ฟ้าผ่า เรียนรู้วิธีป้องกันและรับมือกับอาการที่เกิดขึ้น

เมื่อถูกฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าที่ส่งผ่านทางร่างกายอาจสร้างความเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งเส้นประสาท ซึ่งอาจทำให้ปวดหัว เกิดแผลไหม้ สูญเสียการได้ยิน กระดูกหัก เป็นอัมพาต จนถึงขั้นหมดสติและอาจเสียชีวิตได้ ฟ้าผ่าจึงถือเป็นอุบัติภัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ทุกคนควรศึกษาวิธีป้องกันการถูกฟ้าผ่า ตลอดจนเรียนรู้วิธีช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกฟ้าผ่าในเบื้องต้นเพื่อรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้านี้ได้

ฟ้าผ่า

ทำไมจึงถูกฟ้าผ่า ?

การถูกฟ้าผ่าอาจเกิดจากการทำกิจกรรมกลางแจ้งในขณะที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง เช่น ตกปลา ทำไร่ทำนา ล่องเรือ ก่อสร้าง หรือว่ายน้ำ หรือหากโครงสร้างอาคารมีการเดินสายไฟฟ้าหรือท่อโลหะ ผู้พักอาศัยก็อาจเสี่ยงรับกระแสไฟฟ้าผ่านทางสายโทรศัพท์หรือสวิทช์ไฟได้

อาการบาดเจ็บจากฟ้าผ่าอาจเกิดจากหลายรูปแบบ ดังนี้

  • ฟ้าผ่าลงตัวบุคคลโดยตรง
  • สัมผัสวัตถุที่ถูกฟ้าผ่า จึงได้รับผลกระทบจากฟ้าผ่าด้วย เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า เป็นต้น
  • ยืนอยู่ใกล้กับวัตถุหรือพื้นที่ถูกฟ้าผ่า ทำให้ได้รับกระแสไฟฟ้าที่กระจายออกเป็นวงกว้างผ่านทางพื้น
  • กระเด็นจากแรงฟ้าผ่า หรือแรงระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่ออากาศร้อนโดยรอบเย็นลงอย่างรวดเร็วจากฟ้าผ่า จนได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก
  • บาดเจ็บจากกระแสไฟฟ้าในบริเวณที่มีพลังงานกระแสไฟฟ้าต่ำ แม้กระแสไฟฟ้านั้นจะไม่เชื่อมกับฟ้าผ่าโดยตรงก็ตาม

อาการหลังถูกฟ้าผ่า

ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บจากฟ้าผ่าอาจแตกต่างกันไป ผู้ที่ถูกฟ้าผ่าบางรายอาจบาดเจ็บเล็กน้อย เสื้อผ้าฉีกขาด หมดสติไปครู่หนึ่ง สับสน จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ หรืออาจรุนแรงกว่านั้น ซึ่งอาการต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว หรืออาจคงอยู่ถาวรแล้วแต่กรณี

ลักษณะอาการของผู้ที่ถูกฟ้าผ่า ได้แก่

  • ปวดหัว สับสน มึนงง
  • ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือหดเกร็ง และอาจเป็นอัมพาต
  • หายใจไม่อิ่ม หากปอดได้รับความเสียหาย
  • มีแผลไหม้ อาจเป็นแผลที่ลึกและรุนแรง
  • กระดูกแตก หรือหัก
  • กะโหลกร้าว และบาดเจ็บบริเวณคอจากการกระแทก
  • สูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน
  • หมดสติ ชีพจรอ่อน หรือชีพจรไม่เต้น
  • ได้รับความเสียหายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ หรือหัวใจอาจหยุดเต้นและเสียชีวิต

ฟ้าผ่ารักษาอย่างไร ?

