ฟลูออไรด์ เป็นสารประกอบของแร่ฟลูออรีน (Fluorine) พบได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติและอาหารบางชนิด โดยปกติแล้วในแต่ละวันฟลูออไรด์และแร่ธาตุอื่น ๆ อาจละลายออกจากผิวฟัน เนื่องจากกรดที่เกิดจากการสะสมของคราบแบคทีเรียและน้ำตาล แต่ก็สามารถสะสมขึ้นมาใหม่ได้ด้วยการรับประทานอาหารและน้ำซึ่งเป็นแหล่งของฟลูออไรด์ โดยฟลูออไรด์จะช่วยเสริมสร้างให้ฟันแข็งแรง ทนทานต่อกรด และช่วยรักษาฟันผุในระยะเริ่มต้น
แหล่งของฟลูออไรด์
นอกเหนือจากแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว ฟลูออไรด์ยังพบได้ในอาหารบางชนิด และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น
- ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรืออาหารเสริมต่าง ๆ เป็นต้น
- อาหารทะเล เนื่องจากสามารถพบโซเดียมฟลูออไรด์ได้มากในน้ำทะเล ดังนั้น อาหารทะเลจึงมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ด้วย
- อาหารที่ผ่านการปรุงด้วยน้ำประปาที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
- ชา
- เจลาติน
ประโยชน์ของฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดการเกิดปัญหาฟันผุ ทำให้ฟันทนทานต่อการผุเสื่อมในระยะเริ่มต้นได้ นอกจากนี้ ฟลูออไรด์ยังมีส่วนในขั้นตอนการงอกของฟันแท้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี เพิ่มความทนทานต่อกรดที่เกิดจากคราบแบคทีเรียและน้ำตาลบนผิวฟัน และเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ฟันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้ด้วย จึงมีการนำฟลูออไรด์ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพฟัน ดังนี้
ยาสีฟัน
ในยาสีฟันแต่ละยี่ห้อจะมีปริมาณฟลูออไรด์ที่แตกต่างกัน ผู้ใช้อาจสังเกตสัดส่วนของฟลูออไรด์ในยาสีฟันได้จากฉลากข้างหลอดยาสีฟัน ซึ่งมีหน่วยวัดเป็นส่วนในล้านส่วน (ppm) โดยยาสีฟันที่มีสัดส่วนของฟลูออไรด์อยู่ที่ 1,350-1,500 ppm จะให้ผลได้ดีที่สุด ทั้งนี้ ควรเลือกยาสีฟันที่มีปริมาณฟลูออไรด์ที่เหมาะสมกับผู้ใช้ด้วยเช่นกัน ได้แก่
- เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ไม่น้อยกว่า 1,000 ppm 2 ครั้ง/วัน
- เด็กที่มีอายุระหว่าง 3-6 ปี ควรใช้ยาสีฟันที่มีปริมาณของฟลูออไรด์มากกว่า 1,000 ppm ขนาดเท่ากับเมล็ดถั่ว อย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน
- ผู้ใหญ่ ควรแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในสัดส่วน 1,350-1,500 ppm อย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน
น้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์
น้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์อาจจ่ายโดยทันตแพทย์สำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 8 ปี และผู้ใหญ่ที่มีปัญหาฟันผุควรใช้น้ำยาบ้วนปากฟลูออไรด์เพิ่มนอกเหนือจากการแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์อย่างน้อย 1,350 ppm 2 ครั้ง/วัน นอกจากนี้ การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเสริมสร้างสุขภาพฟันที่แข็งแรงสำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 8 ปี อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากในขณะที่แปรงฟัน เนื่องจากน้ำยาบ้วนปากอาจล้างฟลูออไรด์ที่อยู่ในยาสีฟันออกไปจนหมด
การเคลือบฟลูออไรด์
ทันตแพทย์อาจใช้ฟลูออไรด์ปริมาณเข้มข้นมาเคลือบที่ผิวฟันในทุก ๆ 6 เดือน โดยใช้ฟลูออไรด์ในรูปของสารละลาย น้ำยาเคลือบฟัน เจล และโฟม ซึ่งใช้ทาเคลือบฟันได้ง่ายและแห้งเร็ว เพื่อทำให้ผิวฟันแข็งแรงขึ้นและป้องกันปัญหาฟันผุ โดยสามารถทำได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ทั้งนี้ สำหรับเด็กที่มีอายุ 3 ปี ควรได้รับการเคลือบฟลูออไรด์อย่างน้อย 2 ครั้ง/ปี ส่วนเด็กทุกช่วงวัยที่มีความเสี่ยงหรือมีปัญหาฟันผุอาจต้องเข้ารับการเคลือบฟันมากกว่า 2 ครั้ง/ปี และในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดปัญหาฟันผุควรเคลือบฟลูออไรด์ทุก ๆ 3 เดือน
ฟลูออไรด์ปลอดภัยหรือไม่ ?
แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าฟลูออไรด์สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แต่การใช้ฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินขนาดก็มีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษ ซึ่งระดับการเกิดพิษจะขึ้นอยู่กับปริมาณฟลูออไรด์ที่สัมพันธ์กับน้ำหนักตัวของผู้ใช้ ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี หรือควรเก็บให้พ้นจากมือเด็ก
นอกจากนี้ การได้รับฟลูออไรด์มากเกินขนาดที่มักเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ อาจก่อให้เกิดอาการฟันตกกระ (Fluorosis) พบได้มากในเด็กอายุประมาณ 8 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ฟันกำลังจัดตัวอยู่ใต้เหงือก โดยอาการจะเป็นรอยตำหนิบนผิวฟันตั้งแต่รอยเล็ก ๆ จนแทบมองไม่เห็น ไปจนถึงรอยสีน้ำตาลที่สังเกตได้ชัดเจน แต่หากอาการฟันตกกระรุนแรงก็อาจทำให้เกิดหลุมบนฟัน หรือการเปลี่ยนสีของผิวฟันได้
ดังนั้น การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของทันตแพทย์ หรือคำแนะนำบนฉลากข้างผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ฟลูออไรด์ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการใช้ฟลูออไรด์ในปริมาณและวิธีการที่ไม่เหมาะสม