พริกไทย เครื่องเทศรสชาติเผ็ดร้อนที่อยู่คู่ครัวไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะใช้โขลกรวมกับกระเทียมและรากผักชีเพื่อเป็นส่วนผสมพื้นฐานในอาหารหลากหลายประเภท ใช้หมักเนื้อสัตว์เพื่อให้ได้รสเผ็ดร้อนและช่วยดับกลิ่นคาว รวมถึงใช้โรยบนอาหารเพื่อชูรสชาติให้อาหาร ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ในด้านการทำอาหารแล้ว พริกไทยยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย
พริกไทย 1 ช้อนชาให้พลังงานประมาณ 6 แคลอรี่ และยังให้คาร์โบไฮเดรตกับใยอาหารอีกเล็กน้อย พริกไทยอุดมไปด้วยแมงกานีสและวิตามินเค รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินอี แคลเซียม และโพแทสเซียม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ฟลาโวนอยด์ และสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic Compounds) อื่น ๆ ที่ช่วยปกป้องเซลล์และช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารด้วย
ประโยชน์ของพริกไทย
พริกไทยมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้
มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ
ในพริกไทยดำมีสารประกอบชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าพิเพอรีน (Piperine) จากการวิจัยพบว่าสารชนิดนี้มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระนั้นเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์เกิดการอักเสบและเสียหายจนอาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ดังนั้นพริกไทยจึงอาจช่วยป้องกันหรือชะลอการอักเสบของเซลล์ที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้
และเนื่องจากคุณสมบัติในการต้านการอักเสบของสารพิเพอรีน พริกไทยจึงอาจช่วยรักษาโรคข้ออักเสบได้ด้วย จากงานวิจัยในหนูทดลองพบว่าสารพิเพอรีนช่วยลดการอักเสบในข้อต่อเท้าของหนูได้ อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติต้านการอักเสบของสารพิเพอรีนในพริกไทยยังไม่มีการศึกษาในคนอย่างกว้างขวาง จึงยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอีกเพื่อมายืนยันข้อเท็จจริงนี้
ช่วยเสริมการทำงานของสมอง
พริกไทยอาจช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้นและอาจช่วยลดอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมบางประการ เช่น โรคอัลไซเมอร์ จากงานวิจัยในหนูชิ้นหนึ่งพบว่าสารสกัดจากพิเพอรีนในพริกไทยมีประสิทธิภาพในการเพิ่มความจำของหนูที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ และงานวิจัยในหนูอีกชิ้นก็พบว่าสารสกัดพิเพอรีนอาจช่วยลดการก่อตัวของแอมีลอยด์พลาก (Amyloid Plaques) ในสมอง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ด้วย
ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
พริกไทยอาจช่วยให้กระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดทำงานได้ดีขึ้น จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ทำการศึกษาในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ โดยให้รับประทานสารสกัดพิเพอรีนจากพริกไทยร่วมกับสารสกัดอื่น ๆ อีกหลายชนิด พบว่าภาวะดื้ออินซูลินในร่างกายนั้นลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ฮอร์โมนอินซูลินสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สารสกัดที่ใช้ในการทดลองนั้นมีส่วนประกอบของสารหลายชนิด จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะสารพิเพอรินว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลได้จริงหรือไม่
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหาร
พริกไทยมีประสิทธิภาพในการช่วยเพิ่มการดูดซึมของสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น เหล็ก แคลเซียม และซีลีเนียม รวมถึงสารประกอบจากพืชบางชนิด เช่น สารเบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) ที่พบในผักและผลไม้หลากสี หรือสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ที่พบในขมิ้น ดังนั้น สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารเสริมบางชนิด เช่น แคลเซียม การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของพริกไทยอาจช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น
ช่วยย่อยอาหารและเสริมการทำงานของลำไส้
พริกไทยมีคุณสมบัติในการช่วยย่อย โดยพริกไทยจะช่วยกระตุ้นการหลั่งกรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric Acid) ในกระเพาะอาหาร ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมและย่อยสารอาหารที่รับประทานเข้าไปได้ดีขึ้น นอกจากนี้พริกไทยยังมีคุณสมบัติในการช่วยขับลม จึงสามารถช่วยลดแก๊สในลำไส้ ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยปรับปรุงการทำงานของลำไส้ได้
ข้อควรระวังในการบริโภคพริกไทย รู้ก่อนปลอดภัยกว่า
แม้ว่าพริกไทยจะไม่ค่อยมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อร่างกาย และคนส่วนใหญ่ก็สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย แต่ทุกคนก็ไม่ควรที่จะละเลยเกี่ยวกับข้อควรระวังในการบริโภคพริกไทย ดังนี้
- สารพิเพอรีนในพริกไทยอาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิดและทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมของยาลดลง ผู้ที่ต้องรับประทานยาบางชนิดควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- การรับประทานพริกไทยในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร รู้สึกจุกเสียดแน่นท้อง และอาหารไม่ย่อย
- บางคนอาจมีอาการแพ้พริกไทยได้ หากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของพริกไทยแล้วเกิดอาการผิดปกติ เช่น ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม คันหรือชาในปาก คลื่นไส้อาเจียน มีลมพิษขึ้น และหายใจติดขัด ควรรีบไปพบแพทย์
พริกไทยมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการก็จริง แต่ถ้าหากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมและศึกษาเกี่ยวกับข้อควรระวังก่อนการบริโภคเพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้