แม้จะถูกฟ้าผ่าโดยตรง แต่ผู้บาดเจ็บอาจไม่ถึงแก่ชีวิตเสมอไป อย่างไรก็ตาม ต้องนำตัวผู้ที่ถูกฟ้าผ่าส่งโรงพยาบาล หากบางรายมีอาการไม่รุนแรงมากนัก เช่น สับสน มึนงง สูญเสียความทรงจำชั่วคราว และไม่มีเนื้อเยื่อภายในได้รับความเสียหาย แพทย์อาจให้กลับบ้านได้โดยไม่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่หากมีอาการแทรกซ้อน หรือมีอาการป่วยรุนแรง แพทย์อาจต้องตรวจร่างกาย วินิจฉัย และวางแผนรักษาเพิ่มเติมตามเหมาะสม ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การรักษาด้วยยา แพทย์อาจใช้ยารักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ยาที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ยาปฏิชีวนะ ยาขับปัสสาวะ ยาลดไข้แก้ปวดบวม หรือยาอื่น ๆ โดยผู้ที่มีโรคประจำตัว มีประวัติแพ้ยา หรือเคยมีเลือดออกในช่องท้อง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาใด ๆ เสมอ
  • การผ่าตัด และหัตถการต่าง ๆ ในกรณีที่ผู้บาดเจ็บมีบาดแผล แผลไหม้ หรือการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดหรือทำหัตถการตามจุดต่าง ๆ ที่เกิดแผล
  • การให้ออกซิเจน ผู้บาดเจ็บบางรายอาจต้องการออกซิเจนเพิ่ม เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากช่วยหายใจ หรือใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น
  • การทำกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะช่วยสอนการออกกำลังแขน ขา และมือ รวมถึงเรื่องการพูด และการกลืนอาหาร สำหรับผู้บาดเจ็บจากฟ้าผ่าที่เป็นอัมพาตหรือมีปัญหาด้านการใช้ทักษะต่าง ๆ

นอกจากนี้ หากผู้บาดเจ็บหัวใจหยุดเต้นและไม่ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือผ่านการทำ CPR มาก่อน อาจต้องส่งตัวผู้บาดเจ็บเข้าห้อง ICU ทันที เพื่อให้แพทย์ได้ดูแลและเฝ้าระวังอาการอันตรายอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้น แพทย์อาจต้องรักษาตามอาการ จนผู้ป่วยอาการดีขึ้น และอาจต้องให้ผู้ป่วยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในขั้นต่อไป

วิธีป้องกันการถูกฟ้าผ่า

  • ติดตามพยากรณ์อากาศก่อนทำกิจกรรมกลางแจ้งใด ๆ หากมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ควรกิจกรรมดังกล่าวหรือเลื่อนแผนท่องเที่ยวออกไปก่อน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าที่พักของตนปลอดภัยจากฟ้าผ่า
  • เมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่าให้หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่น บ้านพัก อาคารขนาดใหญ่ แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังอาคาร ประตู หรือหน้าต่าง
  • หากอยู่ในที่โล่งและหาที่หลบไม่ได้ ให้หมอบลงนั่งยอง ๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด โดยแนบมือทั้งสองข้างติดกับเข่า ก้มศีรษะลงไปอยู่ระหว่างเข่า และขยับเท้าให้ชิดกันหรือเขย่งปลายเท้า เพื่อลดพื้นที่ที่สัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด แต่อย่านอนหมอบราบกับพื้นหรือยืนแนบผนังเด็ดขาด โดยเฉพาะพื้นหรือผนังคอนกรีต เพราะกระแสไฟฟ้าอาจส่งผ่านท่อโลหะหรือสายไฟต่าง ๆ ตามพื้นและผนัง ซึ่งอาจเป็นอันตรายและทำให้เสียชีวิตได้ แม้จะอยู่ห่างจากบริเวณที่ถูกฟ้าผ่าถึง 30 เมตรก็ตาม
  • หากอยู่กลางแจ้งหลายคนหรือเป็นกลุ่มใหญ่ ให้กระจายตัวออกจากกัน เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บเมื่อฟ้าผ่าลงพื้น
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เปิดโล่งหรือบริเวณโครงสร้างแบบเปิด เช่น ระเบียง ชานบ้าน ศาลา ลานกีฬา สนามเด็กเล่น สนามกอล์ฟ สวนสาธารณะ ทะเลสาบ บึง สระว่ายน้ำ และชายหาด เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพาหนะแบบเปิดโล่ง เช่น รถเปิดประทุน รถมอเตอร์ไซค์ หรือรถกอล์ฟ เป็นต้น และหากอยู่ในรถยนต์ ควรปิดกระจกให้มิดชิด
  • ห้ามใช้โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค เครื่องเล่นเกม เครื่องซักผ้า ไดร์เป่าผม เตาไมโครเวฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ เพราะกระแสไฟฟ้าอาจส่งผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ และควรติดตั้งระบบตัดไฟในบ้าน เพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าและการเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร
  • ห้ามอาบน้ำ ล้างจาน หรือสัมผัสน้ำในขณะฟ้าผ่า เพราะกระแสไฟฟ้าอาจส่งผ่านทางท่อส่งน้ำได้
  • ห้ามใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเทอร์เน็ตในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาสัญญาณหรือเสาอากาศนอกบ้าน ซึ่งกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ทำให้โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ รวมทั้งผู้ใช้งานได้รับอันตราย หากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ ควรเลือกใช้โทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์ไร้สายอื่น ๆ แทน แต่ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้ง  เนื่องจากโทรศัพท์มือถือมีส่วนประกอบที่เป็นตัวล่อฟ้า อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้

