ยาลดกรดกับประโยชน์ในการรักษากรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนเป็นความผิดปกติสามารถที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ละคนจะมีอาการและความรุนแรงของโรคนี้ที่แตกต่างกันออกไป ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถใช้ยาลดกรดเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากกรดไหลย้อนได้ แต่สิ่งสำคัญควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรูปแบบในการกินอาหารร่วมด้วย

ยาลดกรด (Antacids) มักจะใช้เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากความผิดปกติของกรดในกระเพาะอาหาร หรือใช้บรรเทาอาการในผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารหรืออาการแสบร้อนกลางอกเป็นระยะสั้น ๆ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วการใช้ยาลดกรดจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่หากใช้อย่างผิดวิธีก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

Men,Pouring,Drugs,Or,Antacids,In,Their,Hands,Because,Of

ข้อมูลน่ารู้ก่อนใช้ยาลดกรด

ยาลดกรดเป็นกลุ่มยาที่จะช่วยสร้างความสมดุลให้กับกรดในกระเพาะอาหาร โดยยาลดกรดส่วนใหญ่มักจะมีส่วนประกอบของแมกนีเซียม อะลูมิเนียม แคลเซียม หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) ซึ่งสารเหล่านี้จะยับยั่งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารและช่วยปรับสภาพกรดในกระเพาะอาหารให้มีความเป็นกรดน้อยลง อีกทั้งยาลดกรดบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาหรือสารอื่นหลายตัวรวมกัน ทำให้มีฤทธิ์บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย แผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบหรืออาการแสบร้อนกลางอกได้เช่นเดียวกัน

ยาลดกรดสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป โดยแยกออกหลายประเภทขึ้นอยู่กับส่วนประกอบหลักในตัวยาที่แตกต่างกัน  มีหลายรูปแบบ อาทิ รูปแบบยาน้ำ ยาเม็ดสำหรับเคี้ยว หรือยาเม็ดละลายน้ำ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการกินยาชนิดอื่น ๆ พร้อมยาลดกรด เนื่องจากยาลดกรดอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาได้น้อยลง รวมทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีและผู้ป่วยโรคเลือดออกในทางเดินอาหาร โรคตับ โรคไตหรือโรคหัวใจไม่ควรกินยาลดกรดที่มีส่วนผสมบางชนิด หากต้องการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย

ทำไมยาลดกรดจึงบรรเทากรดไหลย้อนได้ ?

ยาลดกรดจะช่วยปรับสภาพกรดในกระเพาะอาหารให้มีความเป็นกรดน้อยลง ทำให้อาการแสบร้อนกลางอก ท้องเสีย กรดไหลย้อนหรืออาการแสบท้องลดลง สามารถใช้ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของกรดไหลย้อนไม่รุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งยาลดกรดบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาขับลมซึ่งจะช่วยขับแก๊สออกจากร่างกายได้เช่นกัน

โดยทั่วไป ยาลดกรดจะแบ่งออกได้ 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุ อย่างยาลดกรดผสมแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) แมกนีเซียม ไตรซิลิเกต (Magnesium Trisilicate) โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) หรืออะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) ซึ่งยาลดกรดรูปแบบนี้จะออกฤทธิ์ในการปรับสภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหารให้เป็นกลางและช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนยาลดกรดอีกรูปแบบ คือ ยาที่มีฤทธิ์ปิดกั้นตัวรับฮีสตามีนชนิด H2 (H2 Blockers) ที่จะช่วยลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์นานและสามารถใช้เพื่อป้องกันการเกิดอาการกรดไหลย้อนได้ โดยตัวอย่างของยารูปแบบนี้ได้แก่ ยายับยั้งการหลั่งกรดกลุ่ม PPIs (Proton Pump Inhibitors: PPIs) ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) หรือยาแรนิทิดีน (Ranitidine)

อย่างไรก็ตามยาลดกรดไม่สามารถรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ แต่มีฤทธิ์เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการใช้ยาลดกรดที่ผิดวิธีอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงและความเสี่ยงจากการใช้ยาลดกรด

โดยทั่วไปแล้ว ยาลดกรดจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายหากผู้ป่วยกินยาในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาชนิดนี้หากเป็นผู้ป่วยโรคไต โรคตับ อยู่ระหว่างการรักษาโรคไทรอยด์หรือเป็นผู้ที่กินอาหารที่มีโซเดียมต่ำ

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้นอาจมีสาเหตุมาจากส่วนผสมที่แตกต่างกันออกไปในยาลดกรดแต่ละรูปแบบ โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ เรอแน่น มีลมในกระเพาะอาหาร ท้องผูก ท้องเสีย มือ เข่าและเท้าบวม และอาจทำให้ร่างกายสะสมแร่ธาตุแมกนีเซียมมากเกินไปที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรมได้ ทั้งนี้ หากมีการใช้ยาลดกรดติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์และอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

นอกจากการใช้ยาลดกรดแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้แก่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการกินอาหารในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละมื้อหรือแบ่งเป็นหลายมื้อเล็ก ๆ กินอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรกินมากจนเกินไป ไม่ควรเข้านอน ยกของหนักหรือออกกำลังกายทันทีหลังกินอาหาร เว้นช่วงก่อนนอนเป็นเวลา 3 ชั่วโมงเพื่อให้กระเพาะย่อยอาหาร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด อย่างอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหารรสจัด ไม่สูบบุหรี่