มีเลือดออกในจมูกข้างเดียว สาเหตุและวิธีปฐมพยาบาลด้วยตัวเอง

ผู้ที่มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวอาจรู้สึกกังวลเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งการมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การแคะจมูก ภูมิแพ้ หรือการติดเชื้อบางอย่าง โดยเลือดออกในจมูกข้างเดียวส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและสามารถรับมือเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง

มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่บางรายอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวสูงกว่าผู้อื่น เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด

Nosebleed from One Nostril

สาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกในจมูกข้างเดียว

ภายในผนังเยื่อบุโพรงจมูกมีหลอดเลือดฝอยมากมาย ซึ่งหลอดเลือดฝอยเหล่านี้มักบอบบางและฉีกขาดง่าย จึงอาจทำให้มีเลือดออกภายในจมูกได้หากโพรงจมูกเกิดการระคายเคืองหรือได้รับบาดเจ็บ โดยการมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. อาการบาดเจ็บภายในโพรงจมูก

อาการบาดเจ็บต่าง ๆ เช่น การแคะจมูก การสั่งน้ำมูกแรงเกินไป การมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันภายในจมูก รวมถึงอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณจมูก อาจทำให้หลอดเลือดบริเวณผนังเยื่อบุโพรงจมูกได้รับความเสียหายและเกิดการระคายเคือง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวได้

2. ภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้อาจทำให้มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวได้ โดยฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ หรือสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ ที่สูดดมเข้าสู่ร่างกายอาจกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าว และทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ตามมา เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล 

โดยการมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อาจเกิดจากการสั่งน้ำมูกแรงเกินไป การใช้ยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูกเพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้โพรงจมูกระคายเคือง และมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวได้

3. การติดเชื้อ

ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคหวัด โรคไซนัสอักเสบ อาจทำให้เกิดอาการจาม ไอ และสั่งน้ำมูกบ่อย ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เยื่อบุโพรงจมูกเกิดการระคายเคืองและอาจทำให้มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวได้

4. อากาศแห้งและเย็น

ผู้ที่อยู่ภายในบริเวณที่มีอากาศแห้งและเย็น อย่างห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศเป็นเวลานาน อาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกแห้งและเกิดการระคายเคือง ซึ่งอาจส่งผลให้หายใจแล้วแสบจมูก และมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวได้

5. การสูดดมสารเคมี

การสูดดมสารเคมีต่าง ๆ เช่น น้ำยาทำความสะอาด หรือสารเคมีอื่น ๆ ที่มีกลิ่นฉุน อาจส่งผลให้เยื่อบุโพรงจมูกเกิดการระคายเคือง ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวได้

6. การใช้ยาบางชนิด

การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวได้ เช่น การยาพ่นจมูกบ่อยเกินไป การใช้ยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูก โดยการใช้ยาเหล่านี้อาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกแห้งและระคายเคือง ซึ่งอาจนำไปสู่การมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวได้

นอกจากยาที่กล่าวมาแล้ว อาการมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวอาจเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาวาร์ฟาริน ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)

ทั้งนี้ การมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวมักไม่เป็นอันตราย แต่การมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ไม่ควรมองข้าม เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดออกผิดปกติ เนื้องอกภายในโพรงจมูก ผู้ที่มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวบ่อย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเลือดออกในจมูกข้างเดียว

ผู้ที่มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวสามารถทำตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อปฐมพยาบาลห้ามเลือด ดังนี้

  1. นั่งตัวตรงและโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงคอหรือเกิดการสำลัก 
  2. บีบบริเวณปีกจมูกทั้ง 2 ข้างด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ค้างไว้ 5 นาที หากเลือดยังไม่หยุดไหลให้บีบค้างไว้อีกประมาณ 10 นาที ในระหว่างนี้ ควรหายใจผ่านทางปากแทนจมูก
  3. อาจลองประคบเย็นบริเวณสันจมูกร่วมด้วย โดยการประคบเย็นอาจช่วยให้หลอดเลือดหดตัวและทำให้เลือดหยุดไหลได้

ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนอน การยกของหนัก การสูดลมหายใจเข้าหรือพ่นลมหายใจผ่านจมูกแรง ๆ หลังจากเลือดหยุดไหล เพราะอาจทำให้มีเลือดออกจมูกข้างเดียวอีกครั้งได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวอาจป้องกันอาการดังกล่าวในอนาคตได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ใช้ยาในปริมาณที่แพทย์ เภสัชกร หรือฉลากแนะนำ หลีกเลี่ยงการแคะจมูก ใช้ทิชชูเช็ดน้ำมูกแทนการสั่งน้ำมูกแรง ๆ ใช้เครื่องทำความชื้นภายในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศแห้งเกินไป 

หากมีเลือดออกในจมูกข้างเดียวผิดปกติ เช่น เลือดไหลไม่หยุดนานเกิน 20 นาที มีเลือดออกในจมูกข้างเดียวหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือหลังจากรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด จมูกเบี้ยวหรือผิดรูปหลังจากได้รับบาดเจ็บที่จมูก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมตามสาเหตุของอาการเลือดออกในจมูกข้างเดียว