พัฒนาการเด็กเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพัฒนาการวัยทารกและในช่วง 1-5 ปีแรก พ่อแม่ควรเฝ้าดูพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์ทุกด้าน หรือหากมีปัญหาก็จะสามารถแก้ไขได้แต่เนิ่น ๆ ดังนั้น พ่อแม่ควรทราบถึงพัฒนาการที่เหมาะสมของลูกน้อยตามช่วงวัย เรียนรู้วิธีส่งเสริมพัฒนาการ และหัดสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อคอยดูแลให้เด็กเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมวัย
พัฒนาการของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการรวดเร็วหรือช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เด็กส่วนใหญ่มักมีพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา ภาษา อารมณ์ และสังคมในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้
เด็กอายุ 18 เดือน หรือ 1.5 ขวบ
เป็นช่วงวัยกำลังหัดเดิน เด็กจะเจริญเติบโตช้าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วง 0-12 เดือนแรก แต่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย การใช้ภาษา การเรียนรู้ การทรงตัว และการประสานงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
พัฒนาการทางร่างกาย
- เริ่มควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ปัสสาวะและขับถ่ายได้ แต่อาจยังไม่พร้อมต่อการใช้ห้องน้ำ
- เดินได้โดยไม่ต้องคอยช่วยเหลือ และเริ่มหัดวิ่งแต่ยังไม่ค่อยคล่องตัวหรืออาจหกล้มบ่อย ๆ
- เดินขึ้นบันไดได้โดยใช้มือข้างหนึ่งจับราวบันไดไว้
- เริ่มถอดเสื้อผ้าชิ้นที่ถอดออกง่ายได้ด้วยตนเอง เช่น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า เป็นต้น
- ดื่มน้ำจากแก้วหรือใช้ช้อนตักอาหารกินเองได้โดยหกเลอะเพียงเล็กน้อย
- ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ที่ไม่สูงมากได้โดยไม่ต้องช่วยเหลือ
- เปิดหนังสือโดยจับทีละ 2-3 หน้า
พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
- พูดออกมาเป็นคำ ๆ ได้มากขึ้นหลายคำ โดยเป็นคำใหม่ ๆ ที่มีความหมาย และไม่ใช่คำว่าพ่อแม่ ชื่อคนคุ้นเคย ชื่อของ หรือชื่อสัตว์เลี้ยงในบ้าน
- พูดพร้อมกับส่ายหัวเพื่อบอกปฏิเสธ
- ชี้สิ่งของเพื่อบอกว่าอยากได้หรือเพื่อให้ผู้ใหญ่สนใจ
- เรียนรู้ชื่อและวัตถุประสงค์ของการใช้สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น แปรงสีฟัน ช้อน โทรศัพท์ เป็นต้น
- ชี้และระบุชื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือหลาย ๆ ส่วนได้
- แสดงความสนใจเมื่อเล่านิทานให้ฟังและมองภาพตาม
- ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อนโดยไม่ต้องใช้ท่าทางประกอบ เช่น ลุกขึ้น นั่งลง เป็นต้น
- มักเลียนแบบท่าทางของผู้ใหญ่
- เริ่มวาดขีดเขียนบนกระดาษหรือพยายามวาดรูปตามต้นแบบ
พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์
- ให้ความสนใจตุ๊กตาและเล่นป้อนอาหารให้ตุ๊กตา
- ชอบเล่นโดยถือสิ่งของต่าง ๆ ไปยื่นให้คนอื่น
- อาจแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวหรือโกรธ
- อาจกลัวคนแปลกหน้า และเกาะติดพ่อแม่หรือผู้ดูแลเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย
- แสดงความกังวลเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่หรือคนที่คุ้นเคย
- แสดงความรักต่อคนที่ตนคุ้นเคย เช่น จูบแบบปากจู๋ เกาะแขน เป็นต้น
- เดินดูสิ่งต่าง ๆ ตามลำพังได้ แต่ยังอยู่ในระยะใกล้กับผู้ดูแล
วิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็กในวัยนี้
- อ่านนิทานให้เด็กฟัง
- จัดหาพื้นที่ว่างเพื่อให้เด็กทำกิจกรรมและได้เล่นสนุก
- หาของเล่นที่เลียนแบบอุปกรณ์จริง เช่น พลั่วพลาสติก ช้อนหรือส้อมพลาสติก เป็นต้น
- ให้เด็กมีส่วนช่วยในการทำกิจวัตรประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในครอบครัว
- ส่งเสริมให้เด็กเล่นสร้างสิ่งต่าง ๆ อย่างการต่อตึก และสิ่งอื่น ๆ ที่เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์
- ให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน
- ชวนเล่นเกมง่าย ๆ เช่น เกมจิ๊กซอว์ เกมเติมของเล่นให้ตรงตามรูปร่างที่หายไป เป็นต้น
- ให้ของสำหรับปลอบโยนเมื่อเด็กต้องห่างพ่อแม่ เช่น ตุ๊กตาตัวโปรด เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการให้เด็กดูโทรทัศน์หรือวิดีโอจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ใด ๆ จนกว่าจะถึงอายุ 2 ขวบ
ความผิดปกติทางพัฒนาการ
- เดินไม่ได้
- ไม่ชี้สิ่งต่าง ๆ ให้ดู
- ไม่รู้ว่าสิ่งของที่ใช้เป็นประจำทุกวันคืออะไร หรือใช้เพื่ออะไร
- ไม่เลียนแบบท่าทางของคนอื่น ๆ
- ไม่เรียนรู้คำใหม่ ๆ หรือรู้คำศัพท์น้อยกว่า 4 คำ ซึ่งไม่รวมคำเรียกพ่อแม่อย่างปาป๊า มาม้า ชื่อสัตว์เลี้ยง หรือสิ่งของ
- ไม่แสดงความสนใจเมื่อพ่อแม่เพิ่งกลับมา หรือดูไม่กังวลเมื่อต้องห่างจากพ่อแม่
- สูญเสียทักษะบางอย่างที่เคยมี
เด็กอายุ 2 ขวบ
ในช่วงนี้พ่อแม่อาจเริ่มฝึกให้เด็กเข้าห้องน้ำได้แล้ว เพราะเด็กจะเริ่มรู้ตัวเมื่อปวดปัสสาวะหรืออุจจาระและแสดงท่าทางว่าต้องการขับถ่าย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเด็กพร้อมต่อการใช้ห้องน้ำและอาจไม่ต้องใส่ผ้าอ้อมอีกต่อไป รวมทั้งยังมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ดังนี้
พัฒนาการทางร่างกาย
- ยืนเขย่งเท้าได้ และยกสิ่งของขณะยืนได้โดยไม่เสียการทรงตัว
- เตะและทุ่มลูกบอลโดยยกแขนสูง วิ่งได้คล่องตัวกว่าเดิม
- ไต่ขึ้นลงเตียงหรือเก้าอี้ได้โดยไม่ต้องช่วยเหลือ
- ขึ้นลงบันได้โดยยังต้องจับราว
- เปิดลูกบิดประตูได้
- เปิดหนังสือทีละ 1 หน้าได้
- เริ่มใส่เสื้อผ้าชิ้นที่สวมใส่ง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง แต่จะถนัดถอดออกมากกว่า
- วาดเส้นและวงกลมตามต้นแบบได้
- ต่อบล็อกของเล่นเป็นหอสูง 4 ก้อนได้โดยไม่ล้ม
- เริ่มมีฟันน้ำนมงอกขึ้นมา
- มีพัฒนาการด้านการมองเห็นเพิ่มมากขึ้น
- เด็กจะสูงประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงเมื่อโตเต็มที่
พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
- แสดงท่าทางสื่อสารถึงสิ่งที่ตนต้องการได้ เช่น หิว กระหายน้ำ อยากเข้าห้องน้ำ เป็นต้น
- พูดเป็นวลีสั้น ๆ ที่ไม่ใช่คำนาม 2-3 คำ หรือพูดประโยคสั้น ๆ 2-4 คำ เช่น ร้องเพลง อาบน้ำ หรือกินนม เป็นต้น และพูดซ้ำตามบทสนทนาที่ได้ยิน
- เข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อนกว่าเดิม เช่น หยิบบอลและใส่รองเท้า ถอดรองเท้าแล้ววางบนชั้น เป็นต้น
- เรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 50-300 คำ และอาจมากกว่านี้ในรายที่มีพัฒนาการเร็ว
- รับรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น
- อาจถนัดใช้มือข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง
- เริ่มแยกแยะรูปทรงและสีต่าง ๆ ได้
- ชี้รูปภาพได้ถูกต้องตามคำบอก หรือระบุได้ว่าเป็นรูปอะไร เช่น นก ปลา แมว หมา เป็นต้น
