การใช้ยากันยุงเป็นวิธีหนึ่งที่ปกป้องลูกน้อยให้ห่างไกลโรคร้ายจากยุง เช่น ไข้เลือดออก ไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นต้น แต่มักมีข่าวเกี่ยวกับอันตรายที่แฝงมากับยากันยุงให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกใช้ยากันยุงให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อลูกน้อย โดยเฉพาะเด็กในวัยทารกและเด็กเล็กที่ควรได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ
ยากันยุงออกฤทธิ์อย่างไร ?
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจออกและกลิ่นที่ระเหยออกจากผิวหนังของคนจะเป็นตัวดึงดูดยุงได้ดี แต่การใช้ยากันยุงจะช่วยปิดกั้นหรือรบกวนประสาทรับรู้ของยุง เพราะประกอบด้วยสารที่ออกฤทธิ์ไล่ยุงหรือฆ่ายุง ซึ่งอาจเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ สารเคมีสังเคราะห์ หรือมีส่วนผสมของสารทั้ง 2 ชนิด โดยประสิทธิภาพในการป้องกันยุงจะแตกต่างกันไปตามชนิดและความเข้มข้นของสารที่เป็นส่วนประกอบด้วย
ส่วนประกอบในยากันยุง
ปัจจุบันยากันยุงมักเป็นชนิดทาหรือฉีดพ่นตามร่างกาย เพราะหาซื้อได้ง่าย สะดวกต่อการใช้งาน และมีอยู่หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นครีม โลชั่น หรือสเปรย์ แต่ส่วนประกอบหลักในยากันยุงแต่ละชนิดมักไม่แตกต่างกันมากนัก
โดยส่วนประกอบหลักที่มักพบในยากันยุง ได้แก่
- ดีอีอีที (DEET) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ประสิทธิภาพสูงที่นิยมใช้ป้องกันยุงกันมาอย่างยาวนาน มักผสมอยู่ในยากันยุงตั้งแต่ 4-100 เปอร์เซ็นต์ แต่สารดีอีอีทีที่มีความเข้มข้นสูงก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดการระคายเคืองทางผิวหนัง ชัก และมีอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ โดยเฉพาะในทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือนและหญิงตั้งครรภ์
- อิคาริดิน (Icaridin) หรือพิคาริดิน (Picaridin) เป็นสารสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพป้องกันยุงเทียบเท่าสารดีอีอีที แต่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่าและกลิ่นไม่แรง มักผสมอยู่ในยากันยุงตั้งแต่ 5-20 เปอร์เซ็นต์
- เพอร์เมทริน (Permethrin) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ชุบหรือฉีดพ่นตามเสื้อผ้า ไม่สามารถใช้กับผิวหนังได้โดยตรง
- เอธิล บิวทิลอะเซทิลอะมิโน โปรปิโอเนท (Ethyl Butylacetylamino Propionate: IR3535) เป็นสารสังเคราะห์ที่พบอยู่ในยากันยุงหลายชนิด
- น้ำมันตะไคร้หอม เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่มีงานวิจัยระบุว่าช่วยป้องกันยุงได้เหมือนกับสารดีอีอีทีที่มีความเข้มข้นต่ำ
- น้ำมันยูคาลิปตัส เลม่อน เป็นสารสกัดจากธรรมชาติอีกชนิดที่ช่วยป้องกันยุง แต่ควรมีความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จึงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงได้ดี
ใช้ยากันยุงอย่างไรให้ปลอดภัยกับทารกและเด็กเล็ก ?
สำหรับทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากันยุงทุกประเภทกับเด็ก โดยเฉพาะชนิดที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ เพราะอาจเสี่ยงเกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก แต่ควรป้องกันยุงกัดด้วยวิธีอื่นแทน เช่น ให้เด็กอยู่ในห้องที่มีมุ้งลวดกั้น นอนเปลที่มีมุ้งผ้า ใช้รถเข็นที่มีตาข่ายกันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด เป็นต้น
โดยทั่วไป สามารถใช้ยากันยุงกับทารกที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไปได้ แต่ไม่ควรใช้ยากันยุงที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัส เลม่อนแบบเข้มข้นกับเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ และไม่ควรใช้ยากันยุงที่มีสารดีอีอีทีที่มีความเข้มข้นเกิน 30 เปอร์เซ็นต์กับเด็กเล็กเช่นกัน ซึ่งการใช้ยากันยุงกับเด็กนั้น ผู้ปกครองควรพิจารณาจากระยะเวลาที่เด็กต้องเสี่ยงกับยุงกัดด้วย เช่น เมื่ออยู่ข้างนอกไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงก็ควรใช้ชนิดที่มีความเข้มข้นน้อย แต่ถ้าระยะเวลานานกว่านั้นก็อาจเลือกชนิดที่ผสมสารกันยุงความเข้มข้นสูงขึ้น เป็นต้น
การใช้ยากันยุงแต่ละชนิดกับทารกและเด็กเล็ก
การใช้ยากันยุงอย่างผิดวิธีอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กได้ เพราะร่างกายและผิวของเด็กมีความบอบบางมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจึงควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ วิธีใช้ และข้อควรระวังก่อนการใช้งานทุกครั้ง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันยุง และเพื่อความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งพ่อแม่ควรใช้ยากันยุงแต่ละชนิดตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
ยากันยุงรูปแบบครีม เจล สเปรย์ หรือแผ่นเช็ด
- ยากันยุงชนิดพ่นหรือทาควรใช้เฉพาะบริเวณผิวหนังส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้า ซึ่งสามารถทาหรือพ่นซ้ำได้เมื่อต้องอยู่ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัด เพราะประสิทธิภาพในการป้องกันยุงจะคงอยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมง ยกเว้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเพอร์เมทริน ซึ่งไม่ควรนำมาใช้กับผิวหนังโดยตรง
- ใช้ยากันยุงตามปริมาณที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ ไม่ควรทาหนาหรือนำมาใช้โดยไม่จำเป็น เพราะยากันยุงปริมาณมากไม่ได้ช่วยป้องกันยุงได้ดีไปกว่าปริมาณปกติ
- เด็กเล็กควรใช้ยากันยุงภายใต้การดูแลของผู้ปกครองเสมอ
- เมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างทำความสะอาดผิวของเด็กบริเวณที่ใช้ยากันยุงด้วยสบู่และน้ำสะอาด เพื่อล้างเอาสารไล่ยุงที่เคลือบผิวอยู่ออกไป สำหรับเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ควรซักให้สะอาดก่อนนำกลับมาใส่ใหม่อีกครั้ง
- หลังใช้ยากันยุงควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- ไม่ควรพ่นยากันยุงแบบสเปรย์ที่ใบหน้าของเด็กโดยตรง แต่ให้ฉีดใส่มือในปริมาณเล็กน้อยก่อนนำไปทาบริเวณหน้า หรือทาตามส่วนอื่นของร่างกาย โดยต้องไม่ทายากันยุงบริเวณรอบดวงตาหรืิอปากของเด็ก
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากันยุงกับบริเวณที่มีบาดแผล ผิวหนังฉีกขาด หรือเกิดการระคายเคือง
- ไม่ควรใช้ยากันยุงที่ผสมดีอีอีทีร่วมกับการใช้ครีมกันแดดเพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดลดลง และเสี่ยงต่อการได้รับสารดีอีอีทีมากขึ้นจากการทาครีมกันแดดซ้ำ ในกรณีที่จำเป็นควรทาครีมกันแดดก่อนเป็นอันดับแรก
ยากันยุงชนิดแผ่นหรือของเหลวที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้า
วิธีนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เพิ่มความสะดวกในการป้องกันยุง ผลิตภัณฑ์นี้จะออกฤทธิ์ได้นานกว่ายากันยุงชนิดพ่นหรือทา ไม่มีควันรบกวน และใช้งานง่ายเพียงแค่เสียบทิ้งไว้ในห้องที่ไม่มีคนอยู่สักช่วงเวลาหนึ่งตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์ โดยระมัดระวังให้ตำแหน่งที่เสียบยากันยุงไฟฟ้าอยู่สูงกว่าระดับที่เด็กจะเอื้อมถึง และผู้ปกครองควรทิ้งระยะเวลาก่อนนำเด็กเข้าไปในห้องหรือพื้นที่บริเวณนั้น ซึ่งอาจเปิดหน้าต่างและประตูเพื่อระบายอากาศในห้องออกและลดความเสี่ยงในการได้รับสารไล่ยุง เนื่องจากยากันยุงประเภทนี้มักมีส่วนประกอบของสารเคมีที่ไม่ปลอดภัยต่อการสูดดม จึงอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา เกิดอาการแพ้ หรือมีปัญหาในการหายใจตามมาได้
ยาจุดกันยุง
ยากันยุงประเภทนี้จะระเหยสารออกฤทธิ์ขับไล่ยุงหรือฆ่ายุงเมื่อถูกจุดจนติดไฟ การใช้งานจึงควรจุดในที่โล่งแจ้ง มีพื้นที่กว้าง และห่างไกลจากคน โดยเฉพาะเด็กเล็กและทารก เพราะการสูดดมสารไล่ยุงที่ระเหยออกมาเป็นเวลานานสามารถสร้างความระคายเคืองแก่ระบบทางเดินหายใจและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ผู้ปกครองจึงควรเก็บให้ห่างไกลจากมือเด็ก เพื่อไม่ให้เด็กสัมผัสโดนสารเคมีแล้วนำเข้าสู่ร่างกาย