ยาทาแก้ปวดเมื่อย การออกฤทธิ์และวิธีเลือกใช้

ยาทาแก้ปวดเมื่อยสามารถหาซื้อได้ทั่วไป มีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ทั้งแบบครีม เจล โลชั่น สเปรย์ และแบบแผ่นแปะ ถือเป็นตัวช่วยที่สะดวกในการรับมือกับอาการปวดเมื่อย ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากอาการเคล็ดขัดยอกทั่วไป การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา และอาการจากโรคข้ออักเสบต่าง ๆ 

ยาทาแก้ปวดเมื่อยแต่ละชนิดและแต่ละยี่ห้อจะมีส่วนผสมและการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันไป การเลือกยาทาแก้ปวดเมื่อยให้เหมาะสมกับอาการจะช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและฟื้นฟูอาการบาดเจ็บได้อย่างตรงจุด

Topical Pain Relief

การออกฤทธิ์ของยาทาแก้ปวดเมื่อย

การทำงานของยาทาแก้ปวดเมื่อยอาจแบ่งออกได้ 3 รูปแบบ คือ

1. บรรเทาอาการปวดบวม

ยาทาแก้ปวดเมื่อยแต่ละชนิดมีสารออกฤทธิ์และตัวยาที่ต่างกัน ซึ่งตัวยาที่ออกฤทธิ์แก้ปวดที่พบได้ในยาทาแก้ปวดเมื่อยจะเป็นกลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAID) เช่น ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ยาไพร็อกซิแคม (Piroxicam) รวมถึงยากลุ่มซาลิไซเลต (Salicylates) เมื่อทายาไปแล้ว ยาจะซึมผ่านผิวหนังและไปออกฤทธิ์ต้านการอักเสบและขยายหลอดเลือดเพื่อลดอาการปวดบวม

2. บรรเทาความรู้สึกปวด

ยาทาแก้ปวดเมื่อยชนิดนี้ไม่ได้ออกฤทธิ์ต้านอาการปวดโดยตรง แต่เป็นการปรับการรับรู้ของผิวหนัง จึงช่วยให้รู้สึกถึงอาการปวดได้น้อยลง หลายคนอาจเคยทายาแก้ปวดเมื่อยแล้วรู้สึกเย็นหรือร้อนตามผิวหนัง นั่นเป็นผลมาจากฤทธิ์ของสารเหล่านี้ โดยสารที่ให้ฤทธิ์เย็นที่มักพบ ได้แก่ เมนทอลและการบูร ส่วนสารที่ให้ฤทธิ์ร้อนและปรับเปลี่ยนการทำงานของเส้นประสาท อย่างเช่นสารแคปไซซิน (Capsaicin) 

3. ทำให้เกิดอาการชา (Numb)

ยาทาแก้ปวดเมื่อยบางยี่ห้อมีส่วนผสมของยาชา อย่างลิโดเคน (Lidocaine) เพื่อระงับอาการปวด เนื่องจากยาชาจะลดการรับรู้ของผิวหนังและกล้ามเนื้อส่วนที่ทายา โดยยาทาแก้ปวดเมื่อยมักมีส่วนประกอบที่ต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ ซึ่งในหนึ่งผลิตภัณฑ์อาจมีสารออกฤทธิ์หลายตัวผสมกัน

เลือกยาทาแก้ปวดเมื่อยอย่างไรดี?

วิธีเบื้องต้นในการเลือกยาทาแก้ปวดเมื่อยให้เหมาะสมกับอาการ สามารถใช้ระยะเวลาหลังบาดเจ็บเป็นตัวกำหนดในการเลือกใช้ยาทาแต่ละประเภทได้ ดังนี้

  • ยาทาแก้ปวดเมื่อยที่ให้ความรู้สึกเย็น เหมาะสำหรับอาการบาดเจ็บหรืออาการปวดที่เกิดขึ้นไม่เกิน 48 ชั่วโมงหรือภายหลังการบาดเจ็บทันที เช่น การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย หรือการบาดเจ็บทั่วไปในชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย โดยฤทธิ์เย็นจะเข้าไปช่วยลดการไหลเวียนของเลือดที่ทำให้เกิดอาการบวม
  • ยาทาแก้ปวดเมื่อยที่ให้ความรู้สึกร้อน เหมาะสำหรับอาการบาดเจ็บและอาการปวดที่เกิดขึ้นในช่วง 48‒72 ชั่วโมงหลังการบาดเจ็บ โดยนอกจากจะช่วยบรรเทาปวดแล้ว ฤทธิ์ร้อนยังกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ซึ่งลดอาการบวมและช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีขึ้น

สำหรับรูปแบบของยาทาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมและความสะดวก เช่น การใช้แผ่นแปะแก้ปวดเมื่อยสำหรับอวัยวะส่วนที่สามารถแปะแผ่นยาได้ ส่วนยาในรูปแบบครีมหรือเจลสามารถใช้นวดหรือทาบริเวณที่ไม่เหมาะกับการใช้แผ่นแปะ อย่างหัวเข่า ข้อศอก และข้อต่อต่าง ๆ 

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคผิวหนัง โรคตับ ภาวะเลือดออกผิดปกติ หรืออยู่ระหว่างการใช้ยาอื่น นอกจากนี้ ควรใช้ยาตามฉลากและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ หลีกเลี่ยงการทายาลงบนผิวหนังที่เป็นผื่นหรือมีแผล หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาแก้ปวดหลายชนิดพร้อมกัน เพราะอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียง ล้างมือทุกครั้งหลังใช้ยา และควรดูแลตนเองด้วยการพักการใช้งานอวัยวะที่บาดเจ็บหรือปวดเมื่อย

อาการปวดและการบาดเจ็บบางรูปแบบอาจมีวิธีเลือกยาทาแก้ปวดและวิธีรักษาที่ต่างกันออกไป หากเกิดอาการบาดเจ็บและอาการปวดที่รุนแรง เกิดอาการบวม เลือดออก ขยับอวัยวะที่บาดเจ็บไม่ได้ ควรไปพบแพทย์ทันที หรือหากพบอาการไม่รุนแรง แต่เป็นเรื้อรัง ใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือพบความผิดปกติหลังใช้ยา ควรไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน