ยากันยุงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันยุงกัด หากอาศัยอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นที่เหมาะแก่การเพาะพันธุ์ของยุงและเสี่ยงเกิดโรคที่มียุงเป็นพาหะหลายชนิด ทว่าสารเคมีสังเคราะห์หรือแม้แต่สารสกัดจากธรรมชาติที่เป็นส่วนประกอบในยากันยุงนั้น นอกจากไม่เป็นมิตรกับยุงแล้ว อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้ได้เช่นกัน การเลือกซื้อยากันยุงให้เหมาะสมกับการใช้และศึกษาวิธีใช้อย่างถูกต้องจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ
ยากันยุงช่วยป้องกันยุงได้อย่างไร
โดยปกติ ยากันยุงไม่มีคุณสมบัติในการฆ่ายุง แต่สารเคมีหรือสารสกัดจากธรรมชาติอันเป็นส่วนประกอบของยากันยุงนั้นออกฤทธิ์ทำให้ยุงไม่สามารถกัดคนได้ สารป้องกันยุงที่ใช้ในยากันยุงแต่ละรูปแบบอาจมีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ดังนี้
- ยากันยุงที่มีส่วนผสมของดีอีอีที (DEET) เอทิลบิวทิลอเซติลามิโนโพรพิโนเอต (IR3535) พิคาดิริน (Picaridin) หรือสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันตะไคร้ ออกฤทธิ์โดยไปรบกวนกลไกการรับรู้กลิ่นของยุง ทำให้ยุงไม่ได้กลิ่นสารบางชนิดในร่างกายของคนเราที่เป็นตัวกระตุ้นให้ยุงบินเข้ามาเกาะและดูดเลือด มักพบในยากันยุงชนิดครีม โลชั่น หรือสเปรย์
- ยากันยุงที่มีส่วนผสมของสารในกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethroids) เช่น แอลเลอทริน (Allethrin) ออกฤทธิ์โดยไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทของยุง ทำให้ยุงเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว มักพบในยาจุดกันยุง ซึ่งสารดังกล่าวจะถูกปล่อยออกมาในรูปของควัน
ข้อควรรู้ก่อนเลือกใช้ยากันยุง
ยากันยุงที่จำหน่ายตามท้องตลาดนั้นมีหลายประเภทให้เลือกซื้อ ผู้ใช้ควรประเมินข้อดีข้อเสีย ประสิทธิภาพในการป้องกันยุง และผลข้างเคียงของยากันยุงแต่ละประเภท เพื่อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด อีกทั้งควรใช้ยากันยุงอย่างถูกวิธีเพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนในครอบครัว สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับยากันยุงแต่ละประเภท มีดังนี้
ยาทากันยุง คือสารป้องกันยุงในรูปของครีม โลชั่น และสเปรย์สำหรับทาหรือฉีดพ่นตามร่างกาย ช่วยป้องกันยุงเกาะผิวหนังและดูดเลือด มักมีสารเคมีจำพวกดีอีอีที เอทิลบิวทิลอเซติลามิโนโพรพิโนเอต หรือพิคาดิรินเป็นองค์ประกอบหลัก บางผลิตภัณฑ์อาจมีส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติหรือใช้สารสกัดจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงแตกต่างกันไปตามชนิดและความเข้มข้นของสารที่เป็นส่วนประกอบ
ผลิตภัณฑ์ทากันยุงจากสารเคมีสังเคราะห์อาจช่วยป้องกันยุงได้นาน 2-5 ชั่วโมง และจำเป็นต้องทาซ้ำหากต้องการประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนผลิตภัณฑ์จากสารสกัดธรรมชาติ เช่น น้ำมันตะไคร้หอม น้ำมันแมงลัก น้ำมันแมงกะแซง อาจป้องกันยุงได้ในระยะเวลาสั้นกว่า อย่างไรก็ตาม ยากันยุงชนิดนี้ใช้ทาบนผิวหนังโดยตรง จึงอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหรือมีอาการแพ้ได้ หากเกิดผื่นแดง รู้สึกคัน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ หลังทา ควรหยุดใช้และรีบไปพบแพทย์ทันที คำแนะนำในการเลือกซื้อและการใช้ยากันยุงชนิดทา มีดังนี้
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามฉลากแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัด
- ไม่ควรใช้ยาทากันยุงที่มีส่วนผสมของดีอีอีที เอทิลบิวทิลอเซติลามิโนโพรพิโนเอตหรือพิคาดิริน มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะความเข้มข้นของสารเคมีในระดับดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงมากขึ้นและอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้
- ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ทายากันยุง