คนรอบข้างจะช่วยเหลือคนที่ถูกฟ้าผ่าได้อย่างไร ?

หากพบผู้ถูกฟ้าผ่า ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาลที่เบอร์ 1669 ทันที แล้วแจ้งสถานที่และรายละเอียดของผู้บาดเจ็บอย่างละเอียด แล้วจึงประเมินสถานการณ์ก่อนเริ่มปฐมพยาบาลผู้ถูกฟ้าผ่า ซึ่งผู้ช่วยเหลือควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนผู้บาดเจ็บ ตำแหน่งของผู้บาดเจ็บ ความรุนแรงของพายุ และสังเกตว่าบริเวณที่เกิดเหตุยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่  พื้นที่เปิดกว้าง เป็นต้น หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตนเองและผู้บาดเจ็บจากการถูกฟ้าผ่าอีกครั้ง ขณะที่รอรถพยาบาล การช่วยเหลือและปฐมพยาบาลในเบื้องต้นอาจช่วยให้อาการบาดเจ็บของผู้ถูกฟ้าผ่าทุเลาลงได้ โดยผู้ที่ให้ความช่วยเหลือสามารถสัมผัสตัวผู้บาดเจ็บได้ทันที เพราะผู้ที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ซึ่งต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อต ผู้ช่วยเหลือจึงไม่ต้องกังวลว่าจะถูกไฟดูดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ฟ้าผ่าอาจทำให้เกิดอาการหัวใจวายได้ ผู้ช่วยเหลือควรมองหาการตอบสนองของผู้บาดเจ็บด้วยการตรวจดูว่ายังหายใจหรือไม่ และตรวจชีพจรจากบริเวณคอใต้คางเล็กน้อย หากผู้ถูกฟ้าผ่าหมดสติ ไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ อาจปรากฏอาการริมฝีปากเขียว หน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกไม่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวน้อยมาก รวมถึงชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ซึ่งหากผู้ช่วยเหลือพบอาการดังกล่าว โดยเฉพาะผู้บาดเจ็บหัวใจหยุดเต้นซึ่งจะคลำไม่พบชีพจร ให้ช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจร่วมกับการผายปอดทันทีก่อนนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้หัวใจและปอดทำงาน โดยให้วางมือตรงกึ่งกลางเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย และปั๊มหัวใจอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้บาดเจ็บจะฟื้นคืนสติ หรือมีทีมแพทย์พยาบาลมาช่วยเหลือ

ผู้ช่วยเหลือควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นจนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์และพยาบาล หากบริเวณดังกล่าวมีสภาพอากาศชื้นหรือเย็น ควรหาวัตถุมารองระหว่างผู้บาดเจ็บกับพื้นไว้ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำเกินไป แต่หากมีการบาดเจ็บบริเวณคอหรือกระดูกหัก ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ ยกเว้นในกรณีที่ผู้บาดเจ็บตกจากที่สูง กระเด็นจากแรงกระแทก หรือสาเหตุอื่นที่จำเป็นมากเท่านั้น เพราะการเคลื่อนย้ายร่างกายอาจทำให้ผู้บาดเจ็บเสี่ยงเป็นอัมพาตหรือมีเลือดออกรุนแรงได้