ฟิลเลอร์ (Filler) หรือสารเติมเต็มที่ใช้ฉีดเข้าสู่ผิวหนัง เป็นการรักษาทางความงามเพื่อให้ผิวเรียบเต่งตึงขึ้น โดยมักฉีดเพื่อลบริ้วรอยเหี่ยวย่นต่าง ๆ บนใบหน้า ร่องแก้ม รักษาแผลเป็นจากสิว หรืออาจฉีดที่ปากเพื่อให้ริมฝีปากอวบอิ่ม นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อช่วยลดรอยเหี่ยวย่นบริเวณหลังมือได้ด้วย
การฉีดฟิลเลอร์มีหลากหลายประเภท อีกทั้งยังมีข้อควรระวังที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจฉีดหลายประการ ผู้ที่ต้องการฉีดฟิลเลอร์จึงควรศึกษาความแตกต่างของฟิลเลอร์แต่ละประเภทให้เข้าใจ และปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อจำกัด คำแนะนำ และข้อควรระวังในการฉีดฟิลเลอร์อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตรงตามความต้องการ และปลอดภัยต่อร่างกายมากที่สุด
ประเภทของฟิลเลอร์
สารที่นำมาใช้ทำฟิลเลอร์มีหลายประเภท บางประเภทสามารถให้ผลลัพธ์ยาวนาน และบางประเภทอาจให้ผลลัพธ์เพียงแค่ชั่วคราวหากทำจากสารที่ร่างกายสามารถค่อย ๆ ดูดซึมออกไปได้ ซึ่งฟิลเลอร์แต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้
1. ฟิลเลอร์ที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้
ฟิลเลอร์ที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้มีดังต่อไปนี้
กรดไฮยาลูโรนิก
กรดไฮยาลูโรนิกเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่พบได้ในเนื้อเยื่อของร่างกาย เป็นสารที่ช่วยให้ผิวหนังเกิดความเต่งตึงขึ้นได้ ฟิลเลอร์ชนิดนี้มักผลิตขึ้นมาจากการหมักแบคทีเรียหรือหงอนของไก่ ผลลัพธ์จากการฉีดฟิลเลอร์ชนิดนี้จะคงอยู่ประมาณ 6–12 เดือน และเป็นฟิลเลอร์ชนิดเดียวที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยรับรองให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยในปัจจุบัน
คอลลาเจน
คอลลาเจนเป็นสารจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ตามผิวหนังหรือเนื้อเยื่อในร่างกาย ฟิลเลอร์ชนิดนี้มักผลิตมาจากเซลล์ของวัวหรือเซลล์ในร่างกายคนเรา จึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้ ซึ่งผลลัพธ์จากการฉีดฟิลเลอร์ชนิดนี้จะคงอยู่ประมาณ 3–4 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับฟิลเลอร์ชนิดอื่น
แคลเซียม ไฮดรอกซิลอะพาไทต์
แคลเซียม ไฮดรอกซิลอะพาไทต์เป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั่วไปในกระดูกและฟันของคนเรา ซึ่งเมื่อนำมาผลิตเป็นฟิลเลอร์และฉีดเข้าร่างกาย แร่ธาตุชนิดนี้จะอยู่ในรูปของสารละลายคล้ายเจล และสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 18 เดือน
กรดโพลี แอล แลคติก (PLLA)
กรดโพลี แอล แลคติก (PLLA) เป็นสารโพลิเมอร์ที่มนุษย์สร้างขึ้นให้สามารถย่อยสลายทางชีวภาพและเข้ากับเนื้อเยื่อในร่างกายได้ มักถูกใช้เป็นวัสดุเย็บแผลที่ละลายได้หรือใช้ดามกระดูกที่หัก การฉีดฟิลเลอร์ที่ผลิตจากสารชนิดนี้ต้องฉีดซ้ำเป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งผลลัพธ์จะค่อย ๆ เห็นชัดขึ้นในแต่ละครั้ง และสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานถึง 2 ปี
สารฟิลเลอร์จากร่างกายคนไข้
สารฟิลเลอร์จากร่างกายคนไข้คือการใช้ไขมันในร่างกายของคนไข้เองมาฉีดเติมเต็ม โดยอาจนำไขมันมาจากบริเวณต้นขา สะโพก หรือหน้าท้อง เพื่อมากลั่นในห้องปฏิบัติการและฉีดกลับเข้าไปในส่วนที่ต้องการรักษา โดยผลลัพธ์ของการใช้ฟิลเลอร์จากไขมันจะเป็นแบบกึ่งถาวร แต่อาจต้องมีการฉีดซ้ำหลายครั้งในช่วงแรก
