มีดบาด รู้จักวิธีปฐมพยาบาลและลักษณะแผลที่ควรไปพบแพทย์

มีดบาดเป็นอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน เช่น ในขณะทำอาหาร ในขณะทำงาน ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีดูแลแผลมีดบาดอย่างถูกต้อง เพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น หรือปฐมพยาบาลก่อนไปพบแพทย์ในกรณีที่แผลมีขนาดใหญ่หรือรุนแรง

วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อโดนมีดบาดหรือของมีคมบาดนั้นไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะหากแผลไม่รุนแรงและหรือมีขนาดเล็ก โดยจะเน้นที่การห้ามเลือดและการทำความสะอาดบาดแผล แต่สำหรับแผลที่รุนแรงหรือแผลค่อนข้างลึกอาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว 

มีดบาด

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนมีดบาด 

หากผู้ป่วยมีแผลมีดบาดที่ไม่รุนแรง แผลมีขนาดเล็ก หรือมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย การปฐมพยาบาลจะช่วยฟื้นฟูบาดแผลและทำให้แผลหายเร็วขึ้นได้ ดังนี้ 

1. ทำความสะอาดแผลมีดบาด

ล้างมือแล้วทำความสะอาดแผลด้วยน้ำและสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวหนังอย่างสบู่เด็ก โดยหลีกเลี่ยงสบู่ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือมีส่วนผสมของน้ำหอม และน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างแอลกอฮอล์และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองและรู้สึกปวดหรือแสบที่แผลมากขึ้นได้

2. ห้ามเลือด

ห้ามเลือดโดยกดบริเวณแผลมีดบาดเอาไว้นิ่ง ๆ จะช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดหยุดไหลได้ นอกจากนี้ยังควรยกอวัยวะที่มีแผลมีดบาดให้สูงขึ้นเหนือระดับหัวใจ เพราะจะช่วยให้เลือดไหลช้าลงด้วย 

สำหรับแผลมีดบาดที่มีรอยถลอกและเลือดซึมออกมาเพียงเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องห้ามเลือด เนื่องจากเลือดมักหยุดไหลได้เองในเวลาไม่นาน ส่วนแผลที่มีขนาดใหญ่และเลือดออกมากขึ้นอาจต้องใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าก๊อซปิดปากแผลแน่น ๆ ก่อนแล้วค่อยกดห้ามเลือด 

3. ทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

อันที่จริง การทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียอย่างยานีโอสปอริน (Neosporin) และยาโพลีสปอริน (Polysporin) อาจไม่จำเป็นในผู้ป่วยที่มีแผลขนาดเล็กและไม่รุนแรง เพราะตัวยาไม่ได้ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น แต่จะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ จึงจะเหมาะกับแผลที่อาจสัมผัสสิ่งสกปรกได้บ่อยหรือหลีกเลี่ยงสิ่งสกปรกได้ยาก    

4. ปิดแผลมีดบาด

เช่นเดียวกันกับการทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย การปิดแผลด้วยผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ก็อาจไม่จำเป็นหากผู้ป่วยไม่ได้สัมผัสกับสิ่งสกปรกมากนักจนเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา สำหรับใครที่ต้องการปิดแผลควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดขณะปิดพลาสเตอร์หรือผ้าพันแผลด้วย และควรเปลี่ยนผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง 

ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกมีดบาดควรหมั่นสังเกตแผลและอาการผิดปกติของตัวเองหลังการปฐมพยาบาลอยู่เสมอ หากพบสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น รู้สึกแผลปวดมากขึ้น แผลบวม แดง หรือมีเลือดออก หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรไปตรวจวินิจฉัยจากแพทย์และรับการรักษาโดยเร็ว

ลักษณะบาดแผลแผลมีดที่ควรไปพบแพทย์

ในบางกรณี แผลมีดบาดอาจมีความรุนแรงและควรไปพบแพทย์ โดยทั่วไป หากผู้ป่วยมีแผลมีดบาดในลักษณะต่อไปนี้ ควรรีบห้ามเลือดในเบื้องต้นและไปพบแพทย์ทันที

  • แผลที่มีเลือดไหลไม่หยุดแม้จะกดห้ามเลือดไปแล้ว 10 นาที
  • แผลที่มีเลือดออกมากหรือมีเลือดทะลักออกมา
  • แผลลึก กว้าง ยาว หรือฉีกขาด
  • แผลบริเวณใบหน้า ปาก ท้อง หน้าอก หรืออวัยวะเพศ
  • แผลที่เต็มไปด้วยเศษสิ่งสกปรก หรือมีวัสดุบางอย่างติดอยู่ในแผล
  • แผลที่ถูกบาดด้วยของมีคมที่สกปรกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

เมื่อถึงมือแพทย์แล้ว แพทย์อาจรักษาแผลมีดบาดด้วยการเย็บแผล ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักหรือยา Tetanus Immunoglobuin โดยพิจารณาจากลักษณะและความรุนแรงของแผล รวมถึงประวัติการฉีดวัคซีนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้แผลหายดีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อบาดทะยักด้วย