- จดจำชื่อของคนที่คุ้นเคย และระบุชื่ออวัยวะต่าง ๆ บนร่างกายได้
พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์
- เลียนแบบพฤติกรรมและท่าทางของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ใหญ่และเด็กที่โตกว่า
- ตื่นเต้นและกระตือรือร้นเมื่ออยู่กับเด็กคนอื่น ๆ
- พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น
- แสดงความดื้อและต่อต้าน โดยทำในสิ่งที่ถูกห้ามหรือเตือน
- ยังแยกเล่นคนเดียวแม้จะนั่งข้างเด็กคนอื่น แต่ก็เป็นช่วงที่กำลังจะเริ่มเล่นกับเด็กคนอื่น
วิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็กในวัยนี้
- อ่านนิทานให้เด็กฟังและชี้ชวนให้ดูรูปภาพไปด้วย
- จัดสรรพื้นที่ให้เด็กได้วิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเพียงพอ
- ให้เด็กเล่นสร้างสิ่งของและฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น ต่อแท่งไม้ ต่อตัวต่อ เป็นต้น
- ให้เด็กมีส่วนช่วยในกิจวัตรประจำวันของครอบครัว หรือการทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ
- ให้เด็กลองใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัยในการเลียนแบบกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ใหญ่ เพราะเด็กในวัยนี้มักชอบทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการกวาดพื้นหรือปัดฝุ่น
- พยายามหลีกเลี่ยงการให้เด็กดูโทรทัศน์และวิดีโอในโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต หากให้ดูควรจำกัดเวลาให้น้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยเลือกเนื้อหาที่มีประโยชน์ ไม่รุนแรง และเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการอ่านนิทานให้ฟังหรือชวนทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย
- หากให้เด็กเล่นเกม ควรเลือกเกมที่ไม่รุนแรงและเหมาะสมกับเด็ก
ความผิดปกติทางพัฒนาการ
- เดินไม่มั่นคง หรือไม่คล่องตัว
- ยังไม่เริ่มพูดเป็นวลีหรือประโยคสั้น ๆ เช่น กินข้าว กินนม อาบน้ำ เป็นต้น
- ไม่รู้ว่าสิ่งของที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวันใช้ทำอะไร เช่น จาน ชาม ช้อน แปรงสีฟัน เป็นต้น
- ไม่เลียนแบบพฤติกรรม คำพูด หรือคำศัพท์จากผู้อื่น
- ทำตามคำบอกง่าย ๆ ไม่ได้
- สูญเสียทักษะบางอย่างที่เคยมี
เด็กอายุ 3 ขวบ
เด็กช่วงวัยนี้ชอบเล่นสมมติบทบาทต่าง ๆ และมีจินตนาการมาก ทำให้เด็กอาจเกิดความกลัวต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น ความมืด หรือสัตว์ประหลาด เป็นต้น พ่อแม่จึงควรรับฟังอย่างตั้งใจเมื่อเด็กพูดถึงสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งคอยปลอบและอยู่เป็นเพื่อนให้เด็กหายวิตกกังวล
พัฒนาการทางร่างกาย
- ทรงตัวดีขึ้นกว่าเดิม กระโดดขาเดียวได้ ทรงตัวยืนขาเดียวได้ในเวลาสั้น ๆ
- วิ่งและปีนป่ายอย่างคล่องตัว ก้าวขึ้นลงบันไดอย่างคล่องแคล่วโดยไม่ต้องจับราวบันได
- ใส่และถอดเสื้อผ้าได้ด้วยตนเอง
- วางวัตถุหรือรูปทรงขนาดเล็กลงล็อกได้
- ปั่นจักรยาน 3 ล้อได้
- วาดรูปวงกลมโดยใช้ดินสอหรือดินสอสี
- มีพัฒนาการทางการมองเห็นที่เพิ่มขึ้นจากเดิม
- มีฟันน้ำนมครบ 20 ซี่
- อาจกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ในตอนกลางวัน บางรายอาจกลั้นได้ในเวลากลางคืนด้วย
พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
- ปฏิบัติตามคำบอก 2-3 ขั้นตอนได้
- เข้าใจคำบอกตำแหน่ง เช่น ใน บน ข้างใต้ ข้างล่าง เป็นต้น
