พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละช่วงเวลาแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเจ้าตัวน้อย การทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของทารกอย่างคร่าว ๆ จึงอาจช่วยให้คุณแม่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของทารกในแต่ละช่วงได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่ดีให้ลูกน้อยได้อีกทางหนึ่ง
พัฒนาการทารกในครรภ์เริ่มต้นเมื่อใด ?
หลายคนอาจเข้าใจว่าพัฒนาการของทารกในครรภ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่การนับเวลาเริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงเวลาที่ทารกกำเนิดแล้วเริ่มมีพัฒนาการนั้นแตกต่างกัน โดยทั่วไปการนับอายุครรภ์จะเริ่มตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ส่วนพัฒนาการของทารกในครรภ์จะเริ่มขึ้นเมื่อเกิดการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่ ซึ่งจะห่างจากการนับอายุครรภ์เล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การนับที่ต่างกันอาจทำให้เกิดความสับสนได้ สำหรับในบทความนี้จะแบ่งพัฒนาการของทารกในครรภ์ออกเป็น 3 ช่วง โดยเริ่มตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ซึ่งนับตามอายุครรภ์ ดังนี้
- ไตรมาสที่ 1 คือ สัปดาห์ที่ 1-12
- ไตรมาสที่ 2 คือ สัปดาห์ที่ 13-27
- ไตรมาสที่ 3 คือ สัปดาห์ที่ 28-40
พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 1
ช่วง 3 เดือนแรกเป็นระยะที่อสุจิปฏิสนธิกับไข่และเจริญเติบโตไปเป็นตัวอ่อน ซึ่งในช่วงนี้จะเริ่มสังเกตเห็นอวัยวะต่าง ๆ ของทารกพัฒนาขึ้นมา
สัปดาห์ที่ 1-2 เป็นช่วงที่เริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด จัดเป็นระยะไข่ตก คือ ช่วงที่ร่างกายปล่อยไข่ออกจากรังไข่ไปยังท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับอสุจิ ซึ่งจะยังไม่สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในครรภ์ได้
สัปดาห์ที่ 3 เมื่ออสุจิปฏิสนธิกับไข่ภายในท่อนำไข่ จะเกิดเป็นเซลล์ที่เรียกว่าไซโกต (Zygote) ประกอบด้วยโครโมโซม 46 แท่ง โดยรับมาจากแม่ 23 แท่งและจากพ่อ 23 แท่ง ทำหน้าที่ถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อแม่อย่างสีผม สีตา และลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ รวมถึงกำหนดเพศของทารก หลังจากนั้นไซโกตจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวจากท่อนำไข่ไปยังมดลูกพร้อมกับแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนไปด้วย กระทั่งมีลักษณะเป็นเซลล์หลายเซลล์เกาะกลุ่มกันเรียกว่าโมรูลา (Morula)
สัปดาห์ที่ 4 เซลล์ที่แบ่งตัวแล้วจะเข้าไปฝังในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยจะเจริญไปเป็นตัวอ่อนเอ็มบริโอ (Embryo) ส่วนเนื้อเยื่อด้านนอกจะค่อย ๆ พัฒนาไปเป็นส่วนหนึ่งของรก ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการอยู่รอดของทารก เพราะมีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนและอาหาร รวมถึงกำจัดของเสียให้ทารกในครรภ์ด้วย