- ควรคอยเฝ้าดูขณะเด็กใช้ยาทากันยุง และหลีกเลี่ยงการทายากันยุงบริเวณมือเด็ก เพราะเสี่ยงต่อการนำนิ้วเข้าปากหรือขยี้ตา
- ไม่ควรทายากันยุงบริเวณที่เป็นแผลหรือเป็นผื่น
- ไม่ควรใช้สเปรย์กันยุงฉีดใบหน้าโดยตรง ควรฉีดพ่นลงบนฝ่ามือก่อนนำมาทาบนใบหน้า หลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบดวงตาและริมฝีปาก
- ฉีดพ่นสเปรย์กันยุงในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้สารเคมีระเหยออกไปได้ง่าย ป้องกันการสูดดม
- ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรผสมระหว่างครีมกันแดดและยาทากันยุง เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกันจนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งการทายากันยุงซ้ำบ่อย ๆ อาจทำให้ได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากเกินไป
ยาจุดกันยุง มีทั้งชนิดแท่งและชนิดขดกลม ส่วนใหญ่มีสารในกลุ่มไพรีทอยด์เป็นองค์ประกอบหลักซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาต ทว่าบางผลิตภัณฑ์อาจเป็นสูตรผสมระหว่างสารเคมีกับสารสกัดจากธรรมชาติหรือใช้สารสกัดจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ การสูดดมควันของยาจุดกันยุงอาจทำให้เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ไอ หรือรู้สึกเจ็บคอ และหากสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไป ทว่าโดยทั่วไปพบผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากสารชนิดนี้น้อยมาก
วิธีเลือกซื้อและใช้ยาจุดกันยุงอย่างถูกต้อง มีดังนี้
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามฉลากอย่างเคร่งครัด
- ไม่ควรใช้ยาจุดกันยุงในสถานที่ปิด เช่น ภายในบ้านหรือห้องพัก ควรจุดยาไว้นอกประตูหรือนอกหน้าต่างเพื่อป้องกันยุงเข้ามาภายในห้อง
- วางยาจุดกันยุงที่จุดไฟแล้วไว้บนจานหรือแท่นเสียบโลหะ ให้ห่างจากมือเด็กและสิ่งของที่ติดไฟง่าย
- ล้างมือหลังจากสัมผัสผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงทุกครั้ง
ยากันยุงชนิดใช้ไฟฟ้า มีทั้งชนิดที่เป็นของเหลวและแผ่นแมท ส่วนใหญ่ใช้สารเคมีเป็นส่วนประกอบหลัก ทว่าบางผลิตภัณฑ์อาจมีส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติหรือใช้สารสกัดจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว มีกลไกการทำงานโดยใช้ไฟฟ้าทำให้ของเหลวหรือแผ่นแมทกลายเป็นไอที่มีฤทธิ์ป้องกันยุงจากบริเวณดังกล่าว ยากันยุงชนิดนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดอาการแพ้หรือรู้สึกระคายเคืองตา มีคำแนะนำในการเลือกซื้อและการใช้ ดังนี้
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามฉลากอย่างเคร่งครัด
- เสียบยากันยุงชนิดใช้ไฟฟ้าให้ห่างจากเด็ก
- ไม่ควรอยู่ภายในห้องที่เสียบยากันยุงชนิดใช้ไฟฟ้าไว้ หากต้องการไล่ยุง ให้เสียบยากันยุงชนิดนี้ทิ้งไว้สักพักและดึงออกเมื่อต้องการใช้ห้อง
ใช้ยากันยุงเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ
การใช้ยากันยุงเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันยุงกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันยุง ควรใช้วิธีอื่น ๆ ควบคู่กับไปด้วย ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มียุงชุม เช่น แหล่งน้ำขัง ห้องมืดทึบ เป็นต้น
- ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิทเพื่อป้องกันยุงเข้ามาภายในที่พักอาศัย
- สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่มีสีอ่อน ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่มีสีทึบหรือฉูดฉาดจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมหรือสเปรย์ฉีดผม เพราะอาจมีกลิ่นที่ดึงดูดยุงให้บินเข้ามาใกล้
ทั้งนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ไม่ควรใช้ยาทากันยุง เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง พ่อแม่ควรให้ลูกน้อยสวมชุดแบบชิ้นเดียวที่ปกปิดได้ทั้งตัวและเลือกชุดที่ไม่รัดแน่นเกินไป เนื่องจากยุงอาจกัดทะลุเสื้อผ้าที่แนบชิดกับผิวได้ รวมทั้งให้เด็กสวมถุงมือ ถุงเท้า และกางมุ้งในระหว่างที่เด็กนอนหลับ