มะเขือยาวเป็นพืชสวนครัวที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ จึงเชื่อว่ามะเขือยาวอาจส่งผลดีต่อสุขภาพและอาจช่วยรักษาป้องกันโรคบางชนิดได้ โดยสารอาหารในมะเขือยาวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่ เส้นใยอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แมงกานีส โพแทสเซียม โฟเลต วิตามินซี และวิตามินเค
แม้มะเขือยาวเป็นแหล่งโภชนาการที่สำคัญของสารอาหารต่าง ๆ แต่ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ยังไม่มีการรับรองคุณสมบัติของมะเขือยาวเพื่อการรักษาโรคแต่อย่างใด มีเพียงหลักฐานบางส่วนที่แสดงถึงประสิทธิผลของมะเขือยาวในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ต้านอนุมูลอิสระ
โดยทั่วไป สารอนุมูลอิสระเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานภายในเซลล์ร่างกาย แต่หากร่างกายมีสารนี้มากเกินไป อาจสร้างความเสียหายแก่เซลล์และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ มีสมมติฐานว่าสารให้สีแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ในมะเขือยาวอาจมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระได้ จึงมีการนำสารสกัดจากเปลือกมะเขือยาวไปค้นคว้าหาประสิทธิภาพด้านการต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง พบว่าสารแอนโทไซยานินอาจมีฤทธิ์ป้องกันการทำลายเซลล์จากสารอนุมูลอิสระได้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาตัวอย่างเซลล์ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงควรค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมโดยทำการทดลองในมนุษย์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต
ลดระดับน้ำตาลในเลือด
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะโรคเบาหวานซึ่งร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือดื้อต่ออินซูลินจนไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามปกติ และหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงโดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย
มะเขือยาวมีสารพฤกษเคมีโพลีฟีนอลที่เชื่อกันว่าอาจช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและเพิ่มการผลิตอินซูลินเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้ จึงมีงานวิจัยในหลอดทดลองที่ศึกษาสารสกัดจากมะเขือยาว พบว่ามะเขือยาวอาจช่วยลดเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดูดซึมน้ำตาลในร่างกาย ซึ่งช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้ด้วย แต่การทดลองดังกล่าวเป็นการใช้สารสกัดทดลองกับเซลล์ตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ ดังนั้น ควรมีการค้นคว้าทดลองในมนุษย์ต่อไป เพื่อประสิทธิผลสูงสุดทางสุขภาพและการแพทย์
ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
โรคหัวใจเป็นโรคอันตรายที่ร้ายแรงต่อชีวิตหากผู้ป่วยไม่ได้รักษาดูแลอาการอย่างเหมาะสม โดยมีปัจจัยหลายประการที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ เนื่องจากมะเขือยาวมีสารอาหารให้ประโยชน์สูงอย่างหลากหลาย จึงเชื่อว่ามะเขือยาวอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือดซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคหัวใจได้ด้วย
แม้บางงานวิจัยที่ทดลองในสัตว์พบว่า มะเขือยาวอาจช่วยลดระดับไขมันเลว (LDL Cholesterol) และสารไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ แต่การทดลองใช้ผงสกัดจากมะเขือยาวเพื่อลดระดับไขมันในเลือดของมนุษย์กลับไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันที่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด จึงไม่อาจสรุปประสิทธิผลของมะเขือยาวต่อการลดระดับไขมันในเลือดได้ในขณะนี้ ควรค้นคว้าทดลองเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ชัดเจนต่อไปในอนาคต
ต้านมะเร็ง
มะเร็งเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้ป่วยได้หากรักษาไม่ทันการณ์หรือมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญ มะเขือยาวมีสารโซลาโซดีน แรมโนซิล ไกลโคไซด์ (Solasodine Rhamnosyl Glycosides) ที่เชื่อว่าอาจต้านเซลล์มะเร็งได้ จึงมีการทดลองนำครีมที่มีส่วนผสมของสารชนิดนี้ทาลงบนผิวหนังของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง พบว่าสารโซลาโซดีน แรมโนซิล ไกลโคไซด์ อาจมีคุณสมบัติต้านเซลล์มะเร็งผิวหนังได้
นอกจากนี้ มีงานวิจัยบางชิ้นสนับสนุนว่าการรับประทานผักผลไม้รวมทั้งมะเขือยาวอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งบางชนิดได้ อย่างไรก็ตาม แม้อุดมไปด้วยสารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะพิสูจน์ประสิทธิผลของมะเขือยาวเพื่อการรักษาหรือป้องกันโรคได้อย่างแน่ชัด ดังนั้น ผู้บริโภคทั่วไป หรือผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ควรระมัดระวังในการบริโภคอาหารแต่ละชนิดรวมถึงมะเขือยาวด้วย
ความปลอดภัยในการบริโภคมะเขือยาว
แม้มะเขือยาวจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการบริโภคมะเขือยาวที่เหมาะสมอย่างแน่ชัด อีกทั้งยังเคยมีรายงานการพบสารพิษตกค้างในมะเขือยาวจากการสุ่มตรวจตัวอย่างสินค้าทางการเกษตร ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรรับประทานมะเขือยาวในปริมาณพอดี และด้วยวิธีการที่เหมาะสมเสมอ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคหากมีข้อสงสัย หรือพบผลข้างเคียงใด ๆ หลังการบริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้ที่มีแนวโน้มป่วยง่าย เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพจากการรับประทานมะเขือยาว ผู้บริโภคอาจทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- เลือกมะเขือยาวที่สดใหม่ ไม่มีรอยช้ำหรือเน่าเสีย โดยอาจเลือกซื้อผักออร์แกนิกหรือผักปลอดสารพิษ เพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนสารพิษหรือเชื้อโรค
- ล้างมะเขือยาวด้วยน้ำสะอาด เพื่อกำจัดเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อน
- ล้างมือ รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบอาหารให้สะอาด เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเจือปนในขณะทำอาหาร
- เก็บมะเขือยาวที่ล้างแล้วแยกออกจากอาหารอื่น ๆ ที่อาจปนเปื้อนเชื้อหรือสารพิษ
- หากหั่นมะเขือยาวเป็นชิ้นแล้ว ควรเก็บมะเขือยาวในภาชนะสะอาดแล้วแช่ในตู้เย็นเสมอ นำออกมาต่อเมื่อต้องการประกอบอาหาร