พริก ความเผ็ดร้อนและคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ

พริก เป็นพืชเมืองร้อนชนิดหนึ่งมีลำต้นตรง ดอกสีขาวลักษณะคล้ายดาว ผลพริกมีความหลากหลายทั้งสี ขนาด และรูปทรง ซึ่งเป็นส่วนที่นิยมใช้เป็นเครื่องปรุงชูรสชาติทั้งแบบสด แบบแห้ง และแบบผงป่น โดยเฉพาะอาหารไทย อาหารอินเดีย และอาหารเม็กซิกัน

พริก

สิ่งที่ทำให้พริกมีความเผ็ดร้อนจนทำให้หลายคนจดจำได้ เป็นเพราะสารแคปไซซิน (Capsaicin) นอกจากจะทำให้พริกมีรสชาติโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว แคปไซซินยังเป็นสารออกฤทธิ์หลักที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลายคนเชื่อว่าสารแคปไซซินอาจมีส่วนช่วยรักษาหรือทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้ เช่น บรรเทาอาการปวดหรือเกร็งของกล้ามเนื้อ อาการปวดข้อ การติดเชื้อทางผิวหนัง แผลในกระเพาะอาหาร ลดระดับไขมันในเลือด รวมถึงเชื่อว่าอาจช่วยป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย

ทั้งนี้ ต้องดูถึงการศึกษาถึงข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์ว่ามีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการรับประทานพริกที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้

ประโยชน์ของพริกที่อาจมีต่อสุขภาพ

รักษาอาการปวดข้อ สารแคปไซซินจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารที่เชื่อว่ามีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดระหว่างเส้นประสาทในกระดูกสันหลังกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับการทดลองชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของสารแคปไซซิน โดยให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อจากโรคข้อเสื่อมและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซิน 0.025 เปอร์เซ็นต์ ทาที่บริเวณหัวเข่าวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ามีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก ซึ่งผู้ป่วยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์มีอาการดีขึ้นหลังใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซินไปแล้ว 2 สัปดาห์ และบางรายมีอาการแสบร้อนชั่วคราวเกิดขึ้นบริเวณที่ทาครีม จากผลการทดลองข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่าครีมที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซินปลอดภัยและอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดข้อ อีกทั้งองค์การอาหารและยา (FDA) ยังให้การรับรองว่าสารแคปไซซินซึ่งเป็นสารสกัดที่พบได้ในพริกมีประโยชน์บรรเทาอาการปวดข้อในกรณีใช้รูปแบบเฉพาะที่ (Topical Form)

รักษาอาการปวดเส้นประสาทชนิดเรื้อรัง มีสาเหตุมาจากโรคหรือได้รับบาดเจ็บจนทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย มักมีอาการปวดหลายวันหรืออย่างน้อยประมาณ 3 เดือน มีความเชื่อว่าสารแคปไซซินในพริกซึ่งเป็นสารให้ความเผ็ดร้อน อาจมีส่วนช่วยระงับความเจ็บปวดของเส้นประสาทซึ่งจะส่งผลให้อาการต่าง ๆ บรรเทาลง สอดคล้องกับการศึกษา 7 ชิ้น ซึ่งให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเส้นประสาทจากโรคงูสวัด จากโรคเบาหวาน และจากการติดเชื้อเอชไอวี จำนวนทั้งสิ้น 2,442 คน ใช้สารแคปไซซินที่มีความเข้มข้นสูงทาบริเวณที่มีอาการ พบว่าอาการปวดดีขึ้นมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก แต่มีการศึกษาขนาดเล็กชิ้นหนึ่งที่แสดงผลลัพธ์แตกต่างออกไป เมื่อให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดหลังมีอาการปวดจากไส้เลื่อนใช้สารสกัดจากพริก ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

อย่งไรก็ตามหลักฐานการศึกษาข้างต้นอยู่ในระดับคุณภาพปานกลางที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของแผ่นแปะที่มีความเข้มข้นของสารแคปไซซินสูง 8 เปอร์เซ็นต์ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ในระดับปานกลางหรือบรรเทาได้ดีกว่าสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเส้นประสาทจากโรคงูสวัด หลักฐานการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือน้อยแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบรรเทาอาการปวดสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเส้นประสาทจากโรคเบาหวานและจากการติดเชื้อเอชไอวี จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติ่มเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของสารแคปไซซินต่ออาการปวดเส้นประสาทที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

รักษาโรคสะเก็ดเงิน มีการศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซินทาในบริเวณที่มีอาการของโรคสะเก็ดเงินเป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการโดยรวมดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก และในช่วงแรกของการทดลองมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงคือ รู้สึกแสบร้อน แดง และคันที่บริเวณผิวหนัง แต่อาการดีขึ้นเมื่อใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่ายาที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซินซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่พบได้ในพริกอาจมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

รักษาอาการปวดเอว หลายคนที่มีอาการปวดเอวอาจรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร ซึ่งสารแคปไซซินที่พบในพริกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับรักษาอาการปวดเอว จึงสอดคล้องกับหลักฐานจากการทดลอง 3 ชิ้น มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 755 คน โดยให้ผู้ที่มีอาการปวดเอวเรื้อรังใช้ครีมหรือพลาสเตอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพริกทาหรือแปะบริเวณที่มีอาการปวด อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก นอกจากนี้ ยังมีการทดลองอื่น ๆ แสดงผลต่างกันออกไป เช่น จากหลักฐานชิ้นล่าสุดยังไม่ชัดเจนว่าครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพริกมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ที่มีอาการปวดเอวแบบฉับพลันมากกว่าหรือไม่เมื่อเทียบกับการใช้ยาหลอก แต่เป็นผลการทดลองที่มีระดับคุณภาพของหลักฐานค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม การรักษาหลักยังเป็นที่ยอมรับและมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยหลักฐานจากการทดลองข้างต้นยังไม่เพียงพอที่จะบอกได้ถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสารสกัดจากพริกที่มีต่อการรักษาในระยะยาว จึงยังจำเป็นต้องออกแบบการทดลองให้ดีขึ้นเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของสารแคปไซซินในพริกต่ออาการปวดเอวที่ชัดเจนและเชื่อถือได้

รักษาโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (Non-Allergic Rhinitis) แคปไซซินซึ่งเป็นสารให้ความเผ็ดในพริกอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้มีอาการดีขึ้นได้ โดยควบคุมการทำงานของตัวรับสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกต่าง ๆ เช่น เจ็บปวด หนาว ร้อน รสชาติ รวมถึงความดันและการมองเห็น ซึ่งมีการศึกษาวิจัย 4 ชิ้นที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้อายุตั้งแต่ 16-65 ปี จำนวน 302 คน ใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซิน และติดตามผลหลังการรักษาตั้งแต่ 4-38 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก และจากการศึกษาได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซินกับยาสเตียรอยด์บูเดโซไนด์ โดยพ่นยาวันละ 5 ครั้งในปริมาณ 4 ไมโครกรัม ดูเหมือนว่าสารแคปไซซินจะออกฤทธิ์ได้ดีกว่าและพบว่าอาการดีขึ้นหลังรักษาไปแล้ว 36 สัปดาห์จึงนับว่าสารแคปไซซินอาจใช้เป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ได้ภายใต้การดูแลของแพทย์

รักษาแผลในกระเพาะอาหาร มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (Helicobacter Pylori) หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น กรดในกระเพาะอาหารที่ผลิตออกมามากเกินไป การรับประทานยาลดการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสดเป็นประจำ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือความเครียด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน ทั้งนี้มีคนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าการรับประทานพริกหรืออาหารที่มีรสเผ็ดเป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งหลักฐานและข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าพริกหรือสารแคปไซซินซึ่งเป็นสารให้ความเผ็ดของพริกไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร แต่ช่วยยับยั้งการหลั่งกรด เพิ่มความเป็นด่าง กระตุ้นการหลั่งเมือก อีกทั้งยังกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อดีที่ช่วยป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่จะช่วยสนับสนุนประสิทธิภาพดังกล่าว โดยให้ผู้ที่มีสุขภาพดี ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหารและโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารประเภทอื่น และผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง โดยใช้สารแคปไซซินเพียงลำพังหรือใช้ร่วมกับการใช้ยาชนิดอื่น ๆ จากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่าสารแคปไซซินมีประโยชน์ในฐานะตัวป้องกันระบบทางเดินอาหารที่ใช้ได้กับผู้ที่มีสุขภาพดี ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่ต้องรักษาด้วยยาในกลุ่มเอ็นเสด แต่ยังมีข้อมูลน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม

ความปลอดภัยในการรับประทานพริก

การรับประทานพริกค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานเป็นอาหารในปริมาณที่เหมาะสม แต่ความเผ็ดของพริกอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เหงื่อออก หน้าแดง หรือน้ำมูกไหลได้ การดื่มน้ำเปล่าอาจช่วยบรรเทาความเผ็ดได้ไม่ดีเท่าการดื่มนมหรือโยเกิร์ต เพราะน้ำจะทำให้น้ำมันแคปไซซินซึ่งเป็นสาเหตุของความเผ็ดกระจายไปทั่วปาก แต่นมจะมีโปรตีนเคอิซิน (Casein) ซึ่งจะช่วยกำจัดน้ำมันแคปไซซินออกไปและทำให้ความเผ็ดนั้นน้อยลงได้

นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซินค่อนข้างปลอดภัยหากใช้ทาบริเวณผิวหนังของผู้ใหญ่ แต่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง รู้สึกแสบร้อน หรือคันได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่บอบบางเช่น ผิวหนังที่แพ้ง่าย หรือดวงตา และการใช้ยาที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพริกพ่นทางจมูกก็ค่อนข้างปลอดภัยเช่นเดียวกัน ยังไม่พบการรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงชนิดรุนแรงเกิดขึ้น แต่อาจทำให้รู้สึกปวดจมูก แสบร้อน คัดจมูก น้ำมูกและน้ำตาไหลได้ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะลดลงหากใช้ซ้ำหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลาตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป

รวมถึงมีข้อควรระวังในการรับประทานพริกโดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซินค่อนข้างปลอดภัยหากใช้ทาที่บริเวณผิวหนัง แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะปลอดภัยหรือไม่หากรับประทานพริกในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • เด็ก การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซินค่อนข้างไม่ปลอดภัยหากใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะปลอดภัยหรือไม่หากให้เด็กรับประทานพริก
  • ผู้ที่วางแผนเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานพริกก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์เพราะอาจทำให้เลือดออกมากในระหว่างและหลังการผ่าตัด
  • ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรับประทานยารักษาโรค เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด เพราะอาจทำให้เกิดแผลฟกช้ำหรือมีเลือดออกได้ง่ายกว่าปกติ หรือยาทีโอฟิลลีน (Theophylline) และยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ ซึ่งเป็นยารักษาความดันโลหิตสูง เพราะอาจส่งผลต่อการดูดซึมยาของร่างกาย อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของยา และทำให้เสี่ยงต่อการผลข้างเคียงได้