พัฒนาการทารก (Development of Infancy) คือ ความเปลี่ยนแปลงหรือการเจริญเติบโตเกี่ยวกับด้านต่าง ๆ ของทารก โดยเริ่มตั้งแต่แรกคลอดจนถึงช่วงที่เริ่มเดินได้ ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาทั้งสิ้น 12 เดือน โดยทารกมักมีการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการทุกเดือน ทั้งด้านร่างกาย ด้านสติปัญญาและภาษา และด้านสังคม
พัฒนาการของทารกอาจเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปตามแต่ละคน เช่น ทารกบางคนอาจพูดคำแรกได้เมื่ออายุ 8 เดือน ในขณะที่ทารกบางคนอาจเริ่มพูดเมื่ออายุครบ 1 ขวบ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะทารกอาจมีพัฒนาการช้าหรือเร็วกว่าพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่มีเรื่องกังวลหรือสงสัยในพัฒนาการของทารก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำต่อไป
พัฒนาการทารกและวิธีดูแลทารกในแต่ละช่วงวัย
ทารกแต่ละคนมีพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญาและภาษา และด้านสังคม แตกต่างกันไปตามช่วงวัย อย่างไรก็ดี พัฒนาการทารกในช่วงอายุ 1 ปีซึ่งนับตั้งแต่แรกคลอด มักเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ดังนี้
ทารกช่วงวัย 1–3 เดือน
พัฒนาการทารกเริ่มตั้งแต่แรกคลอด นับจากแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน ถือเป็นช่วงที่ร่างกายและสมองของทารกเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับโลกภายนอก ทารกจะเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ดังนี้
พัฒนาการทางร่างกาย
เมื่ออายุครบ 1–2 เดือน เด็กอาจเคลื่อนไหวร่างกายได้บางส่วน เด็กจะเริ่มหันศีรษะจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้าน หรือชันคอขึ้นเมื่อนอนคว่ำท้องแนบพื้น เมื่ออายุครบ 2–3 เดือน เด็กจะชันคอเองได้นานมากขึ้น นอกจากนี้ เด็กยังอาจกำและแบมือ รวมถึงสัมผัสและจับสิ่งของได้
พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
สำหรับพัฒนาการทารกด้านสติปัญญาและภาษาในช่วง 1–3 เดือน ทารกอาจเริ่มมีพัฒนาการต่าง ๆ เช่น
- จ้องหน้า สบตา และสังเกตใบหน้ามารดาขณะที่ให้นมแม่ รวมทั้งสังเกตความซับซ้อนของลักษณะสิ่งของ เช่น สี ขนาด รูปร่าง
- เมื่ออายุครบ 2 เดือน เด็กจะเล่นนิ้วตัวเอง และมองตามสิ่งของที่เคลื่อนจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง และเมื่ออายุครบ 3 เดือน เด็กจะมองสิ่งต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวไปมารอบตัว
- เมื่ออายุครบ 1 เดือน เด็กอาจเริ่มมีปฏิกิริยาต่อเสียงที่คุ้นเคย โดยอาจหันมองตามเสียงนั้น และเมื่ออายุครบ 3 เดือน เด็กอาจตอบสนองด้วยความตื่นเต้น นิ่งฟัง หรือยิ้มตอบเสียงที่ได้ยิน
- หัดพูดอ้อแอ้
พัฒนาการด้านสังคม
เด็กอาจเริ่มมีพัฒนาการด้านสังคม โดยเด็กอาจยิ้มตอบ พูดอ้อแอ้ หรือเป่าน้ำลายเป็นฟอง เมื่อพ่อแม่คุยหรือเล่นด้วย นอกจากนี้ เด็กอาจเลียนแบบสีหน้าของพ่อแม่ รวมทั้งโผเข้าหาพ่อแม่หรือผู้เลี้ยง เมื่อต้องการความปลอดภัย ความรัก และการปลอบโยน