- พูดชื่อตัวเอง อายุ และเพศ หรือบอกชื่อเพื่อนได้
- เริ่มใช้คำสรรพนามแทนตัวเอง หรือระบุลักษณะนามสิ่งของบางอย่างได้
- พูดสนทนาได้ยาวขึ้น โดยใช้ 2-3 ประโยค และสื่อสารให้คนแปลกหน้าเข้าใจได้
- เล่นแสดงบทบาทสมมติเป็นเรื่องราว โดยเล่นกับตุ๊กตา สัตว์ หรือคนอื่น ๆ
- เข้าใจและจดจำตัวเลขได้มากขึ้น
- วาดรูปวงกลมด้วยดินสอหรือสี
- เปิดและปิดฝาขวดได้
พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์
- พยายามเลียนแบบผู้ใหญ่และเพื่อน
- แสดงความรักต่อเพื่อนโดยไม่ต้องถูกกระตุ้นหรือบอก
- แสดงความวิตกกังวลเมื่อเห็นเพื่อนร้องไห้
- รู้จักรอและเปลี่ยนให้เพื่อนเล่นเมื่อถึงคราวของเพื่อน
- เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของ รู้ว่าอันไหนเป็นของตนเองหรือของคนอื่น
- แสดงอารมณ์อย่างหลากหลายมากขึ้น
- แยกจากพ่อแม่ได้ง่ายขึ้น ไม่แสดงความวิตกกังวลเหมือนช่วงก่อน
- อาจหงุดหงิดเมื่อกิจกรรมหลักที่ต้องทำทุกวันมีการเปลี่ยนแปลง
วิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็กในวัยนี้
- อ่านหนังสือนิทานไปพร้อม ๆ กับเด็ก
- จัดสรรพื้นที่ที่ปลอดภัยและกว้างพอให้เด็กได้เล่นอย่างเต็มที่ และคอยจับตาดูตลอดเวลา เพราะเด็กกำลังอยู่ในวัยซุกซน
- ช่วยแสดงเป็นตัวอย่างและแนะนำกฎกติกาในการเล่นเกมหรือกีฬาต่าง ๆ ให้เด็กเข้าใจเมื่อเพิ่งเริ่มเล่น
- กระตุ้นให้เด็กช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เก็บของเล่น จัดโต๊ะอาหาร เป็นต้น
- สนับสนุนให้เด็กเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม
- กระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการละเล่นต่าง ๆ
- ส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยพยายามตอบคำถามต่าง ๆ ของเด็ก
- ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่ตรงกับความสนใจของเด็กเอง
- พยายามให้เด็กใช้คำพูดสื่อสารความรู้สึกมากกว่าการใช้ท่าทาง
- จำกัดเวลาในการดูโทรทัศน์หรือวิดีโอในโทรศัพท์และแท็บเล็ต รวมทั้งควบคุมเนื้อหาที่เหมาะกับเด็ก
ความผิดปกติทางพัฒนาการ
- มีปัญหาในการเดินขึ้นลงบันได
- มีน้ำลายไหลออกจากปาก
- พูดเป็นประโยคไม่ได้ หรือพูดไม่ชัดเป็นอย่างมาก
- ไม่เข้าใจคำบอกหรือคำแนะนำง่าย ๆ
- เล่นของเล่นง่าย ๆ ไม่ได้
- ไม่เล่นบทบาทสมมติเป็นผู้อื่น
- ไม่สบตาคนอื่น
- สูญเสียทักษะบางอย่างที่เคยมี
เด็กอายุ 4 ขวบ
เป็นวัยก่อนเข้าเรียนอนุบาล ในช่วงนี้เด็กจะพูดได้อย่างคล่องแคล่วและชัดเจนขึ้น เริ่มวาดรูปหน้าคนและแขนขา เรียนรู้ที่จะกินอาหารได้ด้วยตนเอง เริ่มแยกแยะตัวเลขและสีต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
พัฒนาการทางร่างกาย
- การทรงตัวดีขึ้น กระโดดขาเดียวได้โดยไม่สูญเสียการทรงตัว
- ทุ่มบอลได้โดยมีการประสานงานของร่างกายที่ดีขึ้น
- สามารถตัดกระดาษตามรูปภาพโดยใช้กรรไกรได้
- อาจยังฉี่รดที่นอนอยู่
- มีพัฒนาการด้านการมองเห็นที่ดีขึ้น
- นอนวันละ 11-13 ชั่วโมง แต่มักไม่นอนกลางวัน
- สูงขึ้นกว่าตอนแรกเกิด 2 เท่า
พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
- รู้คำศัพท์เพิ่มขึ้น และแต่งประโยค 4-5 คำได้ง่าย ๆ
- รู้จักสีบางสี เลขบางตัว และเริ่มนับเลขได้
- พูดชื่อและนามสกุลของตัวเองได้
- ขี้สงสัยและถามคำถามมากมาย
- อาจใช้คำที่ตนเองก็ยังไม่เข้าใจดีพอ และเริ่มใช้คำไม่สุภาพหรือคำหยาบคาย
- พูดเรื่องราวส่วนตัวของครอบครัวให้คนอื่นฟัง
- ร้องเพลงง่าย ๆ ได้
- วาดรูปคนโดยมีใบหน้าและแขนขา
- พยายามทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
- เข้าใจเกี่ยวกับหลักการของเวลามากขึ้น
- แยกความแตกต่างระหว่างวัตถุ 2 ชนิดได้ โดยดูจากขนาดและน้ำหนัก
- จำเรื่องราวต่าง ๆ ได้บางส่วน
- ยังไม่สามารถแยกแยะถูกผิดได้
พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์
- ชอบและสนุกกับการได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ
- เล่นบทบาทสมมติที่หลากหลายมากขึ้น แต่ยังไม่อาจแยกระหว่างบทบาทสมมติกับเรื่องจริงได้
- มักมีเพื่อนในจินตนาการ
- ชอบเล่นกับเพื่อน ๆ มากกว่าเล่นคนเดียว และเข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กคนอื่น ๆ
- พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ตนชอบและสนใจ
- อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น
- แสดงความต่อต้านหากถูกคาดหวังให้ทำสิ่งใดมากเกินไป
วิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็กในวัยนี้
- อ่านหนังสือนิทานไปพร้อม ๆ กับเด็ก
- จัดหาพื้นที่ให้เด็กทำกิจกรรมที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเพียงพอ
- แนะนำและทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดูว่าควรปฏิบัติตามกฎในการเล่นเกมหรือกีฬาต่าง ๆ อย่างไร
- สนับสนุนให้เด็กเล่นและแบ่งปันสิ่งของกับเพื่อน
- สนับสนุนการเล่นที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์
- สอนให้เด็กทำกิจกรรมหรืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยตนเอง เช่น จัดโต๊ะกินข้าว เป็นต้น
- พาเด็กออกไปนอกสถานที่ใกล้ ๆ บริเวณบ้านหรือในชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ เป็นต้น
- จำกัดการดูโทรทัศน์หรือวิดีโอให้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็ก
ความผิดปกติทางพัฒนาการ
- กระโดดอยู่กับที่ไม่ได้
- มีปัญหาในการขีดเขียนหรือวาดรูป
- ไม่แสดงความสนใจเมื่อเล่นเกมที่ต้องมีการโต้ตอบหรือเมื่อเล่นบทบาทสมมติ
- เมินเฉยต่อเด็กคนอื่น ๆ และไม่โต้ตอบกับคนภายนอกครอบครัว
- ไม่ยอมให้แต่งตัว ไม่ยอมนอน และไม่ยอมฝึกใช้ห้องน้ำ
- บอกเล่าเรื่องราวที่ตนชอบให้ผู้อื่นฟังซ้ำอีกครั้งไม่ได้
- ทำตามคำบอก 3 ขั้นตอนไม่ได้
- ใช้คำแทนตนเองและผู้อื่นไม่ถูกต้องหรือสลับกัน
- พูดไม่ชัด
- ไม่เข้าใจความเหมือนและความต่างระหว่างสิ่งของ 2 ชนิด
- สูญเสียทักษะบางอย่างที่เคยมี
เด็กอายุ 5 ขวบ
เป็นช่วงวัยที่เด็กเริ่มพึ่งพาตนเอง เริ่มให้ความสนใจกับคนภายนอกครอบครัว เริ่มอยากออกไปเล่นซุกซน และมีคำถามเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวมากยิ่งขึ้น การอบรมและแนะนำจากครอบครัวจะช่วยหล่อหลอมบุคลิกภาพและความคิดของเด็กต่อไป โดยพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สังเกตได้ มีดังนี้
พัฒนาการทางร่างกาย
- การประสานงานของร่างกายดีขึ้น โดยเฉพาะแขน ขา และลำตัว
- เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวและทรงตัวได้ดี ทั้งการกระโดดและการก้าวข้ามสิ่งกีดขวาง
- ทรงตัวขณะยืนขาเดียวและปิดตาข้างหนึ่งได้ ม้วนหน้าได้
- เล่นชิงช้าและปีนป่ายได้
- มีทักษะในการใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ และเครื่องเขียนต่าง ๆ มากขึ้น
- วาดรูป 3 เหลี่ยมและรูปเรขาคณิตอื่น ๆ ตามต้นแบบได้
- ใช้ห้องน้ำได้โดยไม่ต้องช่วยเหลือ
- ใช้ช้อนและส้อมในการรับประทานอาหาร
- มีพัฒนาการด้านการมองเห็นอย่างสมบูรณ์เทียบเท่ากับผู้ใหญ่
