ยาต้านเศร้า

ยาต้านเศร้า

ยาต้านเศร้า (Antidepressant) คือ กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองอย่างเซราโทนินและนอร์อะดรีนาลีนให้สมดุล ทั้งยังอาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล และโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) เป็นต้น นอกจากนี้ สารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงอาจไปรบกวนการส่งสัญญาณของสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แพทย์จึงอาจใช้ยาต้านเศร้าเพื่อรักษาอาการปวดในระยะยาวด้วยเช่นกัน

ในบางครั้งยาต้านเศร้าอาจรักษาได้เพียงอาการที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถรักษาที่สาเหตุโดยตรงได้ จึงมักใช้ยาประเภทนี้ควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างจิตบำบัด โดยแบ่งตามโครงสร้างทางเคมีและวิธีการออกฤทธิ์ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRI) กลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic) และกลุ่มเอ็มเอโอไอ (MAOI) ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ยากลุ่มเอ็มเอโอไอน้อยลง เพราะยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ จึงควรใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

1912 ยาต้านเศร้า rs

ตัวอย่างยาต้านเศร้า

  • ฟลูออกซิทีน คือ ยาในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ ใช้รักษาอาการจากโรคซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคบูลิเมีย และกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน
  • เซอร์ทราลีน คือ ยาในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ ใช้รักษาอาการจากโรคซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก และโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง
  • อะมิทริปไทลีน คือ ยาในกลุ่มไตรไซคลิก ใช้รักษาอาการจากโรคซึมเศร้าและโรคปลายประสาทอักเสบ
  • นอร์ทริปไทลีน คือ ยาในกลุ่มไตรไซคลิก ใช้รักษาอาการจากโรคซึมเศร้าและอาการปัสสาวะรดที่นอน
  • เซเลกิลีน คือ ยาในกลุ่มเอ็มเอโอไอ ใช้รักษาอาการจากโรคซึมเศร้า และอาการเคลื่อนไหวผิดปกติจากโรคพาร์กินสัน
  • ไอโซคาร์บอกซาซิด คือ ยาในกลุ่มเอ็มเอโอไอ ใช้รักษาอาการจากโรคซึมเศร้า มักใช้ในกรณีที่ยาตัวอื่นใช้ไม่ได้ผล

คำเตือนในการใช้ยาต้านเศร้า

  • ผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยาชนิดนี้ ไม่ควรใช้ยาประเภทนี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาชนิดอื่น สมุนไพร และอาหารเสริมที่ใช้อยู่
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ควรใช้ยาตามที่แพทย์กำหนด ไม่ใช้ยาหรือหยุดยาด้วยตนเองแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ไม่ควรใช้ยาต้านเศร้า 2 กลุ่มพร้อมกัน เว้นแต่เป็นคำแนะนำของแพทย์
  • หากผู้ป่วยเป็นเด็ก บางกรณีอาจมีผลให้ผู้ป่วยทำร้ายตัวเองหรือคิดฆ่าตัวตายได้ แต่ก็พบได้น้อย
  • ไม่ควรขับรถหรือควบคุมเครื่องจักรในขณะที่ใช้ยา เพราะยาอาจมีผลทำให้ง่วงนอนหรือเห็นภาพเบลอได้
  • ยาต้านเศร้าอาจทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง
  • ไม่ควรใช้ยาร่วมกับผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นใช้ยานี้
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และไม่ใช้ยาเสพติดในระหว่างที่ใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจเพิ่มความเครียดให้ตนเองในระหว่างที่ใช้ยา
  • หากใช้ยาครบ 1 เดือน แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรใช้ยา เว้นแต่เป็นคำแนะนำของแพทย์
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือไทรอยด์มีปัญหา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • สตรีมีครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรใช้ยานี้ เว้นแต่เป็นคำแนะนำของแพทย์

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านเศร้า

ส่วนประกอบในยาต้านเศร้าแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป แม้จะช่วยรักษาโรคซึมเศร้าหรือโรคอื่น ๆ ได้ แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในหลายรูปแบบ ดังนั้น ก่อนใช้ยาควรอ่านคำแนะนำในเอกสารกำกับยาให้เข้าใจ หรือหากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • ปากแห้ง
  • อ่อนเพลีย
  • ง่วงนอน
  • เวียนศีรษะ
  • หงุดหงิดง่าย
  • กระวนกระวาย
  • เห็นภาพเบลอ
  • นอนไม่หลับ
  • ท้องผูก
  • ปัสสาวะลำบาก
  • สมรรถภาพทางเพศลดลง