สัปดาห์ที่ 5 ตัวอ่อนเอ็มบริโอจะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น คือ เนื้อเยื่อชั้นนอก เนื้อเยื่อชั้นกลาง และเนื้อเยื่อชั้นใน โดยแต่ละชั้นจะพัฒนาไปเป็นอวัยวะและเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของทารกต่อไป ดังนี้
- เนื้อเยื่อชั้นนอก จะพัฒนาไปเป็นท่อประสาท เส้นผม ผิวหนัง และเล็บ
- เนื้อเยื่อชั้นกลาง จะพัฒนาไปเป็นกระดูกและเนื้อเยื่อตามร่างกาย รวมถึงหัวใจและหลอดเลือด
- เนื้อเยื่อชั้นใน จะพัฒนาไปเป็นปอด กระเพาะอาหาร และลำไส้
สัปดาห์ที่ 6 ท่อประสาทบริเวณหลังของตัวอ่อนที่เปิดอยู่จะค่อย ๆ ปิดลง เพื่อเตรียมพร้อมต่อการพัฒนาไปเป็นสมองและไขสันหลัง นอกจากนี้ อวัยวะส่วนอื่น ๆ ก็เริ่มพัฒนาขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ตา หรือหู และจะเริ่มสังเกตเห็นส่วนนูนที่กำลังพัฒนาไปเป็นแขน
สัปดาห์ที่ 7 ระบบการมองเห็นของตัวอ่อนเริ่มพัฒนาซับซ้อนขึ้น และสามารถสังเกตเห็นส่วนของใบหน้าโดยเฉพาะขากรรไกรบนและจมูก รวมทั้งขาและฝ่ามือได้ชัดเจนมากขึ้น
สัปดาห์ที่ 8 ตัวอ่อนในระยะนี้จะมีความยาวจากยอดศีรษะถึงส่วนล่างสุดของสะโพกประมาณ 0.5 นิ้ว และเริ่มสังเกตเห็นฝ่าเท้า นิ้วมือ ใบหู ดวงตา ริมฝีปากบน และจมูกชัดเจนกว่าเดิม โดยมีลำตัวและลำคอเหยียดตรงมากขึ้น
สัปดาห์ที่ 9 ข้อศอก นิ้วเท้า และเปลือกตาของตัวอ่อนเริ่มพัฒนาจนสังเกตเห็นได้ชัดเจนขึ้น ศีรษะส่วนบนมีขนาดใหญ่ขึ้น ทว่ายังเห็นส่วนศีรษะกับคางได้ไม่ชัดเจน
สัปดาห์ที่ 10 พังผืดที่นิ้วมือและนิ้วเท้าสลายไปจนสังเกตเห็นเป็นนิ้วเรียวยาว และเห็นสายสะดือได้ชัดเจน
สัปดาห์ที่ 11 เป็นช่วงที่ตัวอ่อนเอ็มบริโอพัฒนามาเป็นตัวอ่อนโดยสมบูรณ์ ดวงตาของทารกเคลื่อนห่างออกจากกันมากขึ้น เปลือกตาค่อย ๆ ยุบลงจนกลมกลืนกับดวงตา ใบหูลดต่ำลง เริ่มเกิดหน่อที่จะเจริญไปเป็นฟัน และเกิดเม็ดเลือดแดงขึ้นในตับ โดยในช่วงปลายสัปดาห์อาจเริ่มเห็นพัฒนาการของอวัยวะเพศอย่างองคชาติของเพศชาย ปุ่มกระสันหรือคลิตอริส (Clitoris) และแคมใหญ่ของเพศหญิง
สัปดาห์ที่ 12 สังเกตเห็นอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าชัดเจนขึ้นมาก เริ่มสังเกตเห็นเล็บมือ และลำไส้เริ่มพัฒนาขึ้นภายในช่องท้องของทารก
พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 2
ช่วงเดือนที่ 4-6 เป็นระยะที่อวัยวะเพศของทารกเจริญเติบโตเต็มที่ จึงสามารถระบุเพศของทารกได้จากการอัลตราซาวด์ และคุณแม่อาจเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกได้ในช่วงเวลานี้
สัปดาห์ที่ 13 กระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของทารกเริ่มแข็งขึ้น โดยเฉพาะกะโหลกและกระดูกแขนขา นอกจากนี้ ตัวอ่อนจะเริ่มปัสสาวะใส่ถุงน้ำคร่ำ โดยปัสสาวะนั้นจะกลายเป็นน้ำคร่ำให้ตัวอ่อนนำไปใช้แล้วปัสสาวะออกมาอีก เป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
สัปดาห์ที่ 14 สังเกตเห็นลำคอ แขน และขาของทารกได้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งเริ่มเกิดเซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นภายในม้าม และอาจเริ่มระบุเพศของทารกได้ในระยะนี้
สัปดาห์ที่ 15 ความหนาแน่นของมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้นจนสามารถมองเห็นกระดูกปรากฏในภาพอัลตราซาวด์ และเริ่มมีเส้นผมบาง ๆ ขึ้นบนหนังศีรษะ
สัปดาห์ที่ 16 ดวงตาเริ่มเคลื่อนไหวได้อย่างช้า ๆ และอาจสังเกตเห็นว่าแขนและขาของทารกค่อย ๆ ขยับไปมาในระหว่างอัลตราซาวด์ แต่ยังขยับไม่มากพอที่จะทำให้คุณแม่รู้สึกได้
สัปดาห์ที่ 17 ทารกเริ่มกลิ้งหรือพลิกตัวไปมา เริ่มมีเล็บเท้าขึ้น และหัวใจสามารถสูบฉีดเลือดได้มากถึงประมาณ 47 ลิตร/วัน
สัปดาห์ที่ 18 ทารกในระยะนี้มีความยาวจากยอดศีรษะถึงส่วนล่างสุดของสะโพกประมาณ 5.5 นิ้ว ระบบย่อยอาหารเริ่มทำงาน และอาจเริ่มได้ยินเสียงจากภายนอก
สัปดาห์ที่ 19 ระยะนี้จะสังเกตเห็นไขมันสีขาวขุ่นหุ้มอยู่ภายนอกผิวหนังของทารกที่เรียกว่าไขทารก (Vernix Caseosa) ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันผิวเกิดรอยถลอก ผิวลอก หรือผิวด้านจากการสัมผัสกับน้ำคร่ำ
สัปดาห์ที่ 20 ในระยะนี้คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่าลูกดิ้น และทารกในครรภ์อาจหลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นประจำ โดยอาจตื่นเพราะเสียงหรือการเคลื่อนไหวของแม่
สัปดาห์ที่ 21 ทารกจะมีขนเส้นบาง ๆ ขึ้นตามลำตัว เพื่อช่วยให้ไขทารกเกาะอยู่บนผิวหนัง และอาจเริ่มอมนิ้วหัวแม่มือของตัวเอง
สัปดาห์ที่ 22 มีเส้นผมและคิ้วขึ้นมาอย่างชัดเจน และร่างกายของทารกจะเริ่มผลิตไขมันสีน้ำตาลขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เผาผลาญพลังงานให้เกิดเป็นความร้อนในยามที่อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลง
สัปดาห์ที่ 23 ทารกเคลื่อนไหวดวงตาได้เร็วขึ้น เริ่มสังเกตเห็นรอยบนฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นลายนิ้วมือ ลายมือ และลายเท้าต่อไป ทารกบางรายอาจสะอึกด้วย ส่งผลให้ช่องท้องของคุณแม่เกิดอาการกระตุกได้
สัปดาห์ที่ 24 ในระยะนี้อาจสังเกตเห็นว่าผิวของทารกเหี่ยวย่น โปร่งแสง และมีสีชมพูหรือแดง เนื่องจากเริ่มมีการสร้างเซลล์เลือด ทำให้มองเห็นสีของเลือดผ่านหลอดเลือดฝอยที่มีอยู่ทั่วร่างกาย
สัปดาห์ที่ 25 ทารกอาจจดจำเสียงจากภายนอกได้ และเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองต่อเสียงที่คุ้นเคย โดยเฉพาะเสียงของคุณแม่
สัปดาห์ที่ 26 ปอดของทารกจะเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิวในปอด เพื่อช่วยให้ถุงลมภายในปอดขยายตัว ป้องกันถุงลมยุบตัวมากเกินไปจนเป็นอันตราย
สัปดาห์ที่ 27 ทารกมีระบบประสาทที่เจริญเติบโตมากขึ้น และผิวหนังดูเนียนนุ่มยิ่งขึ้นเพราะเริ่มมีไขมันในร่างกาย
พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาสที่ 3
ช่วงเดือนที่ 7-9 เป็นระยะที่ร่างกายของทารกในครรภ์เจริญเติบโตเต็มที่ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการคลอด
สัปดาห์ที่ 28-29 ทารกเริ่มลืมตา สามารถเตะ ยืดตัว หรือใช้มือคว้าได้ ทั้งยังมีระบบประสาทส่วนกลางที่พัฒนามากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมจังหวะการหายใจและอุณหภูมิของร่างกายได้
สัปดาห์ที่ 30-31 ทารกส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสังเกตเห็นเส้นผมยาวขึ้นอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการสร้างเม็ดเลือดแดงภายในไขกระดูกด้วย
สัปดาห์ที่ 32-33 ขนเส้นบาง ๆ ที่ปกคลุมอยู่ทั่วร่างกายทารกเริ่มหลุดร่วง สังเกตเห็นเล็บเท้าได้ชัดเจน รูม่านตาเริ่มตอบสนองต่อแสง และความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มมากขึ้น ทำให้กระดูกส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแข็งแรงขึ้น ยกเว้นกะโหลกศีรษะของทารกที่ยังคงนิ่มอยู่
สัปดาห์ที่ 34-35 เล็บมือของทารกจะยาวขึ้นจนถึงปลายนิ้ว แขนและขามีลักษณะอวบอ้วน ผิวหนังมีสีชมพูดูนุ่มลื่น มีความยาวจากยอดศีรษะถึงส่วนล่างสุดของสะโพกเฉลี่ย 12 นิ้ว และมีน้ำหนักมากกว่า 2,100 กรัม
สัปดาห์ที่ 36 เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น ประกอบกับพื้นที่ภายในมดลูกที่จำกัด จึงอาจส่งผลให้ทารกเคลื่อนไหวได้ยากขึ้น แต่คุณแม่ก็อาจยังพอรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกอยู่บ้าง
สัปดาห์ที่ 37 ทารกมักกลับหัวไปยังอุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมพร้อมคลอด หากทารกยังไม่เริ่มกลับหัว แพทย์อาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวและแนวทางในการรับมือด้านนี้เพิ่มเติม
สัปดาห์ที่ 38-39 สังเกตเห็นหน้าอกของทารกเด่นชัดขึ้น เล็บเท้ายาวขึ้นมาจนถึงปลายนิ้ว เส้นขนบาง ๆ ที่อยู่ทั่วร่างกายหลุดออกจนเกือบหมด หากเป็นเพศชายลูกอัณฑะของทารกจะตกลงสู่ถุงอัณฑะ และมีการสะสมไขมันไว้ตามส่วนต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นหลังคลอด
สัปดาห์ที่ 40 ทารกจะมีความยาวจากยอดศีรษะถึงส่วนล่างสุดของสะโพกประมาณ 14 นิ้ว และมีน้ำหนักเฉลี่ย 3,400 กรัม อย่างไรก็ตาม ขนาดตัวและน้ำหนักของทารกแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ พัฒนาการทารกในครรภ์ที่นำเสนอข้างต้นเป็นเพียงการคาดการณ์อย่างคร่าว ๆ เท่านั้น เพราะทารกแต่ละรายอาจมีพัฒนาการแตกต่างกันไป ซึ่งอาจช้าหรือเร็วกว่าเกณฑ์ดังกล่าวโดยขึ้นอยู่กับสุขภาพของแม่และปัจจัยอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อาจเริ่มรู้สึกเจ็บท้องคลอดในช่วงก่อนหรือหลังวันกำหนดคลอดก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติและไม่น่ากังวลแต่อย่างใด แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์พบความผิดปกติหรือมีความวิตกกังวลประการใด ควรไปปรึกษาแพทย์เสมอ