วิธีดูแลพัฒนาการทารกในช่วง 1–3 เดือน
สัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่กับทารกนับเป็นรากฐานของพัฒนาการทารกที่สมบูรณ์ พ่อแม่ควรดูแลทารกในช่วงวัย 1–3 เดือนได้โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น
- อุ้มหรือกอดทารกอย่างเบามือ ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น ทั้งนี้ ควรให้เด็กจ้องมองใบหน้าของผู้เลี้ยง และจับนิ้วมือหรือสัมผัสใบหน้าของผู้เลี้ยงด้วย
- ควรสื่อสารกับทารก โดยถามคำถามเด็กหรือโต้ตอบเมื่อเด็กส่งเสียงอ้อแอ้ รวมทั้งอธิบายสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้ทารกฟังด้วยถ้อยคำง่าย ๆ การพูดให้เด็กฟังจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษา และเรียนรู้ความรู้สึกจากการฟังน้ำเสียง
- อุ้มเด็กโดยหันหน้าทารกออกด้านนอก รวมทั้งลองให้เด็กนอนคว่ำ และส่งเสียงกระตุ้นให้เด็กเงยศีรษะมองตาม อาจให้เด็กนอนคว่ำแค่ 2–3 นาที เนื่องจากการนอนคว่ำทำให้เด็กอึดอัดไม่สบายตัว นอกจากนี้ พ่อแม่ควรให้เด็กหลับในท่านอนหงาย
- ควรดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเมื่อเด็กร้องไห้ เนื่องจากเด็กอาจต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม หิว หรืออยากให้กอด ทั้งนี้ การดูแลเอาใจใส่ยังช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทารกและแม่
ความผิดปกติทางพัฒนาการในช่วง 1–3 เดือน
พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตทารกว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ หรือไม่ และปรึกษาแพทย์ทันทีหากเด็กผิดปกติ โดยความผิดปกติเกี่ยวกับพัฒนาการของทารกช่วงวัย 1–3 เดือน มีดังนี้
- ไม่สามารถควบคุมหรือเคลื่อนไหวศีรษะ
- ไม่ตอบสนองต่อเสียงหรือภาพใด ๆ
- ไม่สังเกตมือของตัวเอง
- ไม่สามารถจับ หยิบ หรือถือสิ่งของใด ๆ
ทารกช่วงวัย 4–6 เดือน
ทารกในช่วงวัยนี้จะเริ่มรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว เด็กจะเรียนรู้และต้องการจัดการทุกสิ่งด้วยตัวเอง โดยพัฒนาการทารกช่วงวัย 4–6 เดือน เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ดังนี้
พัฒนาการทางร่างกาย
ในช่วง 4–6 เดือน เด็กอาจเริ่มมีพัฒนาการทารกด้านร่างกายมากขึ้น เช่น
- ขยับแขนขาแรงขึ้น
- ยกศีรษะขึ้นเอง และใช้แขนยันตัวเองขึ้นมาได้เมื่อต้องนอนคว่ำหน้า
- เมื่ออายุครบ 4 เดือน เด็กอาจเริ่มพลิกคว่ำพลิกหงาย โดยกลิ้งตัวจากหน้ามาหลัง และกลิ้งกลับจากหลังไปหน้าได้ โดยมักกลิ้งจากหน้าไปหลังได้ก่อน
- เอื้อมมือจับของและนำมาถือไว้ในท่านอนหงายได้ รวมทั้งเริ่มหยิบของเข้าปากตัวเอง
- เรียนรู้การส่งของจากมือข้างหนึ่งไปยังอีกมือข้างหนึ่ง รวมทั้งใช้มือคุ้ยของชิ้นเล็ก ๆ
- เมื่ออายุครบ 6 เดือน เด็กอาจนั่งได้เอง โดยจะใช้มือช่วยพยุงตัวเองชั่วครู่ในช่วงแรก ต่อมาจะนั่งได้เองนานขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ เด็กในวัย 6 เดือน สามารถเริ่มกินอาหารตามวัย (Solid foods) ซึ่งเป็นอาหารชนิดอื่นนอกจากนมได้แล้ว
พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
เมื่อเด็กมีอายุ 4–6 เดือน ทารกอาจเริ่มมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษา ดังนี้
- แยกความแตกต่างของใบหน้าคนแปลกหน้าและคนที่รู้จักได้ รวมทั้งรู้จักชื่อของตัวเอง
- เริ่มให้ความสนใจกับของเล่น สังเกตนิ้วมือและเท้าของตัวเอง รวมทั้งมองเงาสะท้อนของตัวเอง
- หัวเราะออกมาเสียงดัง และยังพูดอ้อแอ้
- เลียนแบบการแสดงสีหน้าและเสียงของพ่อแม่ ทั้งนี้ ทารกอาจพูดอ้อแอ้และหยุดเว้นช่วง เพื่อรอให้คนที่ตัวเองสื่อสารด้วยโต้ตอบกลับมา
พัฒนาการด้านสังคม
ในช่วงวัยนี้ ทารกอาจเริ่มรู้สึกสนุกเมื่อได้เล่น และจะร้องไห้เมื่อหยุดเล่น อีกทั้งยังอาจโผเข้าหาแม่หรือพ่อ และจะร้องไห้ทุกครั้งเมื่อไม่เห็นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงอยู่ใกล้ ๆ
วิธีดูแลพัฒนาการทารกในช่วง 4–6 เดือน
ทารกช่วงนี้อยู่ในวัยเรียนรู้และสนุกสนานกับการเล่นไปพร้อมกัน โดยพ่อแม่ต้องช่วยดูแลเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก ดังนี้
- ควรพูดคุยกับเด็กเรื่อย ๆ รวมทั้งโต้ตอบเมื่อเด็กส่งเสียงอ้อแอ้ โดยใช้คำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เพราะการสื่อสารมีส่วนช่วยในการสร้างพัฒนาการทางภาษา
- ให้เด็กนอนคว่ำ และนำของเล่นหรือส่งเสียงเพื่อกระตุ้นให้เด็กหันศีรษะมองตามและฝึกกลิ้งตัว ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงควรจับมือเด็กและพูดกระตุ้นให้เด็กลุกขึ้นยืน โดยนับ 1–3 และดึงเด็กให้ลุกขึ้นยืนเบา ๆ หากจะฝึกให้นั่ง ควรหาหมอนมาช่วยหนุนตัวเด็กไม่ให้ล้ม
- เลือกของเล่นที่มีสีสันสดใสหรือมีเสียง เช่น ของเล่นไขลานที่มีเสียงดนตรี ของเล่นเด็กที่เขย่าแล้วมีเสียง หรือตุ๊กตา ควรหลีกเลี่ยงของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็ก ๆ เพราะเด็กอาจนำเข้าปาก ทั้งนี้ ควรนำของเล่นออกมาให้เด็กเล่นครั้งละ 1–2 ชิ้น เพื่อฝึกให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ
- ลองเลื่อนของเล่นออกห่างจากตัวเด็ก เพื่อกระตุ้นให้เด็กเอื้อมหรือคลานไปหยิบมา
- อ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง โดยเลือกหนังสือเล่มใหญ่ที่มีภาพสีสันสดใส และบรรยายให้เด็กฟัง จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการพูดและคิด
- ควรกอดและกล่อมเด็ก หรืออาจเปิดเพลงหรือดนตรีให้ฟัง เพื่อให้เด็กผ่อนคลาย รู้สึกอบอุ่น และปลอดภัย
- ดูแลทารกอย่างใกล้ชิด โดยสังเกตว่าเด็กต้องการสิ่งใด ชอบหรือไม่ชอบอะไร
ความผิดปกติทางพัฒนาการในช่วง 4–6 เดือน
พ่อแม่ควรพบแพทย์ทันทีหากเด็กเกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการ ความผิดปกติเกี่ยวกับพัฒนาการของทารกในช่วงวัยนี้ ได้แก่
- กล้ามเนื้อแข็งตึง หรือตัวอ่อนปวกเปียกอย่างเห็นได้ชัด
- เอื้อมมือไปแตะสิ่งของได้แค่ข้างเดียว ไม่จับสิ่งของ หรือไม่หยิบสิ่งของใส่ปากตัวเอง