นอกจากไขมันแล้ว เลือดของตัวผู้เข้ารับการรักษาเองก็ใช้ได้เช่นกัน โดยจะใช้เกล็ดเลือดเข้มข้นจากบริเวณแขน แล้วฉีดกลับเข้าไปยังใบหน้าส่วนที่ต้องการรักษา การใช้ฟิลเลอร์จากเกล็ดเลือดเข้มข้นจะให้ผลลัพธ์ยาวนานประมาณ 12–18 เดือน
2. ฟิลเลอร์ที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้
ฟิลเลอร์ที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้คือสารพอลิเมธิลเมธาคริเลต (PMMA) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เช่นเดียวกับสาร PLLA โดยสามารถเข้ากับเนื้อเยื่อภายในร่างกายได้ แต่ไม่สามารถย่อยสลายไปได้ สารชนิดนี้มีลักษณะคล้ายสารละลายคล้ายเจล อาจมีการผสมคอลลาเจนจากวัวเข้าไปด้วย และมักถูกนำมาใช้เป็นวัสดุช่วยรักษาทางการแพทย์ เช่น ซีเมนต์กระดูก เลนส์แก้วตาเทียม
ข้อจำกัดในการฉีดฟิลเลอร์
ก่อนทำการฉีดฟิลเลอร์ แพทย์จะประเมินความเหมาะสมของชนิดฟิลเลอร์ที่จะเลือกใช้ เพื่อให้ผลลัพธ์ของการฉีดฟิลเลอร์ออกมามีประสิทธิและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดฟิลเลอร์ควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่สูบบุหรี่ และมีวุฒิภาวะมากพอที่จะเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่อาจไม่เป็นตามที่ต้องการ และสามารถรับความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ฟิลเลอร์มีข้อจำกัดไม่ให้ใช้ในการเสริมหน้าอก สะโพก แต่งรูปเท้าให้เต็ม รวมถึงการฉีดเข้ากระดูก เอ็นกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อ การทำหัตการจะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะหากฉีดผิดตำแหน่งอาจทำให้สารฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันเส้นเลือด และอาจทำให้เกิดภาวะเนื้อตายหรือเกิดตาบอดได้ในกรณีที่ฉีดใกล้ดวงตา
ข้อควรระวังในการฉีดฟิลเลอร์
การฉีดฟิลเลอร์อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางประการ ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีปัญหาผิวหนังอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น สิว ผื่น หรือลมพิษ ยังไม่ควรฉีดฟิลเลอร์จนกว่าอาการอักเสบเหล่านี้จะหายดี
- ผู้ที่แพ้สารประกอบใด ๆ ที่เป็นส่วนผสมในฟิลเลอร์ เช่น คอลลาเจน ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สารลิโดเคน รวมไปถึงแบคทีเรียด้วย
- ผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงหรือเคยมีประวัติเกิดอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน
- ผู้ที่มีปัญหาเลือดออกมาก รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด ข้อต่อ หรือเส้นเอ็นที่ส่งผลกระทบกับมือ ในกรณีที่ต้องฉีดฟิลเลอร์บริเวณมือด้วย
เตรียมพร้อมก่อนตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์
ผู้ที่จะทำการฉีดฟิลเลอร์ ควรเลือกฉีดฟิลเลอร์กับคลินิกที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลจากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ โดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและศัลยกรรมความงาม และมีประสบการณ์ในการฉีดฟิลเลอร์ จากนั้นควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ต้องการ เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่จะออกมาตรงตามความต้องการมากที่สุด
