ภาวะสมองตายคืออะไร เหมือนโคม่าหรือไม่

สมองตายเป็นภาวะที่แกนสมองหรือก้านสมอง (Brain Stem) ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ไม่ว่าจากโรคและอุบัติเหตุ ซึ่งการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองตายจำเป็นต้องใช้แพทย์หลายท่านเพื่อตรวจและยืนยันถึงภาวะดังกล่าว อีกนัยหนึ่งการวินิจฉัยภาวะสมองตายหมายถึงผู้ป่วยได้เสียชีวิตลงแล้ว

สมองเป็นอวัยวะที่ควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมดผ่านระบบประสาทส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อสมองตายจะส่งผลให้อวัยวะอื่นหยุดทำงานเพราะไม่ได้รับคำสั่งจากสมอง ระบบของร่างกายอย่างการหายใจและการเต้นของหัวใจก็จะหยุดลง และนำไปสู่การเสียชีวิต

ภาวะสมองตายคืออะไร เหมือนโคม่าหรือไม่

สมองตายคืออะไร ส่งผลยังไง

แม้ว่าจะเรียกว่าภาวะสมองตาย แต่จริง ๆ ภาวะนี้เกิดจากแกนสมองหรือบางคนเรียกก้านสมองตายและไม่สามารถทำงานได้ โดยก้านสมองจะอยู่บริเวณด้านหลังของสมองส่วนล่างเชื่อมต่อกับไขสันหลัง มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการหายใจ การเต้นของหัวใจ การควบคุมความดันเลือด หรือแม้แต่การกลืนอาหาร

ก้านสมองยังทำหน้าที่เหมือนสะพานในการรับและส่งต่อคลื่นไฟฟ้าระหว่างอวัยวะภายในร่างกายกับแกนหลักของสมอง (Core Brain) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การรับรู้ และการมีสติรู้ตัว เมื่อก้านสมองตาย สะพานในการรับส่งคลื่นไฟฟ้าระหว่างร่างกายกับสมองก็ขาดลง จึงทำให้ระบบเหล่านี้หยุดทำงาน

ด้วยเหตุนี้ ในทางการแพทย์และทางกฎหมาย ภาวะสมองตายหมายความว่าผู้ป่วยได้เสียชีวิตลงแล้ว เนื่องจากอวัยวะและระบบต่าง ๆ ทำงานเองไม่ได้อย่างถาวรโดยไม่สามารถรักษาได้

แม้ว่าร่างกายของผู้ป่วยที่สมองตายอาจทำงานอยู่ได้ด้วยการใช้เครื่องพยุงชีพ อย่างเครื่องช่วยหายใจ เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Cardiopulmonary Bypass Machine) แต่ร่างกายจะไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น แพทย์จึงอาจตรวจสอบการตอบสนองของก้านสมองว่ายังคงทำงานอยู่หรือไม่ เช่น 

  • การตอบสนองของรูม่านตาต่อแสง (Pupillary Light Reflex)
  • การตอบสนองของกระจกตา (Corneal Reflex)
  • การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าและลูกตา 
  • การตอบสนองของดวงตาส่วนที่เชื่อมกับสมองต่อสิ่งกระตุ้น เรียกว่าเวสติบูโลออกคูลาร์รีเฟลกซ์ (Vestibulo-ocular Reflex) และออกคูโลเซฟาลิกรีเฟลกซ์ (Oculocephalic Reflex)
  • การตอบสนองของการกลืนและการไอ (Gag and Cough Reflexes)

ร่างกายของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายจะไม่สามารถทำงานได้เอง ทั้งการหายใจ การเต้นของหัวใจ การสูบฉีดเลือด เมื่อปราศจากการทำงานของระบบเหล่านี้ อวัยวะและระบบต่าง ๆ จะล้มเหลวและเสียชีวิตในท้ายที่สุด แพทย์อาจรักษาการทำงานของร่างกายไว้ได้ด้วยการใช้เครื่องพยุงชีพผู้ป่วยหนัก แต่ครอบครัวส่วนใหญ่มักยินยอมให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ เพราะภาวะสมองตายไม่สามารถบรรเทา ฟื้นฟู หรือรักษาได้