- ไม่ปรากฏสัญญาณของการเคลื่อนไหวหรือควบคุมศีรษะ
- ไม่ตอบสนองต่อแสงหรือภาพต่าง ๆ ไม่หัวเราะหรือร้องออกมา
- ไม่พยายามกลิ้งตัวหรือนั่ง
- ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยอาจมีตาเขเข้าหรือเขออก
ทารกช่วงวัย 7–9 เดือน
ทารกในช่วงวัยนี้จะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่มากขึ้น เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวและกลิ้งตัวได้มากขึ้น ทารกจะคิดหาวิธีเคลื่อนไหวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง โดยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการทารก ดังนี้
พัฒนาการทางร่างกาย
พัฒนาการทารกทางร่างกายในวัย 7–9 เดือน อาจมีดังนี้
- เคลื่อนไหวไปมามากขึ้น โดยเริ่มจากหัดคลาน และไถก้นไปกับพื้น ทั้งนี้ เด็กอาจหัดคลานโดยใช้แขนและขาช่วยนอกเหนือไปจากการคลานด้วยมือหรือเข่า อย่างไรก็ตาม ทารกบางคนอาจไม่คลานเลย แต่จะหัดเคลื่อนไหวจากการไถก้นไปกับพื้นไปจนถึงเริ่มเดินได้
- นั่งได้เองโดยไม่ต้องให้ผู้อื่นช่วยประคอง
- เด็กส่วนใหญ่สามารถหมุนกลิ้งได้ทั้งจากหน้าไปหลัง หรือจากหลังมาหน้า รวมทั้งกลิ้งตัวขณะที่หลับอยู่
- เรียนรู้การใช้นิ้วมือ รู้จักหยิบของด้วยนิ้วสองนิ้ว รวมทั้งเริ่มปรบมือเป็น
พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
พัฒนาการทารกด้านสติปัญญาและภาษาในช่วงวัยนี้อาจเริ่มเห็นได้ชัดมากขึ้น โดยทารกอาจเริ่มเปล่งเสียงพูดคำว่า “พ่อ” หรือ “แม่” ได้ แยกอารมณ์ความรู้สึกได้จากการฟังน้ำเสียง เริ่มมีปฏิกิริยาต่อถ้อยคำที่คุ้นเคย เช่น หันเมื่อได้ยินคนเรียกชื่อตัวเอง หากได้ยินคำว่า "ไม่" เด็กอาจหยุดหรือจ้องหน้าผู้พูด นอกจากนี้ ทารกอาจเริ่มเรียนรู้การใช้สิ่งของต่าง ๆ อีกด้วย
พัฒนาการด้านสังคม
ทารกในวัยนี้อาจเริ่มรู้สึกกังวลเมื่อต้องอยู่กับคนแปลกหน้า เด็กอาจไม่อยากอยู่กับคนอื่นนอกจากแม่ หรืออาจหาทางหนีไปที่อื่น หากรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ใกล้ ๆ นอกจากนี้ ทารกยังอาจสามารถเล่นเกมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็น เช่น เล่นจ๊ะเอ๋
วิธีดูแลพัฒนาการทารกในช่วง 7–9 เดือน
ทารกในช่วงวัยนี้ยังคงเรียนรู้และเล่นกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไปพร้อมกัน พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงควรดูแลทารกเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก ดังนี้
- ควรพูดคุยกับเด็กเรื่อย ๆ โดยเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง และรอให้เด็กส่งเสียงโต้ตอบกลับมา หรือพูดบางอย่างและให้เด็กฝึกพูดตาม
- หาเวลาเล่นกับเด็ก โดยอาจเล่นอย่างอื่นนอกเหนือจากการเล่นที่เคยเล่นมา เช่น เรียงตัวต่อซ้อนขึ้นเป็นชั้นแล้วให้เด็กพังตัวต่อนั้น รวมทั้งให้เด็กเล่นของเล่นที่เสริมสร้างจินตนาการ เช่น ระบายสีหรือละเลงอาหารบนถาดที่เตรียมไว้
