ฟลาโวนอยด์ สุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระต้านโรค

ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เป็นสุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งชี้ว่าการได้รับสารชนิดนี้ในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยป้องกันโรคได้หลายชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เป็นต้น จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพ

ฟลาโวนอยด์แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม คือ ฟลาวานอล (Flavanols) ฟลาวาน-3-ออล (Flavan-3-ols) ฟลาโวน (Flavones) ฟลาวาโนน (Flavanones) ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) และแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) โดยแต่ละชนิดอยู่ในอาหารคนละชนิด ส่วนใหญ่มักจะพบในผักผลไม้ที่มีสีสัน เช่น สีแดง สีส้ม หรือสีม่วง ในบทความนี้จะพูดถึงประโยชน์ต่อสุขภาพและแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารชนิดนี้กัน

ฟลาโวนอยด์

สารฟลาโวนอยด์กับประโยชน์ต่อสุขภาพ

ฟลาโวนอยด์ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเท่านั้น แต่ยังอาจช่วยต้านโรคมะเร็ง บำรุงสุขภาพในด้านอื่น ๆ ได้อีก 

ต้านการอักเสบ

การอักเสบเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงหลายโรค ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอักเสบเรื้อรัง เนื่องจากการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในร่างกายจะค่อย ๆ ทำลายเนื้อเยื่อและส่งผลให้อวัยวะของเนื้อเยื่อนั้นอ่อนแอจนทำให้เกิดความผิดปกติได้

สารฟลาโวนอยด์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ช่วยยับยั้งและชะลอกระบวนการ Oxidative Stress ที่ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นการอักเสบของร่างกาย ดังนั้น การได้รับสารชนิดนี้ในปริมาณที่เพียงพอเป็นประจำอาจช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากการอักเสบ และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ  

จากงานวิจัยขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองกับสารฟลาโวนอยด์พบว่า การได้รับฟลาโวนอยด์ในปริมาณสูงอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองลง ในขณะที่การศึกษาอีกชิ้นพบว่า การบริโภคโกโก้และดาร์กช็อกโกแลต ซึ่งเป็นอาหารที่มีปริมาณสารฟลาโวนอยด์สูง อาจช่วยลดความดันโลหิตและลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจได้

ชะลอการเกิดโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งเป็นโรคเรื้อรังและร้ายแรงที่หลายคนกลัว โรคนี้เกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบภายในร่างกาย การได้รับสารก่อมะเร็ง ความเสียหายจากสารต้านอนุมูลอิสระ และปัจจัยอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อลดและชะลอการเกิดของโรคมะเร็ง จึงจำเป็นต้องลดการเกิดของปัจจัยดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ในปริมาณสูงอยู่เป็นประจำก็อาจช่วยได้

จากงานวิจัยหนึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าสารฟลาโวนอยด์มีสรรพคุณที่อาจช่วยชะลอการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น คุณสมบัติในการต้านการอักเสบ ต้านความเสียหาย หรือชะลอการเสื่อมของเซลล์ที่เป็นผลมาจากสารอนุมูลอิสระและกระบวนการ Oxidative Stress นอกจากนี้ สารชนิดนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งอีกด้วย โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า ฟลาโวนอยด์อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังได้

นอกเหนือประโยชน์ข้างต้นแล้ว ฟลาโวนอยด์ยังอาจมีสรรพคุณในการเสริมสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น

  • เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่อาจช่วยปกป้องกันร่างกายจากเชื้อโรค สารพิษ และสารก่อการระคายเคือง
  • กระตุ้นสารเคมีในสมองที่อาจช่วยให้อารมณ์สมดุลขึ้น
  • ชะลอการเสื่อมของสมองจากอายุที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบจากสารอนุมูลอิสระ

อย่างไรก็ตาม สรรพคุณที่ได้กล่าวมานี้เป็นผลลัพธ์จากงานวิจัยและการทดลองในคนบางกลุ่มเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปและยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันหรือรักษาโรคใดโรคหนึ่งได้ แต่การรับประทานฟลาโวนอยด์รูปแบบต่าง ๆ จากในผักและผลไม้ก็เป็นอีกทางเพื่อเสริมสุขภาพโดยรวม

ฟลาโวนอยด์พบในอาหารชนิดใดได้บ้าง ?

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าสารอาหารชนิดนี้มักพบในอาหารประเภทผักและผลไม้ที่มีสีสัน เช่น

  • ผลไม้ เช่น ส้ม มะนาว แอปเปิ้ล องุ่นแดง สตรอเบอรี่ มะเขือเทศ ทับทิม เกรปฟรุ๊ต พีช บลูเบอรี่ แครนเบอรี่ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากองุ่นอย่างไวน์แดง 
  • ผัก เช่น หัวหอม กะหล่ำปลี ผักกาดหอม คึ่นช่าย ต้นหอม พริก บร็อคโคลี่ ถั่ว เป็นต้น
  • สมุนไพร เช่น ชาเขียว ชาขาว ชาดำ ชาอู่หลง เปปเปอร์มิ้นต์ คาโมไมล์ โกโก้และผลิตภัณฑ์จากโกโก้อย่างช็อกโกแลต

โดยทั่วไปแล้ว การได้รับฟลาโวนอยด์จากอาหารมักไม่ส่งผลข้างเคียงแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารเสริมจากฟลาโวนอยด์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นและความปลอดภัยในการใช้ก่อนเสมอ โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