ก่อนทำการฉีดฟิลเลอร์ ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่แพทย์ใช้ให้แน่ใจทุกครั้งว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้จากเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์บนฉลากได้ที่เว็บไซต์ของอย.โดยตรง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดฟิลเลอร์ควรทำความเข้าใจด้วยว่าผลลัพธ์ของการฉีดฟิลเลอร์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สุขภาพผิว ชนิดของฟิลเลอร์ ปริมาณและบริเวณที่ฉีด รวมถึงความชำนาญของแพทย์ด้วย
ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์
ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ มีดังนี้
1. ประเมินใบหน้าและวางแผน
แพทย์จะประเมินลักษณะของใบหน้าและสีผิวบนใบหน้า รวมถึงตรวจดูบริเวณที่จะทำการฉีดฟิลเลอร์ อาจมีการทำเครื่องหมายการฉีดฟิลเลอร์แต่ละเข็ม แต่ละจุดลงบนใบหน้า หรืออาจถ่ายภาพใบหน้าบริเวณที่จะทำการรักษาด้วยฟิลเลอร์เพื่อนำไปวางแผนการรักษา
2. ทำความสะอาดและใช้ยาชา
ขั้นตอนนี้แพทย์จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่จะทำการฉีดฟิลเลอร์ จากนั้นอาจใช้อุปกรณ์เย็นจัด ครีม หรือยาชาเฉพาะที่เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการฉีดฟิลเลอร์
3. ฉีดฟิลเลอร์
ในขั้นตอนนี้ การฉีดฟิลเลอร์แต่ละเข็มมักใช้เวลาเพียงไม่นาน โดยแพทย์จะทำการนวดและประเมินผลการตรวจไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงแพทย์อาจเพิ่มเข็มการฉีดฟิลเลอร์ตามที่เห็นว่าสมควร
4. ทำความสะอาดแผลและพักฟื้น
เมื่อแพทย์เห็นว่าผลลัพธ์ของการรักษาเป็นที่พอใจแล้วจึงทำการลบเครื่องหมายที่ทำไว้ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ออก และอาจใช้การประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวมหรืออาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้น โดยผิวหนังบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์อาจมีอาการฟกช้ำอยู่ประมาณ 1–2 วัน แต่ก็จะไม่มีอาการเจ็บปวดมาก และในระหว่างนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มร้อน ๆ รวมทั้งการเผชิญแสงแดดด้วย
ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการฉีดฟิลเลอร์
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดฟิลเลอร์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความถูกต้องของการฉีด หรือประเภทของฟิลเลอร์ที่ใช้ ซึ่งฟิลเลอร์ชนิดถาวรอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากที่สุด ตัวอย่างภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากการฉีดฟิลเลอร์ ได้แก่
- เกิดผื่นแดง
- บวม
- คัน
- มีรอยฟกช้ำ
- มีอาการเจ็บปวด
นอกจากนี้ ยังมีภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดฟิลเลอร์ที่อาจพบได้ไม่บ่อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น
- เจ็บบริเวณที่ถูกฉีด
- เกิดอาการแพ้ฟิลเลอร์
- เกิดแผลเปิดที่มีเลือดออก หรือเกิดการติดเชื้อ
- มีก้อนเกิดขึ้นบริเวณใต้ผิวหนัง และต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- ฟิลเลอร์เคลื่อนตัวไปจากบริเวณที่ทำการรักษาหลายต่อหลายครั้ง
- ฟิลเลอร์ไปขัดขวางหลอดเลือด จนอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อตาย ตาบอดถาวร หรือเกิดโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด