มีโรคประจำตัว ดูแลตนเองอย่างไรในช่วงโควิด-19

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) อาจทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนามีอาการป่วยที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและสามารถรักษาอาการให้หายดีได้ แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือมีอาการป่วยรุนแรงกว่าผู้ติดเชื้อที่มีสุขภาพแข็งแรง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าคนทุกช่วงวัยมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือเชื้อโควิด-19 ได้เหมือนกัน แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง หรืออยู่ในระหว่างการรักษาอาการป่วยของร่างกายบางประเภท อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อและมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าบุคคลทั่วไป

2598-โรคประจำตัว-โควิด-19

กลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19

มาดูกันว่ากลุ่มโรคใดบ้างที่เสี่ยงมีอาการรุนแรงหากผู้ที่มีโรคประจำตัวได้รับเชื้อโควิด-19 แล้วควรดูแลตนเองอย่างไรให้ปลอดภัย

โรคปอดเรื้อรัง 

กลุ่มอาการของโรคปอดเรื้อรังมีอยู่หลายโรค เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Pulmonary Fibrosis) และโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)  เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรือมีการอักเสบ หรือเกิดความเสียหายใด ๆ ที่บริเวณปอดอยู่ แล้วเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา ก็อาจมีโอกาสติดเชื้ออย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนาจะเข้าโจมตีระบบทางเดินหายใจที่ไม่สมบูรณ์ และอาจทำให้เกิดภาวะหอบหืดเฉียบพลัน (Asthma Attack) ปอดบวม (Pneumonia) หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ 

ในปัจจุบันจะยังไม่มีการรักษาหรือวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยตรง วิธีป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19 ของผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังได้ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสติดต่อกับผู้มีอาการป่วย ล้างมือบ่อย ๆ ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ และรับประทานยาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง

โรคเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 รวมถึงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จัดเป็นกลุ่มที่อาจมีอาการป่วยรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายจากการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ใช้เป็นพลังงานได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ จึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา และทำให้ความสามารถในการต่อต้านและจัดการกับเชื้อไวรัสโคโรนาของร่างกายลดต่ำลงด้วย

ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรดูแลและควบคุมอาการของโรค โดยตรวจวัดและจดบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อจัดเตรียมยาและอินซูลินสำรองไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดการออกจากบ้านในการไปพบแพทย์หรือเภสัชกรโดยไม่จำเป็น

โรคหัวใจ

แม้ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะโจมตีระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก แต่อาจทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติได้เช่นกัน สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสและมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจแต่กำเนิด หรือภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension)  เนื่องจากหัวใจจะทำงานหนักกว่าปกติเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย

ผู้ป่วยควรรับประทานยารักษาโรคหัวใจและยารักษาโรคความดันโลหิตสูงให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง และควรจัดเตรียมยาสำรองไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ พร้อมทั้งป้องกันตนเองจากการสัมผัสเชื้อไวรัสโดยปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่ก่อนการไอหรือจาม หมั่นล้างมือให้สะอาด และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนจำนวนมาก

ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

หากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะส่งผลให้ความสามารถในการจัดการกับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคของร่างกายลดลง ซึ่งความอ่อนแอของระบบภูมิคุ้มกันอาจเกิดจากโรคมะเร็งบางชนิด อย่างมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมไปถึงการรักษามะเร็งบางประเภท อย่างการฉายแสง การปลูกถ่ายไขกระดูก การทำเคมีบำบัด หรือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ก็อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลงในระยะสั้นหรืออาจทำลายระบบภูมิคุ้มกันในระยะยาวได้

การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน อย่างยาคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยาชนิดอื่น อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้เช่นกัน ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแผนการรักษา ดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงอยู่เสมอ หมั่นล้างมือ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการไข้หวัด หรือผู้ป่วยโรคติดต่ออื่น ๆ เนื่องจากผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะติดเชื้อได้ง่าย

โรคอื่น ๆ

นอกจากโรคประจำตัวหรืออาการผิดปกติข้างต้น ผู้ป่วยที่มีภาวะดังต่อไปนี้ อาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 สูงกว่าผู้อื่น 

  • โรคไตเรื้อรัง และรับการรักษาด้วยการฟอกไต (Dialysis)
  • โรคตับเรื้อรัง เช่น โรคตับแข็ง และโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic Hepatitis)
  • โรคอ้วน
  • ภาวะตั้งครรภ์
  • ภาวะความผิดปกติของเลือด เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease) หรือรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ภาวะผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคลมชัก (Epilepsy) ภาวะสมองพิการ (Cerebral Palsy) ภาวะพัฒนาการบกพร่องระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง และโรคกล้ามเนื้อลีบจากพันธุกรรม (Muscular Dystrophy

แม้ว่าผู้มีโรคประจำตัวจะจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าผู้อื่น แต่ผู้ป่วยไม่ควรตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลมากเกินไป ทั้งนี้ ควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาโรคประจำตัว โดยรับประทานยาและดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งป้องกันตนเองจากการได้รับเชื้อไวรัสด้วยการล้างมือให้สะอาด เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร และหากมีข้อสงสัยหรือมีอาการผิดปกติใด ๆ ควรสอบถามไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับคำปรึกษา