ยาคุมเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับป้องกันการตั้งครรภ์ แต่หลายคนอาจใช้ยาคุมเพื่อจุดประสงค์อื่น เพราะเชื่อว่ายาคุมอาจช่วยรักษาสิว บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด บางคนอาจพบว่ายาคุมมีผลข้างเคียงทำให้อารมณ์แปรปรวน หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยสรรพคุณต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นความจริงที่เชื่อถือได้ หรือเป็นเพียงความเชื่อที่คนนิยมใช้แล้วบอกต่อกันมา สามารถศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้
ยาคุมป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จริงหรือ ?
ประสิทธิภาพของยาคุมทั้งชนิดฮอร์โมนรวม ฮอร์โมนเดี่ยว และยาคุมฉุกเฉิน ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุถึงประสิทธิภาพของยาคุมว่า หากรับประทานยาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวอาจช่วยป้องกันได้มากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ส่วนยาคุมฉุกเฉิน ควรรับประทานยาให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุดเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ หากรับประทานยาอย่างถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
ยาคุมอาจช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน และช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ
อาการปวดประจำเดือนเป็นอาการป่วยที่ผู้หญิงบางคนต้องเผชิญในวันนั้นของเดือน โดยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็ง หรือปวดศีรษะร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุมาจากฮอร์โมนโพรสตาแกลนดินที่ร่างกายผลิตขึ้นมามากเกินไป ทั้งนี้ การรับประทานยาคุมฮอร์โมนรวมชนิดฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ อาจช่วยลดการผลิตฮอร์โมนโพรสตาแกลนดิน ลดการไหลเวียนเลือดในมดลูก และยับยั้งการตกไข่ จนทำให้อาการปวดประจำเดือนบรรเทาลงได้
นอกจากนี้ การรับประทานยาคุมอาจช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ หรือมีรอบเดือนทุก ๆ 28 วัน และยังทำให้ผนังมดลูกบาง ส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยลงด้วย
ยาคุมกับการรักษาสิว
ยาคุมฮอร์โมนรวมบางชนิด อาจช่วยลดปัญหาสิวในผู้ใช้บางรายได้ เพราะยาคุมจะช่วยลดระดับฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำมันบนใบหน้า น้ำมันเหล่านี้อาจรวมกับเซลล์ที่ตายแล้วและอุดตันตามรูขุมขนจนทำให้เกิดสิวขึ้น จากการศึกษาวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมว่ามีส่วนช่วยลดการอักเสบและความรุนแรงของสิว ทั้งยังทำให้เกิดสิวน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีส่วนผสมของโปรเจสตินเพียงอย่างเดียวกลับทำให้สิวมีอาการแย่ลงได้
ยาคุมอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
การใช้ยาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนปริมาณมาก อาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการอยากอาหารและเกิดภาวะคั่งน้ำ ซึ่งเป็นเหตุให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น แต่โดยทั่วไป ยาคุมในปัจจุบันถูกปรับให้มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง ซึ่งช่วยลดปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ยาคุมแต่ละชนิดอาจมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่างกัน หลังใช้ยาคุม ผู้ใช้บางรายอาจพบว่ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเฉพาะช่วงแรกของการเริ่มรับประทานยา แต่อาการนี้เป็นเพียงผลข้างเคียงแบบชั่วคราว และมักจะดีขึ้นหลังผ่านไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยาคุม
ยาคุมทำให้ซึมเศร้าจริงหรือ ?
ผู้หญิงหลายคนอาจพบอาการซึมเศร้าในช่วงที่รับประทานยาคุม และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงบางส่วนหยุดใช้ยาคุม แต่การศึกษาหนึ่งชี้ว่า อารมณ์ซึมเศร้าไม่ใช่ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปหลังรับประทานยาคุม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพและส่งผลกระทบต่อร่างกายน้อยที่สุด
ยาคุมอาจทำให้เกิดเนื้องอกในเต้านม
การเริ่มใช้ยาคุมตั้งแต่อายุยังน้อย อาจเสี่ยงเกิดเนื้องอกในเต้านมชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งได้ โดยเนื้องอกดังกล่าวมักมีลักษณะเป็นก้อนกลม ขนาดแตกต่างกันออกไป และสามารถเคลื่อนตัวใต้ผิวหนังได้ อย่างไรก็ตาม เนื้องอกในเต้านมอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเต้านม พันธุกรรม การติดเชื้อ หรือการบาดเจ็บต่าง ๆ หากคลำพบก้อนเนื้อในเต้านม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
ยาคุมทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหรือไม่ ?
ยาคุมที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน อาจเพิ่มแนวโน้มให้เกิดมะเร็งได้ การศึกษาวิจัยหนึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า การรับประทานยาคุมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้เล็กน้อย และอาจสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูก ในทางกลับกัน อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่า การรับประทานยาคุมอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งรังไข่ได้ ดังนั้น ความเสี่ยงจากการใช้ยาคุมจึงยังเป็นหัวข้อที่ควรศึกษาเพิ่มเติมต่อไป และหากผู้ใช้กังวลว่ายาคุมที่ใช้อยู่อาจเป็นเหตุหรือเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัย
แม้ยาคุมจะมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ และอาจส่งผลที่น่าพอใจในด้านอื่น ๆ กับผู้ใช้ส่วนใหญ่ เช่น รักษาสิว บรรเทาอาการปวดประจำเดือน หรือช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ แต่ยาคุมก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามใช้ยาคุมในกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้
- หญิงที่ยังไม่เข้าสู่วัยรุ่น
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์
- ผู้ที่อายุเกิน 35 ปี และผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่เป็นไมเกรน
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
- ผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม
- ผู้ที่เป็นโรคตับ
- ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยหาสาเหตุไม่ได้
- ผู้ที่เคยเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