- อ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยเปลี่ยนน้ำเสียงและแสดงสีหน้าออกมาให้แตกต่างกัน เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาของเด็ก รวมทั้งเก็บหนังสือไว้ในที่ที่เด็กหยิบได้ เพื่อให้เด็กหยิบหนังสือมาดูภาพเพื่อผ่อนคลายความเครียด
- เปิดเพลงหรือดนตรีเบา ๆ ให้เด็กฟัง เพื่อให้เด็กผ่อนคลายและรู้สึกเพลิดเพลิน
- หาสิ่งของที่นุ่ม ปลอดภัย เพื่อให้เด็กรู้สึกอุ่นใจที่มีของสิ่งนั้นอยู่ด้วยในกรณีที่ต้องห่างจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยง หรือยามที่เด็กรู้สึกหวาดกลัวขึ้นมา
ความผิดปกติทางพัฒนาการในช่วง 7–9 เดือน
พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงควรหมั่นสังเกตการแสดงออกของทารกว่าเกิดความผิดปกติใด ๆ ขึ้นหรือไม่ โดยความผิดปกติเกี่ยวกับพัฒนาการของทารกในช่วงวัย 7–9 เดือน เช่น ไม่กลิ้งตัวหมุน ไม่ลุกขึ้นนั่ง ไม่เอื้อมไปหยิบสิ่งของ ไม่หยิบสิ่งของเข้าปาก ไม่ตอบสนองต่อเสียงหรือภาพใดๆ ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ หรือไม่เลียนแบบเสียงที่ได้ยิน พ่อแม่ควรปรึกษาแพทย์ หากเด็กมีอาการเหล่านี้
ทารกช่วงวัย 10–12 เดือน
ช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายของพัฒนาการทารกในช่วง 1 ปีแรกและเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของทารก เนื่องจากทารกอายุ 10–12 เดือน กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นเด็กเล็กหัดเดินได้ ทารกจะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดังนี้
พัฒนาการทางร่างกาย
ทารกวัย 10–12 อาจลุกขึ้นยืนได้เองหรืออาจเกาะราวเพื่อดึงตัวเองขึ้น ซึ่งเด็กมักเริ่มก้าวได้เองเมื่ออายุครบ 12 เดือนหรือเร็วกว่านั้น โดยเด็กอาจเดินเตาะแตะเพื่อสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ไปทั่วบ้าน และเริ่มปีนป่ายตามโต๊ะหรือเก้าอี้ นอกจากนี้ เด็กอาจเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อย เช่น ช่วยพ่อแม่แต่งตัวให้ตัวเอง เริ่มหยิบอาหารกินเอง
พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
ทารกอาจเริ่มมีพัฒนาการด้านภาษามากขึ้น โดยอาจเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้และพูดคำง่าย ๆ ได้ เช่น คำว่า "หม่ำ ๆ" “มามา” “ปาปา” หรือ "ดาดา" ได้ และมักพูดคำที่พูดได้บ่อย ซึ่งมักเป็นคำว่า "หม่ำ ๆ" “มามา” และ "ปาปา" นอกจากนี้ ยังอาจมีพัฒนาการทารกด้านสติปัญญาอื่น ๆ อีก เช่น
- เลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่ เช่น หวีผมตัวเอง กดรีโมตเล่น หรือทำเป็นคุยโทรศัพท์ เป็นต้น
- ชี้ไปที่สิ่งของที่อยากได้เพื่อให้พ่อแม่สนใจ
- เข้าใจประโยคบางประโยคที่คนใกล้ชิดสื่อสารออกมา รวมทั้งทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
- โบกไม้โบกมือ หรือชี้นิ้วไปยังสิ่งของที่อยู่เกินเอื้อม
- เริ่มเข้าใจว่าสิ่งของหรือคนยังมีตัวตนอยู่แม้จะมองไม่เห็น เช่น เด็กเห็นแม่ออกไปจากห้อง แต่ยังคงรับรู้ได้ว่าแม่อยู่ใกล้ ๆ แม้ไม่ได้อยู่ในสายตาของเด็กก็ตาม
พัฒนาการด้านสังคม