- ฟันแท้ซี่แรกเริ่มโผล่ขึ้นมาบริเวณเหงือก โดยเด็กส่วนใหญ่จะมีฟันแท้ซี่แรกงอกพ้นเหงือกเมื่ออายุ 6 ขวบ
พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
- เริ่มพูดประโยคที่มี 5 คำขึ้นไป และพูดชัดมากขึ้น
- ใช้คำได้ทุกประเภท ทั้งคำนาม สรรพนาม กริยา บุพบท และคำอื่น ๆ
- แยกแยะความแตกต่างของเหรียญห้า เหรียญสิบ และเหรียญบาทได้
- นับเลขได้ถึง 10 หรือมากกว่านั้น รู้จักชื่อสีมากกว่าเดิมหลายสี
- เขียนตัวอักษรและตัวเลขบางตัวได้ รู้จักหมายเลขโทรศัพท์
- ถามและตอบคำถามที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นได้ เช่น สามารถให้เหตุผลเมื่อถูกถามว่าทำไม เป็นต้น
พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์
- ต้องการให้เพื่อนพอใจและอยากเป็นแบบเพื่อน
- มีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยลง เข้าใจและยอมทำตามข้อตกลงต่าง ๆ มากขึ้น
- ชอบเต้นและร้องเพลง
- รู้ว่าตนเองและผู้อื่นเป็นเพศใด
- มีความรับผิดชอบมากขึ้นและรู้จักขอโทษเมื่อทำผิด
- ยังคงชอบจินตนาการและเล่นในบทบาทต่าง ๆ แต่แยกแยะระหว่างเรื่องจริงและเรื่องสมมติได้แล้ว
- เลิกกลัวสิ่งที่เคยกลัวมาก่อน เช่น ความมืด สัตว์ประหลาด เป็นต้น
- พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น
วิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็กในวัยนี้
- อ่านหนังสือนิทานไปพร้อม ๆ กัน
- จัดหาพื้นที่ว่างให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเพียงพอ
- แสดงเป็นตัวอย่างให้ดูและแนะนำกติกาในการละเล่นต่าง ๆ
- สนับสนุนให้เด็กเล่นกับเพื่อน ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการเข้าสังคม
- หากิจกรรมที่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์มาเล่นกับเด็ก
- จำกัดการดูโทรทัศน์และการใช้คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต
- พาเด็กออกไปยังสถานที่ที่น่าสนใจในชุมชน เช่น สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น
- สนับสนุนให้เด็กทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ช่วยจัดโต๊ะกินข้าว เก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จ เป็นต้น
ความผิดปกติทางพัฒนาการ
- แสดงอารมณ์ไม่หลากหลาย ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบผู้อื่น หรือแสดงออกมาเพียงผิวเผิน
- มีพฤติกรรมผิดปกติ อาจหวาดกลัว ก้าวร้าว เศร้า หรือดูขี้อายผิดปกติ
- เฉื่อยชาและแยกตัวผิดปกติ
- ไขว้เขวหรือเสียสมาธิง่าย ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมที่ทำได้นานกว่า 5 นาที
- แยกแยะระหว่างเรื่องจริงและเรื่องสมมติไม่ได้
- ไม่เล่นหรือทำกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่วาดรูป
- พูดชื่อจริงและนามสกุลของตัวเองไม่ได้
- ไม่พูดคุยถึงกิจวัตรประจำวันและสิ่งที่ได้พบเจอ
- แปรงฟัน ล้างมือ หรือถอดเสื้อผ้าเองด้วยตนเองไม่ได้
- สูญเสียทักษะบางอย่างที่เคยมีไป
ทั้งนี้ การเฝ้าดูพัฒนาการของลูกให้เป็นไปอย่างสมวัยเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ หากพ่อแม่สังเกตว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้ากว่าที่ควร หรือคาดว่าเด็กอาจมีความผิดปกติใด ๆ ที่แสดงให้เห็นทางพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งการเล่น การเรียนรู้ การพูด การกระทำ และการเคลื่อนไหวร่างกาย ควรพาเด็กไปให้แพทย์ตรวจและรับคำปรึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขแต่เนิ่น ๆ