปีที่ผ่านมานี้ ฝุ่นและมลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพไปทั่วโลก เห็นได้ชัดจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นตัวการของอาการเจ็บป่วยที่หลายคนสามารถสูดดมได้ในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยมลพิษจากยวดยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะดีกว่าไหมหากเราหันมาดูแลตัวเองและคนที่รักตั้งแต่ตอนนี้ก่อนที่ฝุ่น PM 2.5 จะทำลายสุขภาพจนสายเกินไป
ฝุ่น PM 2.5 (Particular Matter 2.5) เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งสามารถเล็ดลอดเข้าไปภายในร่างกายได้จนถึงปอดและกระแสเลือด ประกอบไปด้วยสสารหลากหลายชนิด เช่น ไนเตรต ซัลเฟต สารประกอบเคมีอินทรีย์ แร่โลหะ ดิน ฝุ่นละออง รวมถึงสารก่อภูมิแพ้และสารก่อมะเร็ง ฉะนั้น ฝุ่น PM 2.5 จึงค่อนข้างเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้มากกว่าฝุ่นหยาบที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 10 ไมโครเมตร (Particular Matter 10: PM 10) โดยเฉพาะหากสูดดมฝุ่นนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5
โดยปกติ ฝุ่น PM 2.5 มักเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของควันท่อไอเสียรถยนต์หรือยานพาหนะอื่น ๆ การปล่อยมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า การเผาขยะในพื้นที่โล่งหรือเตาเผาขยะ โดยไฟป่าและพายุฝุ่นจะทำให้ฝุ่นนี้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งการสูดดมฝุ่นชนิดนี้จะส่งผลเสียต่อกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น
- เพิ่มอนุมูลอิสระภายในร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบและสร้างความเสียหายต่อเซลล์
- ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือด ทำให้แลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่ดี
- ทำให้ระดับแคลเซียมภายในเซลล์เกิดความไม่สมดุล
- เป็นตัวการกระตุ้นมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปอด
โดยในระยะสั้นอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ระคายเคืองดวงตา จมูก ลำคอและหน้าอก มีปัญหาทางระบบทางเดินหายใจอย่างการไอ หายใจลำบากหรือปอดถูกทำลาย เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดและโรคปอดอาจมีอาการแย่ลง บางรายที่เป็นโรคหัวใจอาจเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดหรือภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ฝุ่น PM 2.5 ยังอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยและเจริญเติบโตได้ช้า ดังนั้น สตรีมีครรภ์ รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่มีภูมิต้านทานต่ำอาจเสี่ยงได้รับอันตรายจากฝุ่นชนิดนี้มากกว่าคนสุขภาพดีทั่วไป จึงควรเพิ่มความระมัดระวังและตระหนักถึงอันตรายของฝุ่น PM 2.5 มากเป็นพิเศษ
สำหรับผลในระยะยาว ฝุ่น PM 2.5 อาจไปขัดขวางการทำงานของปอด เพิ่มความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งทำให้โรคลุกลามมากขึ้นหรือมีอายุขัยลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจ
วิธีดูแลตัวเองจากฝุ่น PM 2.5
หลายคนอาจไม่ทราบว่าฝุ่น PM 2.5 ไม่เคยหายไปไหนไกล เพียงแต่มีปริมาณลดลงจนเราเผลอนิ่งนอนใจ และไม่ดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีและห่างไกลจากฝุ่นตัวร้ายอยู่เสมอ ทุกคนควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ออกกำลังกายด้วยการเดินแทนการออกแรงมาก ๆ หากอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานอาจต้องลดทำกิจกรรมกลางแจ้ง พยายามอยู่ภายในอาคาร ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องออกไปเผชิญฝุ่นและมลพิษแทบทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ยังสามารถดูแลตนเองจากฝุ่น PM 2.5 ด้วยการพกพาอุปกรณ์ป้องกันติดตัวไว้ตลอด ดังนี้
หน้ากากอนามัยมาตรฐาน N95
หน้ากากอนามัยประเภทนี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันที่สูงกว่าหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปโดยสามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กมากถึงขนาด 0.3 ไมโครเมตร ได้มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังถูกออกแบบมาให้สวมใส่แล้วกระชับพอดีกับใบหน้าเพื่อป้องกันฝุ่นเล็ดลอดผ่านเข้าไป ด้วยเหตุนี้ผู้ใช้งานจึงต้องเลือกซื้อหน้ากากที่มีขนาดเหมาะสมกับรูปหน้ามากที่สุด รวมถึงเป็นหน้ากากแบบที่มีวาล์วระบายอากาศ ซึ่งจะช่วยให้หายใจและระบายความร้อนจากลมหายใจออกมาได้สะดวกมากขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การผ่านมาตรฐานรับรอง การเก็บรักษาแบบแยกชิ้นเพื่อคงความสะอาดและนำมาใช้ซ้ำได้ และการพกพาที่สะดวกก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้ควรคำนึงถึงก่อนเลือกซื้อเช่นกัน หากมีข้อสงสัยเรื่องมาตรฐานของหน้ากากอนามัยชนิด N95 สามารถสอบถามได้จากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและลำคอ
บางครั้งหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะในระหว่างวันฝุ่น PM 2.5 อาจก่อให้เกิดปัญหาในช่องปากและลำคออย่างการระคายเคือง การอักเสบ หรืออาการไอได้ ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากที่เน้นส่วนผสมของสารสกัดจากดอกคาร์โมไมล์และสารสกัดจากธรรมชาติอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น เปปเปอร์มินต์ ยูคาลิปตัส เบอร์กามอต หรือเทียนสัตตบุษย์ เป็นต้น นับเป็นทางเลือกที่ดีในการบรรเทาปัญหานี้ ทั้งยังมีส่วนช่วยลดกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์และลดการสะสมของแบคทีเรียภายในปากและลำคอด้วย
สุดท้ายนี้ ไม่ว่ามลพิษทางอากาศจะมีปริมาณสูงหรือต่ำก็ล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายด้วยกันทั้งสิ้น การดูแลตนเองและจำกัดการสูดดมฝุ่นหรือมลพิษด้วยการสวมหน้ากากป้องกันที่มีประสิทธิภาพเป็นประจำทุกวันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุ หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาเพิ่มเติมต่อไป