ทารกอาจรู้จักแสดงความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบกินอะไร เช่น ทิ้งช้อนไม่กินข้าวต่อ หรือเลื่อนจานอาหารที่ไม่ชอบออกไป อีกทั้งยังรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลลัพธ์ เช่น เด็กจะรู้ได้ว่าหากร้องไห้ แม่จะมาหา
วิธีดูแลพัฒนาการทารกในช่วง 10–12 เดือน
ทารกช่วงวัยนี้เริ่มมีความอยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งต่าง ๆ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงควรดูแลความปลอดภัยและกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกควบคู่กันไป โดยทำได้ ดังนี้
- ควรจัดสรรเวลาสำหรับอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวัน โดยควรแสดงสีหน้าหรือแสดงน้ำเสียงประกอบการอ่านให้น่าสนใจ
- ควรพูดคุยกับเด็กอยู่เสมอ เช่น เมื่อเด็กเอื้อมมือไปหยิบหนังสือลงมาจากชั้นวางหนังสือ อาจถามหรือพูดคุยกับเด็ก โดยเว้นช่วงให้เด็กส่งเสียงโต้ตอบกลับมา หรือถามคำถามเด็กเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ
- ทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งซ้ำมากกว่ารอบเดียว เช่น เรียงตัวต่อให้เด็กพังลงมา แล้วเรียงใหม่เพื่อให้เด็กพังลงมาอีกรอบ การทำอะไรซ้ำ ๆ อาจช่วยสร้างความมั่นใจให้ตัวเด็กมากขึ้น
- เปิดเพลงหรือดนตรีคลอเบา ๆ เพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย
- สอนให้เด็กรู้จักคำง่าย ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งของรอบตัว
- ควรดูแลเด็กไม่ให้เข้าใกล้เหตุการณ์หรือสิ่งที่เป็นอันตราย รวมทั้งห้ามปรามเมื่อเด็กทำตัวไม่เหมาะสม โดยอธิบายอย่างใจเย็นและดึงความสนใจเด็กด้วยของเล่นหรือสิ่งที่เด็กชอบ
ความผิดปกติทางพัฒนาการในช่วง 10–12 เดือน
อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงพบสัญญาณที่แสดงความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ ควรปรึกษาแพทย์ทันที ซึ่งความผิดปกติเกี่ยวกับพัฒนาการของทารก มีดังนี้
- ไม่คลานหรือใช้ลำตัวด้านใดด้านหนึ่งไถไปขณะคลาน
- ไม่ยืนแม้พ่อแม่จะช่วยก็ตาม
- ไม่แสดงท่าทางต่าง ๆ เช่น ไม่โบกมือหรือส่ายศีรษะ
- ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ หรือไม่พูด
- ไม่สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่สบสายตาด้วย หรือไม่พยายามค้นหาสิ่งของที่ซ่อนอยู่
นอกจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทารกแล้ว การดูแลทารกให้ปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยวิธีดูแลทารกให้ปลอดภัยทำได้หลายวิธี เช่น ไม่เขย่าตัวทารก ตัดอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ และไม่ให้เด็กกินผลไม้มีเมล็ดหรือถั่วต่าง ๆ เพราะอาจเสี่ยงทำให้สำลัก ไม่ให้เด็กอยู่ใกล้ควันบุหรี่ หากต้องนั่งรถยนต์ ควรให้เด็กนั่งคาร์ซีทเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ควรพาเด็กไปรับวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ให้ครบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อย