สาเหตุของภาวะสมองตาย

สมองตายเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • โรคหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Cardiac Arrest) ที่ส่งผลให้เลือดไม่สามารถสูบฉีดไปยังสมองและร่างกายส่วนอื่นได้ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) ทำให้หัวใจหยุดทำงานเนื่องจากหลอดเลือดอุดตัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายส่งผลให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง
  • โรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก (Stroke) คือ โรคที่หลอดเลือดภายในสมองเกิดการอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลผ่านและนำออกซิเจนไปยังเซลล์ส่วนอื่นในสมอง ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจน
  • โรคลิ่มเลือดอุดตัน เป็นโรคที่ลิ่มเลือดหรือก้อนเลือดเข้าไปอุดตันภายในหลอดเลือดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอาจรวมถึงส่วนสำคัญ อย่างหัวใจ สมอง และปอด
  • อุบัติเหตุที่ทำให้ศีรษะและสมองบาดเจ็บอย่างรุนแรง
  • ภาวะเลือดออกในสมองที่เกิดจากการบาดเจ็บ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aneurysm) การใช้สารเสพติด และอีกหลายสาเหตุ
  • ภาวะติดเชื้อภายในสมอง อย่างโรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) ที่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
  • เนื้องอกในสมอง ทั้งชนิดที่เป็นเซลล์มะเร็งและชนิดที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง ซึ่งเนื้องอกที่เกิดขึ้นอาจทำให้สมองเสียหายหรือไปกดทับหลอดเลือดและเส้นประสาท

ภาวะสมองตาย ไม่ใช่ภาวะโคม่า และสภาพผัก

หลายคนอาจสับสนระหว่างภาวะสมองตาย ภาวะโคม่า (Coma) และสภาพผัก (Vegetative State) หรืออาจเข้าใจว่าเป็นภาวะเดียวกัน แต่ทั้ง 3 ภาวะนี้ไม่เหมือนกัน โคม่าเป็นภาวะที่ผู้ป่วยคล้ายกับกำลังนอนหลับ ไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อสิ่งการกระตุ้นจากภายนอก

แต่อาจมีการตอบสนองตามธรรมชาติอยู่บ้าง อย่างแขนขา หรือกล้ามเนื้อกระตุก นอกจากนี้ ผู้ป่วยภาวะโคม่าสามารถหายใจได้เอง แต่ในรายที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

สำหรับสภาพผักหรือที่คนไทยเรียกว่าเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทรา ภาวะนี้ร้ายแรงน้อยกว่าโคม่า ผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพผักสามารถหายใจได้เอง ผู้ป่วยอาจแสดงพฤติกรรมคล้ายกับคนที่รู้สึกตัวหรือกำลังตื่น อย่างลืมตา หาว ส่งเสียง หรือขยับร่างกาย

แต่พฤติกรรมและเสียงเหล่านั้นจะดูเป็นการเคลื่อนไหวแปลก ๆ ไม่มีจุดมุ่งหมาย และเสียงที่ส่งออกมาไม่ได้มีลักษณะเป็นคำเพื่อสื่อสาร บางครั้งร่างกายผู้ป่วยอาจตอบสนองต่อการกระตุ้นภายนอกบางรูปแบบตามกลไกของร่างกาย แต่ไม่ได้เกิดจากการรับรู้

ผู้ป่วยโคม่าและสภาพผักอาจมีโอกาสตื่นหรือฟื้นอยู่บ้าง ซึ่งต่างจากผู้ป่วยภาวะสมองตายที่ต้องใช้เครื่องพยุงชีพเพื่อรักษาการทำงานของทุกระบบ ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น และไม่สามารถฟื้นขึ้นได้

เมื่อสมาชิกในบ้านป่วยด้วยภาวะสมองตาย ครอบครัวรับมืออย่างไร 

ภาวะสมองตายไม่ได้ส่งผลต่อตัวผู้ป่วยเท่านั้น ครอบครัวและคนใกล้ชิดอาจได้รับผลกระทบด้านจิตใจด้วย เนื่องจากภาวะนี้ไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาได้ เมื่อผู้ป่วยสมองตาย แพทย์อาจแนะนำครอบครัวผู้ป่วยเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับความโศกเศร้า

หากร่างกายผู้ป่วยที่เสียชีวิตตรงกับเกณฑ์การบริจาคอวัยวะ แพทย์อาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะเพื่อต่อชีวิตหรือเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยรายอื่น

ภาวะสมองตายเป็นภาวะที่ไม่สามารถคาดเดาได้จึงไม่มีวิธีลดความเสี่ยงที่ชัดเจน ส่วนคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่างคนรักหรือญาติใกล้ชิด อาจเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและภาวะอารมณ์ผิดปกติแบบอื่นได้ หากรู้สึกตนเองเศร้าติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่มีแนวโน้มว่าอาการจะดีขึ้น หรือรู้สึกว่าไม่สามารถรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและวิธีรับมือกับสภาวะอารมณ์ดังกล่าว